ส่องปัญหากบฏฮูตีใน ‘ทะเลแดง’ กระทบเส้นเลือดใหญ่การค้าโลก

20 ธ.ค 2023 09:46

ทะเลแดงคือเส้นทางการค้าทางทะเลราว 12% ของโลก และมีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าราว 30% ของทั้งโลก คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี การโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงโดยกลุ่มกบฏฮูตี ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธในประเทศเยเมนที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน

กำลังเป็นประเด็นร้อนทางภูมิรัฐศาสตร์ล่าสุดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกส่งท้ายปี 2566 ในขณะนี้
กลุ่มกบฎฮูตีในเยเมนได้ประกาศตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่าจะโจมตีเรือทุกลำที่มุ่งหน้าไปอิสราเอลโดยไม่เกี่ยงสัญชาติ เพื่อตอบโต้ที่อิสราเอลทำสงครามในกาซา และที่ผ่านมากลุ่มฮูตีอ้างว่าได้ลงมือโจมตีเรือสินค้าไปแล้วจำนวนหนึ่ง อาทิ เรือเอ็มเอสซี คลารา จากประเทศปานามา และเรือสวอน แอตแลนติก จากประเทศนอร์เวย์
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เรือสินค้าและเรือบรรทุกน้ำมันจำนวนมากขึ้นทยอย “ระงับการเดินเรือในทะเลแดงชั่วคราว” และยิ่งกลายเป็นประเด็นหลังจากที่ 7 ใน 10 บริษัทขนส่งทางเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้แก่ เอ็มเอสซี, เมอส์ก, ฮาแพ็ก-ลอยด์, ซีเอ็มเอ ซีจีเอ็ม, หยางหมิง มารีน ทรานส์ปอร์ต, ฮุนได เมอร์แชนท์ มารีน และเอเวอร์กรีน ต่างก็ประกาศระงับการเดินเรือในสัปดาห์นี้ ขณะที่ “บีพี” เป็นบริษัทน้ำมันระดับโลกรายล่าสุดจากอังกฤษ ที่ประกาศระงับการเดินเรือผ่านทะเลแดงเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา
‘ทะเลแดง-คลองสุเอซ’ เส้นเลือดการค้า เอเชีย-ยุโรป
ทะเลแดงคือเส้นทางการค้าทางทะเลราว 12% ของโลก และมีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าราว 30% ของทั้งโลก คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี โดยขนส่งสินค้าทุกประเภทตั้งแต่สินค้ายุทธศาสตร์อย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปจนถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และของใช้ในชีวิตประจำวัน
เส้นทางนี้ถือเป็นเส้นทางการค้าหลักระหว่าง “เอเชีย-ยุโรป” จากมหาสมุทรอินเดียไปทางตะวันตก ขึ้นทะเลแดงโดยผ่านช่องแคบ “บับเอลมันเดบ” ที่อยู่ระหว่างประเทศจีบูติและเยเมน เพื่อเชื่อมต่อขึ้นไปยัง “คลองสุเอซ” ในประเทศอียิปต์ จากนั้นจึงออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังจุดหมายปลายทางในยุโรปต่อไป โดยสำหรับยุโรปแล้วทะเลแดงยังถือเป็นเส้นทางหลักในการขนส่ง “พลังงาน” มาจากตะวันออกกลาง โดยผ่าน “ช่องแคบฮอร์มุซ” อีกด้วย
จอห์น สตอว์เพิร์ต ผู้จัดการอาวุโสของอินเตอร์แนชันนัล แชมเบอร์ ออฟ ชิปปิ้ง ซึ่งเป็นหน่วยงานตัวแทนของเรือเดินสินค้าทางทะเล 80% ของโลกกล่าวว่า โดยปกติแล้วประมาณ 40% ของการค้าระหว่างเอเชีย-ยุโรปจะเป็นการขนส่งทางทะเล ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจตามมา
ทะเลแดงยังถือเป็นด่านหน้าของเรือสินค้าที่จะมุ่งหน้าสู่ “คลองสุเอซ” ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ช่องแคบยุทธศาสตร์สำคัญของโลก จากข้อมูลของสำนักงานข้อมูลพลังงานสหรัฐระบุว่า เฉพาะช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีเรือบรรทุกน้ำมันที่เดินเรือผ่านคลองสุเอซมากถึง 9.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 9% ของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลก
เฉพาะรายได้จากค่าธรรมเนียมการเดินเรือผ่านคลองสุเอซในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ทะลุ 9,400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของระบบเศรษฐกิจประเทศอียิปต์
