ในบรรดาบริษัทสายเทคโนโลยี Blockchain ทั้งหมด บริษัท Ripple เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับการจับตามองมากที่สุด ด้วยการที่ขนาดตลาดของเหรียญ XRP ซึ่งเป็นเหรียญบน Ripple Protocol มีขนาดใหญ่เป็นลำดับ 3 ของตลาดเหรียญ Cryptocurrency ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะพูดถึงในบทความนี้ไม่ใช่เรื่องของเหรียญ XRP แต่เป็นเรื่องของบริษัท Ripple ว่าเป็นบริษัทที่น่าสนใจตรงไหน
บริษัท Ripple คือบริษัทที่สร้างและพัฒนา Ripple Payment Protocol เพื่อใช้ในการโอนเงินไปมาระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการโอนเงินนั้นจะเป็นไปแบบ Real Time Gross Settlement โดยจะมีเหรียญ XRP อยู่ภายใน Ripple Payment Protocol สำหรับสร้างสภาพคล่อง ให้การทำงานของระบบเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ คู่แข่งโดยตรงของบริษัท Ripple คือ Swift Payment นั่นเอง
Brad Garlinghouse CEO ของบริษัท Ripple กล่าวว่า เขาเชื่อว่ากลยุทธ์ที่จะสร้างบริษัทให้ประสบความสำเร็จคือการเลือกแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จอย่างถึงแก่น แล้วค่อยขยายขอบเขตไปยังเรื่องอื่นๆ ต่อไป ซึ่งบริษัท Ripple เลือกที่จะแก้ปัญหาเรื่องการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาให้สถาบันการเงิน การธนาคาร รวมทั้งภาคธุรกิจที่ทำธุรกิจระดับโลก (Globalization)
Ripple เห็นปัญหาของการโอนเงินระหว่างประเทศว่ามีความล่าช้าและมีต้นทุนสูง ในยุคนี้ที่การเดินทางของข้อมูลสามารถเดินทางได้รวดเร็วภายในเวลาเสี้ยววินาที แต่การเคลื่อนย้ายเงินกลับมีความยากลำบากและแพงอย่างไม่สมควรจะเป็น Ripple ต้องการสร้าง Internet of Value ซึ่งหมายความถึงความสามารถในการเคลื่อนย้ายสิ่งที่มีคุณค่า/มูลค่า (Value) จากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งแบบทันทีทันใด ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายเงิน หุ้น พันธบัตร โฉนดที่ดิน ทรัพย์สินทางปัญญา และอื่นๆ อีกมากมาย
เทคโนโลยี Blockchain เป็นหัวใจของการพัฒนา Ripple Transaction Protocol หรือ Ripple Protocol มันถูกสร้างขึ้นบน Distributed Ledger ที่พัฒนาโดยความร่วมมือของทีม Ripple และ World Wide Web Consortium (W3C หรือ WWW) ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Interledger
Interledger ถูกพัฒนาเพื่อสร้างเส้นทางระหว่าง Ledger หรือ Network ต่างๆ ทำให้เกิดการส่งผ่านข้อมูลระหว่างเครือข่ายได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว ทั้งนี้ Interledger เป็น Open Source ที่ทุกคนสามารถเข้าไปตรวจสอบเส้นทางการทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างโปร่งใส
Ripplenet
Ripplenet คือกลุ่มเครือข่ายสถาบันทางการเงิน การธนาคาร รวมทั้งผู้ให้บริการทางการเงินที่ใช้บริการเทคโนโลยีทางการเงินของ Ripple Ripplenet เป็น Global Payment Network ที่เป็น Decentralized Network ซึ่งหมายความว่าแต่ละสถาบันบนเครือข่ายนี้ต่างมีความเป็นอิสระต่อกัน แต่อย่างไรก็ตาม ต้องอยู่บนกฏกติกาพื้นฐานที่ถูกออกแบบไว้ระหว่าง Ripple และผู้เข้าร่วมบนเครือข่าย ปัจจุบัน เครือข่ายนี้ได้เจริญเติบโตไปตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งมีบริษัทและสถาบันทางการเงินการธนาคารเข้าร่วมแล้วกว่า 70 ราย
Ripple Solution
1. xCurrent - เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ xCurrent เป็น Real Time Gross Settlement บนเครือข่าย Ripplenet เนื่องจากระบบทำให้ข้อมูลการเคลื่อนย้ายเงินนั้นถูกส่งหากันได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ผ่านตัวกลาง ผลคือ จากระบบเดิมที่เคยใช้เวลา 3-5 วันเพื่อทำธุรกรรมให้เสร็จสิ้น แต่ xCurrent สามารถลดระยะเวลาเหลือเพียงหน่วยเป็นนาที อีกทั้งต้นทุนการทำธุรกรรมยังลดลงไปกว่า 60% อีกด้วย
