อาทิตย์ที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ตามคาด แม้ตัวเลขสหรัฐจะออกมาดีทุกด้าน คือเงินเฟ้อ การขยายตัวของเศรษฐกิจ และตลาดแรงงาน
ชี้ว่าสิ่งที่เฟดต้องการอาจเลยเรื่องเงินเฟ้อไปแล้ว
แต่ต้องการทําให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายร้อยละ 2 โดยไม่ทําให้เศรษฐกิจสหรัฐสะดุดหรือเข้าสู่ภาวะถดถอย นั่นคือ ซอฟต์แลนดิ้งเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งถ้าทำได้จะเป็นความสำเร็จอย่างงดงามของการทําหน้าที่ธนาคารกลาง นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอีกร้อยละ 0.25 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นไปตามคาด เพราะเฟดให้ข้อมูลหลังการประชุมครั้งก่อนว่ากรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงินมองภาพการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่าอาจมีได้อีก 2 ครั้ง พิจารณาจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ประเมินกันขณะนั้น ดังนั้น เมื่อเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ก็ไม่มีอะไรเกินคาด
แต่ที่น่าสนใจคือ เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแม้ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดจะออกมาดี และบางตัว เช่น เงินเฟ้อก็ดีกว่าคาด
เช่น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในสหรัฐสิ้นเดือน มิ.ย.ลดลงเหลือร้อยละ 3.1 ตํ่าสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเหลือร้อยละ 4.8 ตํ่าสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 ตัวเลขเหล่านี้ชี้ถึงการอ่อนตัวของอัตราเงินเฟ้อที่กําลังเกิดขึ้นต่อเนื่องและมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาด
ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐก็ขยายตัว แม้การขยายตัวจะชะลอลงตามผลของอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น แสดงถึงความเข้มแข็งและความยืดหยุ่นที่เศรษฐกิจสหรัฐมี ล่าสุด ไอเอ็มเอฟได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้ขึ้น เป็นการขยายตัวร้อยละ 1.8 เหมือนคอนเฟิร์มว่าความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยปีนี้อยู่ในเกณฑ์ตํ่ามาก
ด้านตลาดแรงงานยังคงตึงตัว อุปสงค์มีมากกว่าอุปทานทําให้ค่าจ้างปรับสูงขึ้น ล่าสุดที่ร้อยละ 4.4 ขณะที่อัตราว่างงานอยู่ในเกณฑ์ตํ่าที่ร้อยละ 3.6
ตัวเลขเหล่านี้ดีมากๆ ในแง่การทํานโยบาย เพราะทั้งสามด้านที่เฟดให้ความสำคัญดูดีหมดไม่ว่าจะเป็น เงินเฟ้อ เศรษฐกิจ และตลาดแรงงาน เหมือนเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้กําลังปรับตัวต่อการขึ้นดอกเบี้ยในทิศทางที่เฟดอยากเห็น คําถามคือ แล้วทําไมยังต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว ถ้าทุกอย่างกําลังไปได้ดี
ในความเห็นผม เหตุผลที่เฟดตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยคงมาจาก
1. อัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่ร้อยละ 3.1 ยังสูงกว่าเป้าร้อยละ 2 ที่เป็นเป้าระยะยาวของเฟด ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อควรต้องลงอีก การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อวันพฤหัสบดีคือการยืนยันในประเด็นนี้
2. ตลาดการเงินได้ปรับตัวล่วงหน้า เพราะคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 ตามที่ได้สื่อสารไว้หลังการประชุมครั้งก่อน ล่าสุดตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐก็ออกมาใกล้เคียงกับภาพที่เฟดประเมินไว้ จึงไม่มีเหตุผลที่การตัดสินใจของเฟดคราวนี้จะต้องแตกต่างจากที่เคยสื่อสารไว้
3. อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเร็ว เศรษฐกิจที่ขยายตัว และตลาดแรงงานที่ตึงตัวสร้างบรรยากาศ หรือ backdrop ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อจากนี้เพื่อดึงให้อัตราเงินเฟ้อลดลงอีก จะไม่เป็นความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและตลาดแรงงาน เพราะความเข้มแข็งที่เศรษฐกิจสหรัฐได้แสดงให้เห็นที่จะรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ถ้าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสามารถทําให้อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่เป้าหมายร้อยละ 2 ได้ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐยังขยายตัว ไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจสหรัฐก็เหมือนซอฟต์แลนด์ (Soft-land) ได้จากอัตราเงินเฟ้อที่สูง
ประเด็นที่สามนี้ เฟดไม่ได้พูดถึงหรือสื่อสารในการแถลงข่าว แต่เป็นความท้าทายของการดำเนินนโยบายการเงินมาตั้งแต่ต้น คือตั้งแต่เดือน มี.ค.2565 ที่เฟดเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับที่ตํ่ามาก คือเกือบเป็นศูนย์เพื่อหยุดเงินเฟ้อ
ความท้าทายคือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะลดเเรงกดดันเงินเฟ้อได้มากพอหรือไม่ และที่วิตกกันมากคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในภาวะที่เศรษฐกิจยังเปราะบางจากการระบาดของโควิด จะทําให้เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย เป็นความเสี่ยงที่มองกันเป็นการทั่วไปในตอนนั้นว่าคงจะเกิดขึ้น ขณะที่กรณี Soft-landing ถูกมองว่าเป็นความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นได้ยากมาก
จากเดือน มี.ค. 2565 ถึงวันนี้ ธนาคารกลางสหรัฐได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในทุกครั้งที่มีการประชุม รวมแล้ว 11 ครั้ง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ปรับขึ้นทั้งหมดรวมแล้วกว่า 5 เปอร์เซ็นต์
อัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาปีกว่าๆ ทําให้เศรษฐกิจสหรัฐต้องปรับตัวมาก อัตราเงินเฟ้อลดลงจากระดับสูงสุดร้อยละ 9.1 เดือน มิ.ย. 2565 เหลือร้อยละ 3.1 เดือน มิ.ย.ปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอแต่ยังห่างไกลโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และถ้าในปีนี้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐสามารถลดลงได้เหลือร้อยละ 2 ขณะที่เศรษฐกิจยังขยายตัว
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้ซอฟต์แลนด์จากปัญหาเงินเฟ้ออย่างปลอดภัยแล้ว ถือเป็นความสำเร็จอย่างงดงามของการทํานโยบายการเงิน และเป็นความสง่างามของธนาคารกลางสหรัฐในการทําหน้าที่ เป็นความสำเร็จที่ธนาคารกลางและตลาดการเงินทั่วโลกต้องชมเชย
ถ้าจะถามว่าอะไรเป็นปัจจัยเบื้องหลังความสำเร็จนี้ ผมว่ามีสามปัจจัยที่ค่อนข้างชัดเจน
1.การทําหน้าที่ตามพันธกิจธนาคารกลาง คือรักษาเสถียรภาพของราคาคืออัตราเงินเฟ้อตํ่าอย่างเป็นอิสระ ต่อเนื่อง และหนักแน่น ไม่ว่อกแว่ก
2.วิเคราะห์ข้อมูล สถิติ และตัดสินใจอย่างเป็นระบบ มีเหตุมีผล เพื่อให้ได้ทางเลือกในการตัดสินใจที่ดีที่สุด เพื่อการบรรลุเป้าหมาย
3.สื่อสารอย่างชัดเจนให้ตลาดการเงินเข้าใจ เพื่อการปรับตัวล่วงหน้า ซึ่งเครดิตเรื่องนี้ต้องยกให้ประธานธนาคารกลางสหรัฐ เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) ที่แถลงข่าวและตอบคำถามด้วยตนเองหลังการประชุมทุกครั้ง ทําให้ได้รับความเชื่อถือจากสื่อมวลชน ตลาดการเงิน และธนาคารกลางทั่วโลก
ขอชมเชยด้วยความจริงใจและขอให้การนำเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะ Soft-landing ประสบความสำเร็จ
ดร.บัณฑิต นิจถาวร | เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
Source กรุงเทพธุรกิจ
Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you