เปิดข้อมูลดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ หลัง กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จาก 1.50% มาอยู่ที่ 1.75% แบงก์ทยอยขึ้นดอกเบี้ยทั้ง "เงินกู้-เงินฝาก" ยกแผง ส่องกลุ่ม 4 แบงก์ใหญ่ เผยกรุงไทย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย (MRR) สูงสุดที่ 7.12% ต่อปี
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่(MLR) กสิกรไทย สูงสุด 6.82% ต่อปี ธปท.ชี้การส่งผ่านดอกเบี้ยอาร์พี 4 ครั้ง พบสัดส่วนขึ้นดอกเบี้ย MRR แค่ 55% น้อยกว่าค่าเฉลี่ยช่วงที่ผ่านมา ตอกย้ำแบงก์ประคองลูกหนี้กลุ่มรายย่อย
วันที่ 18 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ที่ 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี ในรอบการประชุมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยหลังจาก กนง.ส่งสัญญาณการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะเห็นสถาบันการเงินทยอยส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ขา ทั้งในส่วนของเงินฝากและเงินกู้
ทั้งนี้ หากดูการปรับขึ้นของดอกเบี้ยเงินกู้ของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ วันที่ 18 เมษายน 2566 พบว่าอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อรายย่อยชั้นดีแบบมีระยะเวลา (MRR) ในกลุ่ม 4 ธนาคารใหญ่ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย จะเห็นว่าธนาคารกรุงไทยมีอัตราดอกเบี้ย MRR สูงสุดอยู่ที่ 7.120% ต่อปี
รองลงมาจะเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ อยู่ที่ 6.870% ต่อปี โดยที่ธนาคารกรุงเทพและกสิกรไทยเท่ากันอยู่ที่ 6.85% ต่อปี
ขณะที่ภาพรวม 6 ธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) จะพบว่าธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือทีทีบี มีอัตราดอกเบี้ย MRR สูงสุดอยู่ที่ 7.38% ต่อปี
และหากพิจารณาในกลุ่มธนาคารขนาดกลางและเล็ก จะพบว่าธนาคารที่มีอัตราดอกเบี้ย MRR สูงสุด จะเป็นธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย (TCRB) อยู่ที่ 9.45% ต่อปี (ประกาศล่าสุด ณ วันที่ 8 ก.พ. 2566) รองลงมาจะเป็นธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ดอกเบี้ยอยู่ที่ 8.450% ต่อปี และธนาคารยูโอบี 5.28% ต่อปี ส่วนธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Bank) อยู่ที่ 8.150% ต่อปี ธนาคารทิสโก้ 7.700% ต่อปี และธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) อยู่ที่ 7.500% ต่อปี
สำหรับอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีแบบมีระยะเวลา (MLR) พบว่าในกลุ่ม 4 ธนาคารใหญ่ จะคิดอัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกันเฉลี่ย 6.60-6.82% ต่อปี โดยธนาคารกสิกรไทยสูงสุดที่ 6.82%ต่อปี ธนาคารกรุงเทพ 6.65% ต่อปี โดยธนาคารกรุงไทยและไทยพาณิชย์ ต่ำสุดที่ 6.60% ต่อปี
ขณะที่ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต จะสูงกว่าอยู่ที่ 7.275% ต่อปี และหากดูในกลุ่มธนาคารกลางและเล็ก พบว่าธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อยยังคงคิดอัตราดอกเบี้ย MLR สูงสุดอยู่ที่ 8.80% ต่อปี
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ดร.สุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน "Monetary Policy Forum" ครั้งที่ 1/2566 ว่า หากดูการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารพาณิชย์ในช่วงการปรับขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้ง (ไม่รวมครั้งล่าสุดเดือน มี.ค. 66) พบว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) มีสัดส่วนส่งผ่าน 68% สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตปี 2563-2564 ขณะที่ดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ส่งผ่าน 55% ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา สะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์ต้องการประคองลูกหนี้กลุ่มรายย่อย
ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมภาคธุรกิจ จะพบว่าต้นทุนปรับเพิ่มขึ้นทั้งจากการกู้ยืมผ่านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ และตลาดตราสารหนี้ แต่การปรับขึ้นไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนทั้งหมด ทั้งตลาดสินเชื่อที่จะเห็นการเติบโต 4-5% แม้จะชะลอลงบ้างตามเศรษฐกิจโลกผ่านภาคการผลิต แต่ภาคบริการและการค้ายังคงได้รับสินเชื่อต่อเนื่อง
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you