2. xRapid - ผลิตภัณฑ์นี้มีไว้เพื่อการแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องระหว่างคู่เงินสกุลต่างๆ ในระบบ Swift Payment ธนาคารต้องมีการวางเงินสำรองไว้ในธนาคารพันธมิตรในสกุลเงินประเทศต่างๆ การโอนเงินระหว่างประเทศนั้นไม่ได้หมายความว่าเงินมีการเคลื่อนย้ายจริง แต่มันคือการส่งข้อความจากธนาคารหนึ่งไปอีกธนาคารหนึ่งให้มีการปรับปรุงตัวเลขอิเล็กทรอนิคทางบัญชี ระหว่างสองธนาคารให้ถูกต้องตามข้อมูลการเคลื่อนย้ายเงินที่เกิดขึ้น เฉพาะเงินที่ธนาคารต้องวางไว้ในบัญชีสกุลเงินต่างๆ ทั่วโลกรวมกันนั้น มีจำนวนถึงประมาณ 20 ล้านล้านดอลลาร์ (Trillion) และหากธนาคารไม่วางเงินในเงินสกุลใดๆ นั่นหมายถึงความยุ่งยากที่มากขึ้นในยามที่ลูกค้าต้องการโอนเงินไปยังธนาคารสกุลเงินนั้นๆ ส่งผลให้ใช้เวลามากขึ้น และเสียค่าธรรมเนียมเพื่อผ่านตัวกลางมากขึ้นไปอีก
ดังนั้น xRapid จึงใช้ XRP ในการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องระหว่างคู่เงิน รวมถึงตัดความจำเป็นที่จะต้องวางเงินกับธนาคารต่างๆ ทั่วโลก เพราะบน Ripple Protocol นั้น สามารถใช้ XRP ในการคำนวนค่าเงินได้เลย อีกทั้งระบบนี้เป็นระบบ On Demand Liquidity กล่าวคือ เมื่อมีความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนค่าเงิน จึงค่อยใช้ XRP ในการ settlement ระหว่างค่าเงิน 2 สกุล และเมื่อมีการใช้ XRP ในการ settlement แล้ว จะมีเศษเสี้ยวของ XRP ถูกกำจัด (Burn) ออกไปจากระบบเสมอ
ผลพวงจากการใช้ xRapid คือ เมื่อเทียบกับ xCurrent แล้ว ระบบ xRapid มีความรวดเร็วกว่า และประหยัดต้นทุนมากกว่าด้วย มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าธนาคารจะไม่มีวันใช้ xRapid และ XRP ซึ่ง Ripple เองได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าเขาเชื่อว่าหากระบบใดสามารถประหยัดเวลาได้มากกว่า บนต้นทุนที่ต่ำกว่า มันจะสร้างแรงจูงใจให้เกิดความต้องการใช้ตามมาได้เองในที่สุด ซึ่งปัจจุบันนี้ก็เริ่มมีรายใหญ่เข้ามาทดลองใช้ xRapid แล้ว เช่น MoneyGram และ SBI Holding ซึ่งเป็นเครือข่ายธนาคารในญี่ปุ่น เป็นต้น
3. xVia - ผลิตภัณฑ์ตัวนี้เกิดขึ้นเพื่อภาคธุรกิจที่เป็นบริษัทระดับโลก ซึ่งมีลูกค้ากระจายอยู่ในหลายๆ ประเทศ xVia เป็นการเชื่อมภาคธุรกิจเข้าสู่ Ripplenet ซึ่งเป็นเครือข่าย Global Payment Network ทำให้ภาคธุรกิจสามารถลดเวลาและต้นทุนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ และสามารถติดตามตรวจสอบเส้นทางของเงินในแต่ละธุรกรรมได้อีกด้วย
สิ่งที่ Ripple พูดอยู่เสมอคือ Ripple เป็นบริษัทที่นำเทคโนโลยี blockchain มาใช้แก้ปัญหาได้จริง มีลูกค้าจริง มี Use Cases จริง อีกทั้งเทคโนโลยี Blockchain ของ Ripple นั้นยังสามารถทำธุรกรรมได้มากกว่า 50,000 ธุรกรรมต่อวินาที ส่งผลให้การนำมาใช้งานจริงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญ Ripple เป็นบริษัทที่พร้อมร่วมมือกับภาครัฐบาล เห็นได้จากการที่ Ripple นำ XRP ไปจดทะเบียน ‘สกุลเงินเสมือน’ (virtual currency) อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ถือเป็นบริษัทที่ 4 ซึ่งได้ Bitlicense จาก New York State Department of Financial Services
แม้ในช่วงที่ผ่านมา ราคาของ XRP จะผันผวนอย่างรุนแรงไปในทิศทางเดียวกันกับตลาด แต่บริษัท Ripple ยังคงเติบโตและเดินหน้าหาพันธมิตรเข้าร่วมเครือข่าย Ripplenet อย่างไม่หยุดยั้ง โดยล่าสุด Itau Unibanco ธนาคารจากบราซิล, IndusInd ธนาคารจากอินเดีย และ InstaReM บริษัทให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศของสิงคโปร ก็ได้เข้าร่วม Ripplenet โดยการเริ่มทดลองใช้ xCurrent เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
Mei
.
Pic Cr. : Oracle Times
.
#Blockchain #XRP #BusinessReview #PaymentDisruption #CrossBorderPayment #Dinotech
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman