กฎหมายของสหรัฐอเมริกา กำหนดให้มี “เพดานหนี้” เอาไว้ นั่นคือขีดจำกัดตามกฎหมายที่บ่งชี้ว่า กระทรวงการคลัง ในนามของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา สามารถก่อหนี้ได้เต็มที่เป็นจำนวนเท่าใด
เมื่อใดที่ฝ่ายบริหารก่อหนี้จนเต็มเพดานที่กำหนดไว้
ก็ต้องหารือกับรัฐสภาเพื่อขยายเพดานหนี้ให้สูงขึ้นไปอีก เปิดช่องให้สามารถกู้เงินมารองรับ “ค่าใช้จ่าย” ของรัฐบาลได้เพิ่มเติม
รัฐสภาสหรัฐมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบ แต่ในเวลาเดียวกันก็สามารถตั้งเงื่อนไขที่เชื่อว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติแลกกับการเพิ่มเพดานหนี้
นั่นคือที่มาของการเจรจาต่อรองระหว่างทำเนียบขาวที่เป็นฝ่ายบริหารกับรัฐสภา โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรครีพับลิกัน ฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลครองเสียงข้างมากอยู่ในเวลานี้
เรื่องของเพดานหนี้จึงเป็นประเด็นทางการเมืองมากพอ ๆ กับเป็นเรื่องเศรษฐกิจ-การเงิน
รัฐบาลอเมริกันชุดปัจจุบันภายใต้การนำของประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” จากพรรคเดโมแครตก่อหนี้เต็มเพดานดังกล่าวไปตั้งแต่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังจากวันนั้นจนถึงตอนนี้ กระทรวงการคลังต้องใช้ “มาตรการพิเศษ” ดึงเงินจากที่โน่นที่นี่มาใช้เพื่อประคองสถานการณ์ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการต่อไปได้
มาตรการพิเศษที่ว่านั้นจะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ หลังจากวันนั้น หากไม่มีความตกลงขยายเพดานหนี้ รัฐบาลอเมริกันก็อาจจำเป็นต้องปิดทำการหน่วยงาน “ที่จำเป็นน้อยที่สุด” ลง พร้อม ๆ กับอาจต้อง “ผิดนัดชำระหนี้”
“เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีคลังของไบเดน ระบุไว้ว่า หากไม่สามารถขยายเพดานหนี้ได้ ก็จะนำไปสู่ “หายนะทางเศรษฐกิจและการเงิน” ของสหรัฐอเมริกา ที่ตอนนี้อยู่ในสภาพอึมครึม ลูกผีลูกคน เพราะเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยสูง และอุตสาหกรรมธนาคารโซซัดโซเซอยู่ก่อนแล้ว
เมื่อ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานเพื่อการจัดทำงบประมาณของรัฐสภา หน่วยงานอิสระที่เป็นกลางทางการเมืองของรัฐสภา (ซีบีโอ) กับ กระทรวงการคลัง ประเมินไว้ตรงกันว่า แค่ความตกลงขยายเพดานหนี้ล่าช้าไป 1 สัปดาห์ อเมริกันจะตกงานทันที 5 แสนคน เศรษฐกิจติดลบ 0.6%
ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ การผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐกลายเป็นเรื่องยืดเยื้อ คือยาวนานเกินกว่า 3 เดือน อเมริกันจะตกงาน 8.3 ล้านคน เศรษฐกิจอเมริกันจะ “ถดถอยครั้งใหญ่” และตลาดหุ้นวอลล์สตรีตจะถล่มหายไป 45% เงินออม เงินบำเหน็จบำนาญมหาศาลที่ลงทุนอยู่ในตลาดจะวูบหายไปในพริบตา
ใครที่ยังมีงานทำอยู่ จะถูกบีบคั้นอย่างรุนแรงจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นไปอีก เหมือนเช่นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่พักอาศัย ซึ่งเคยอยู่ที่ราว 3% ในเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ที่ทะยานมาอยู่ที่ 6.4% ในเดือนนี้
เบรตต์ ไรอัน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ ดอยช์แบงก์ สาขาสหรัฐอเมริกา บอกว่า การปล่อยให้ปัญหาขยายเพดานหนี้ยืดเยื้อต่อไปก็เหมือนกับการขับรถพุ่งเลยออกจากหน้าผา การผิดนัดชำระหนี้ระยะยาวของสหรัฐจะ “เป็นปัญหาใหญ่โต” มาก และจะก่อให้เกิดวิกฤตระดับโลกตามมา
การผิดนัดชำระหนี้ หรือดีฟอลท์ จะส่งผลให้ต้นทุนในการกู้ยืมของรัฐบาลสหรัฐสูงขึ้น เมื่อปี 2011 ปัญหาเพดานหนี้เดียวกันนี้เคยคาราคาซังจนแทบถึงวันสุดท้าย ผลก็คือ เอสแอนด์พี บริษัทเครติดเรตติ้งรายใหญ่ ปรับลดเครดิตของสหรัฐ จาก AAA สู่ระดับ AA+ และไม่เคยปรับคืนสู่ระดับเดิมอีกเลย
การลดเกรดครั้งนั้น ส่งผลให้ต้นทุนกู้ยืมของสหรัฐสูงขึ้นราว 1,300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศสูงขึ้นโดยปริยาย
แต่คราวนี้จะแตกต่างออกไปจากครั้งนั้น เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการเงินของสหรัฐดูเหมือนจะยังไม่นิ่ง ไม่เลิกรา เมื่อ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคาร เฟิร์ส รีพับลิค ก็พังพาบลงเป็นรายที่ 3 ในรอบ 2 เดือน
ธนาคารระดับภูมิภาคที่เหลืออยู่ในสหรัฐ จะทนแรงบีบจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไปอีกได้หรือไม่ รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร หรือมีศักยภาพในการแก้ปัญหาหรือไม่
เมื่อ 1 พ.ค.โกลด์แมน แซกส์ อีโคโนมิกส์ ตั้งข้อสังเกตว่า รีพับลิกัน ต้องการใช้การขยายเพดานหนี้บีบให้ เดโมแครต ยอมปรับเปลี่ยนนโยบายตามความต้องการของตน เพื่อผลในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า
เรื่องที่จะยอมขยายเพดานหนี้ให้ง่าย ๆ เป็นไปไม่ได้ เพดานหนี้ เป็นกลไกในการจำกัดการกู้ยืมของรัฐบาลตามกฎหมาย แต่ไม่ได้จำกัดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลแต่อย่างใด แต่รีพับลิกันนำ 2 เรื่องมาผูกโยง
เข้าด้วยกันโดยตรง ขณะที่ฝ่ายเดโมแครตยืนกรานว่าทั้ง 2 เรื่องเป็นคนละเรื่องกัน
“เบรตต์ ไรอัน” แห่งดอยช์แบงก์ เชื่อว่า ถึงที่สุดแล้ว รัฐสภาจะกำหนดมาตรการ “ชั่วคราว” ระยะสั้น ๆ ออกมาแก้ไขปัญหาไปก่อนเมื่อถึง 1 มิ.ย.แต่จะลากยาวปมเพดานหนี้ออกไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. และถึงตอนนั้น เศรษฐกิจอเมริกันอาจง่อนแง่นเต็มที โอกาสที่จะตกสู่ภาวะถดถอยเพิ่มสูงขึ้นเป็นทวีคูณ
ส่วนทั่วโลกก็เตรียมตัวเตรียมใจรับแรงกระแทกกระทั้นจากสถานการณ์นี้ได้ตั้งแต่บัดนี้
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
Source: ไทยรัฐออนไลน์
Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you