สรุปบทเรียน ‘แบงก์สหรัฐล้ม’ จาก SVB สู่ Signature Bank ส่อสะเทือนโลก!?

จากกรณีธนาคารสหรัฐล้มกะทันหัน อย่างธนาคาร Signature Bank และธนาคาร Silicon Valley หรือ SVB ล้ม กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจทั้งโลก การล้มของ 2 ธนาคารรายใหญ่ครั้งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และทางการสหรัฐแก้ปัญหาอย่างไรในการสกัดไฟที่กำลังลุกลามนี้

Key Points
การขึ้นดอกเบี้ยแรงของเฟด ทำให้บรรดา Startup ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของธนาคาร SVB ประสบปัญหาทางการเงิน จึงต้องถอนเงินฝากจากธนาคาร SVB จำนวนมาก
Moody’s และ S&P Global ประกาศลดความน่าเชื่อถือธนาคาร SVB ลง โดย S&P Global ลดความน่าเชื่อถือธนาคารนี้ลงเหลือ “ระดับขยะ”
ต่อมา สหรัฐสั่งปิดธนาคาร Signature Bank เพื่อยับยั้งความโกลาหล โดย Signature Bank เป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 3 ที่ล้มในประวัติศาสตร์แบงก์สหรัฐ
กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อธนาคารสหรัฐ 2 แห่ง Silicon Valley และ Signature Bank ปิดตัวลง ก่อกระแสความวิตกไปทั่วสหรัฐ และทั่วโลกว่า ธนาคารอันเป็นสถาบันที่แข็งแกร่ง และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนยิ่งกว่าบริษัทเอกชน เกิดล้มลงติด ๆ กันได้อย่างไร
เฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงและเร็ว ตัวจุดชนวน?
ท่ามกลางการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่รุนแรงในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน และรวดเร็วจาก 0.25% ไปที่ 4.75% ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อปราบเงินเฟ้อ และขณะเดียวกันก็เพิ่มต้นทุนทางการเงินด้วย
สิ่งนี้ส่งผลให้บริษัทที่ต้องใช้เงินลงทุนที่มาก และต้องเร่งขยายตลาด อย่าง Startup และธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ซึ่งเป็น “ลูกค้าหลัก” ธนาคาร Silicon Valley หรือธนาคาร SVB ประสบปัญหาทางการเงิน ระดมทุนลำบาก จึงเลือกถอนเงินฝากจากธนาคาร SVB จำนวนมาก
เมื่อ SVB ขาดสภาพคล่องด้วย
การเข้าถอนเงินของบริษัท Startup จำนวนมาก ทำให้ธนาคาร SVB ขาดสภาพคล่อง เพราะเงินสำรองของธนาคารจำนวนมากอยู่ใน “พันธบัตรระยะยาว”
ดังนั้น “เพื่อไม่ให้ผิดนัดชำระเงินฝากลูกค้า” ธนาคารจึงจำเป็นต้องขายขาดทุนพอร์ตพันธบัตรระยะยาวออกไป 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ รับรู้ขาดทุนจริงทันที 1.8 พันล้านดอลลาร์!
หากไม่ขาดสภาพคล่องเช่นนี้ ธนาคารสามารถถือพันธบัตรดังกล่าวไปจนครบกำหนดอายุ รับเงินต้นเต็มจำนวน ไม่ต้องประสบผลขาดทุน
ความเชื่อมั่นดิ่ง หลัง SVB ขาดทุน
การขาดทุนเช่นนี้ ทำให้ส่วนของ “ทุน” ธนาคารลดลง จึงจำเป็นต้องเพิ่มทุนอีก 2.25 พันล้านดอลลาร์ผ่านการประกาศขายหุ้นสามัญ และหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพ
ผลปรากฏว่า ผู้ลงทุน และลูกค้าธนาคารตกใจกับการขาดทุนที่มากของธนาคารเช่นนี้
บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือการเงิน Moody’s และ S&P Global ประกาศลดความน่าเชื่อถือธนาคาร SVB ลง โดย Moody’s ลดความน่าเชื่อถือธนาคารนี้จาก Baa1 ลงเหลือ C และ S&P Global ลดความน่าเชื่อถือธนาคารนี้ลงเหลือ “ระดับขยะ”
ยิ่งไปกว่านั้น ยังเกิดความกังวลในกลุ่มภาคธุรกิจว่า เงินฝากในส่วนที่มากกว่า 250,000 ดอลลาร์จะสูญหายไป เพราะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเงินฝากในสหรัฐ
ปรากฏการณ์ Bank Run เมื่อผู้คนแห่ถอนเงินแบงก์
ภาวะขาดทุนมหาศาลจากการขายพันธบัตร และการถูกลดความน่าเชื่อถือลงของธนาคาร SVB ทำให้แผนเพิ่มทุนดังกล่าวต้องพังทลายลง เพราะเกิดปรากฏการณ์ “Bank Run” ที่ประชาชนและภาคธุรกิจแห่ถอนเงินฝากกว่า 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ จนเงินฝากติดลบ!
นอกจากนี้ นักลงทุนยังตื่นตระหนก เทขายหุ้นธนาคาร SVB ตาม ส่งผลให้ราคาหุ้น SVB ร่วงลงกว่า 80% และยังทำให้ราคาหุ้นธนาคารสหรัฐอื่น ๆ ปรับตัวลงตามด้วย
ไฟกำลังลามมาที่ภาคคริปโทฯ