ความเสี่ยงยิ่งสูง ต้นทุนการค้ายิ่งพุ่ง
ผลกระทบเบื้องต้นอันดับแรกที่เกิดขึ้นก็คือ ค่าประกันภัยความเสี่ยงในการเดินเรือที่แพงขึ้นจากความเสี่ยงในพื้นที่ และต้นทุนการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่นที่อ้อมกว่า
โดยปกติแล้วเรือสินค้าจะต้องแจ้งบริษัทประกันภัยกรณีที่มีการเดินเรือผ่านเส้นทางที่มีความเสี่ยงและต้องจ่ายค่าพรีเมียมเพิ่ม ซึ่งในช่วงต้นเดือน ธ.ค. ก่อนที่กลุ่มกบฏฮูตีจะประกาศมุ่งโจมตีเรือเดินทะเลนั้น ค่าพรีเมียมอยู่ที่ประมาณ 0.07% ของมูลค่าเรือต่อเที่ยว แต่หลังจากที่เกิดกรณีการโจมตี ราคาได้ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 0.5-0.7% ไปแล้ว
ขณะที่เฟรทอส ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการขนส่งสินค้าระดับโลกวิเคราะห์ว่า อัตราค่าระวางจากท่าเรือของจีนไปยังอิสราเอลปรับตัวขึ้นแตะกว่า 2,300 ดอลลาร์สำหรับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ในวันที่ 12 ธ.ค. จากประมาณ 1,975 ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนพ.ย.
ส่วนเรือสินค้าที่ตัดสินใจระงับเส้นทางทะเลแดง ก็ต้องเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอ้อม “แหลมกู๊ดโฮป” ทางใต้สุดของทวีปแอฟริกาแทน ซึ่งจะทำให้การเดินเรือต้องใช้เวลานานขึ้นสูงสุด 14 วัน ซึ่งทำให้มีทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มและใช้เวลานานขึ้นกว่าปกติ
องค์การคลองสุเอซของอียิปต์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.ปีนี้ เรือบรรทุกสินค้าจำนวน 55 ลำได้เลี่ยงไปใช้เส้นทางแหลมกู๊ดโฮป แทนการใช้เส้นทางคลองสุเอซ และนับตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.จนถึงขณะนี้ มีเรือเพียง 2,128 ลำเท่านั้นที่สัญจรผ่านเส้นทางคลองสุเอซ ทำให้ทางหน่วยงานต้องจับตาสถานการณ์ตึงเครียดในทะเลแดงอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผลกระทบใดๆ ที่จะมีต่อการสัญจรข้ามคลองสุเอซ
พันธมิตรจับมือตั้งกองกำลังใหม่รับมือกบฎฮูตี
สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประโยชน์ของนานาประเทศในครั้งนี้ ทำให้กลุ่มพันธมิตรหลายชาติที่นำโดยสหรัฐ ประกาศตั้งกองกำลังพันธมิตรใหม่ขึ้นในทะเลแดงทันที เพื่อรับมือกับกลุ่มกบฏฮูตีแล้ว
สำหรับกองกำลังใหม่ที่ตั้งขึ้นจะเป็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐ สหราชอาณาจักร บาห์เรน แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ เซเชลส์ และสเปน โดยเป็นโครงการที่มีชื่อว่า “ปฏิบัติการผู้พิทักษ์ความเจริญรุ่งเรือง” (Operation Prosperity Guardian) ซึ่งต่อยอดจากกองกำลังทางทะเลร่วม (CMF) ซึ่งเป็นแนวร่วมระหว่างประเทศที่มีสมาชิก 39 ประเทศ โดยกองกำลังทางทะเลร่วมดำเนินงานภายใต้กองเรือที่ห้าของกองทัพเรือสหรัฐในบาห์เรน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการปกป้องการเข้าถึงและเสถียรภาพทางทะเล
จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติกล่าวว่า ในโครงการริเริ่มนี้มีกองกำลังเฉพาะที่เรียกว่า Task Force 153 ซึ่งปฏิบัติการในทะเลแดงโดยเฉพาะ “สิ่งที่เรากำลังพยายามทำคือเสริมความแข็งแกร่งและปรับปรุงกองกำลังนี้ และนำไปปฏิบัติการในรูปแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน ก่อนหน้าการโจมตีของกลุ่มฮูตี”
Source - กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คลิก

Cr.Bank’s Scholarship Students

-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

 

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"