ผลกระทบดังกล่าวยังลุกลามสู่ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี จนเหรียญ Stable Coin ที่ชื่อ USDC ของบริษัท Circle หลุดการตรึงมูลค่าจาก 1 ดอลลาร์ ลงเหลือ 0.92 ดอลลาร์เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา เพราะทุนสำรองของบริษัทฝากไว้ที่ธนาคาร SVB ราว 8% หรือจำนวน 3.3 พันล้านดอลลาร์ เกรงว่าจะไม่ได้รับคืน
สภาพคล่องธนาคาร SVB ขณะนี้กำลังย่ำแย่ จากการตื่นตระหนกของลูกค้า และนักลงทุน ยิ่งทำให้โอกาสชำระหนี้ของธนาคารลดลงไปอีก
สหรัฐยื่นมือช่วยธนาคารที่กำลังจมน้ำ
วันที่ 10 มี.ค. 2566 ทางการสหรัฐอย่างหน่วยงานคุ้มครองเงินฝากธนาคาร (FDIC) ได้ตัดสินใจเด็ดขาด ปิดกิจการธนาคาร SVB และเข้าควบคุมสินทรัพย์ SVB ด้วย อีกทั้งกำลังประสานนักลงทุนเทวดา (Angel Investor) ที่จะช่วยเหลือสภาพคล่องธนาคาร SVB
ขณะเดียวกันต้องจับตาเฟดที่เตรียมจัดประชุมฉุกเฉินในวันที่ 13 มี.ค. ตามเวลาสหรัฐ
เมื่อวันที่ 12 มี.ค. เฟด (FED) หน่วยงานคุ้มครองเงินฝากธนาคาร (FDIC) และกระทรวงการคลังสหรัฐ ออกแถลงการณ์ร่วม ประกาศคุ้มครองเงินฝากลูกค้าธนาคาร SVB และธนาคารพาณิชย์อีกรายอย่าง Signature Bank “เต็มจำนวน” ไม่จำกัดเพียง 250,000 ดอลลาร์อีกต่อไป เพื่อลดความตื่นตระหนกแห่ถอนเงิน และฟื้นความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
ทั้งนี้ Signature Bank เป็นธนาคารรายใหญ่ที่ปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี และได้รับผลกระทบหนักหลังจากวิกฤติแบงก์ล้มในสหรัฐขยายวงสู่อุตสาหกรรมคริปโทฯ
นอกจากนี้ เฟดยังประกาศตั้งโครงการ Bank Term Funding Program มูลค่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยธนาคารที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง สามารถนำพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และตราสาร MBS แลกเปลี่ยนเป็นสภาพคล่องอย่างเงินสดได้ทันทีที่ราคาหน้าพันธบัตร ไม่ต้องเสี่ยงขายขาดทุนเหมือนธนาคาร SVB อีก
ขณะเดียวกัน ทางการสหรัฐยังประกาศสั่งปิดธนาคาร Signature Bank ที่มีสำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์กเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อยับยั้งความโกลาหล นับเป็นธนาคารแห่งที่สองที่ถูกสหรัฐสั่งปิดในช่วงไม่กี่วันหลังสุด
ในประวัติศาสตร์ธนาคารล้มของสหรัฐ Signature Bank ถือเป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 3 ตามมูลค่าทรัพย์สินที่ล้ม คือ 1.18 แสนล้านดอลลาร์ รองจาก SVB อันดับ 2 ที่ 2.09 แสนล้านดอลลาร์ และธนาคาร Washington Mutual อันดับ 1 ที่ 3.07 แสนล้านดอลลาร์ ที่ล้มในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551
ความเชื่อมั่นตลาดสหรัฐกำลังกลับมา
ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ คริปโทเคอร์เรนซี และทองคำปรับตัวบวกในวันนี้ (13 มี.ค.) โดยดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งถึง 400 จุด และบิตคอยน์พุ่ง 10% ตอบรับการเข้าช่วยเหลือของทางการสหรัฐ
ขณะที่สถาบันการเงิน Goldman Sachs มองว่า เฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนนี้ เพื่อชะลอความเสี่ยงด้านหนี้ของสหรัฐออกไปก่อน
อีกปัจจัยที่น่าจับตาคือ การออกแถลงการณ์พิเศษในช่วงค่ำวันนี้ตามเวลาไทยของประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ ต่อกรณีการล้มของธนาคารสหรัฐทั้งสองแห่งนี้
จากสถานการณ์ธนาคารพาณิชย์สหรัฐล้มครืน โดยเฉพาะ SVB อาจสรุปได้ว่า เกิดจากการขาดสภาพคล่องของลูกค้าธนาคารอย่าง Startup จนนำมาสู่การขาดสภาพคล่องของธนาคารตามมา เพราะเงินที่ต้องนำมาจ่ายเงินฝากลูกค้ากลับอยู่ในพันธบัตรระยะยาว ที่ไม่มีสภาพคล่องเพียงพอ
ธนาคารจึงจำต้องขายพันธบัตรขาดทุน เพื่อไม่ให้ผิดนัดชำระหนี้ แต่กลับมีผลกระทบความเชื่อมั่นตามมา เมื่อลูกค้ารับรู้ผลขาดทุนที่สูง
นอกจากนั้น การแห่ถอนเงินฝากและเทขายหุ้นธนาคาร SVB จึงทำให้เงินฝากธนาคารนี้ติดลบ ล้มครืนลงในที่สุด นี่อาจเป็นอุทาหรณ์ได้ว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เช่นนี้ การมี “กระแสเงินสด” ที่สามารถดึงออกมาใช้งานได้ทันทีและมากเพียงพอ โดยไม่ต้องรอระยะเวลาหรือขายขาดทุน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการอยู่รอดของภาคธุรกิจ
โดย สุรินทร์ เจนพิทยา
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คลิก

Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"