สัมภาษณ์พิเศษ .....คุยกับแบงค์ชาติเรื่องการทดสอบ Retail CBDC ในไทย เมื่อตัวเลขในแอปจะเป็นเงินของเราจริงๆ

เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเตรียมเริ่มทดสอบเงินบาทดิจิทัล (Retail CBDC) ในวงจำกัดกับประชาชนราวหนึ่งหมื่นคน นับเป็นครั้งแรกที่คนไทยทั่วไปจะได้สัมผัสเงินบาทดิจิทัลกันจริงๆ ผมพูดคุยกับคุณกษิดิศ ตันสงวน

ผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงการทดสอบในครั้งนี้ ว่าเรากำลังทดสอบอะไร และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเลือกใช้งานจะเป็นอย่างไรหากมีการใช้งาน CBDC เป็นการทั่วไปจริงๆ
CBDC มีหลายแบบ คนละปัญหา และเป็นคนละเทคโนโลยี
ข่าวการทดสอบ CBDC นั้นมีมาแล้วหลายรอบนานนับปี โดยที่ผ่านมาเราอาจจะได้ยินความเชื่อมโยงระหว่างโครงการ CBDC ต่างๆ และเทคโนโลยีบล็อคเชน แต่ในการทดสอบ Retail CBDC รอบนี้จะเป็นระบบที่ใช้ฐานข้อมูลรวมศูนย์
การทดสอบ CBDC รอบแรกๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทดสอบนั้นใช้เทคโนโลยี Corda R3 ที่ได้รับความนิยมสูงในหมู่ธนาคารกลางหลายประเทศ แต่รอบต่อมาก็ปรับไปทดสอบ Hyperledger Besu โดยโครงการทดสอบเหล่านี้เป็นการทดสอบสำหรับสถาบันการเงินที่มีเงื่อนไขการใช้งานต่างกัน เช่น การโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินมีปริมาณธุรกรรมไม่มากนัก และความเร็วในการโอนไม่ใช่เงื่อนไขเหมือนการโอนรายย่อย แต่ผลการทดสอบ CBDC ระหว่างสถาบันการเงินในประเทศไทยเองกลับไม่ได้สร้างประโยชน์มากนัก เทียบกับระบบการโอนเงินที่ใช้งานทุกวันนี้เช่น BATHNET หรือ RTGS ที่ระบบของไทยเองโอนสำเร็จภายในวันเดียวอยู่แล้ว ขณะที่หลายประเทศอาจจะมีระบบโอนเงินที่ช้ากว่านี้
อย่างไรก็ดีเมื่อหันมามองปัญหาการโอนเงินข้ามประเทศ (cross border) ยังมีโอกาสที่จะใช้งาน CBDC บน Blockchain มาใช้งาน เพราะทุกวันนี้กระบวนการโอนเงินข้ามประเทศยังช้ามาก การทำงานจริงต้องผ่านตัวกลางหลายชั้น เพราะธนาคารแต่ละประเทศไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับธนาคารปลายทาง และการโอนภายในประเทศปลายก็มีปัญหาเวลาทำการที่ไม่ตรงกัน การใช้งาน CBDC จะช่วยให้ ธนาคารในเครือข่ายสามารถเชื่อมต่อกันได้โดยตรงแบบ peer-to-peer, ทำงานได้ตลอดเวลา, และสามารถยืนยันได้ว่าธุรกรรมจะสมบูรณ์ หรือหากไม่สำเร็จก็ยกเลิกไป (all-or-nothing)
CBDC สำหรับสถาบันการเงินยังมีปัญหาที่ต้องการสำรวจทางแก้ไขต่อไป เช่น กระบวนการกำกับดูแลที่แต่ละชาติจะมีเงื่อนไขต่างกัน และ CBDC ที่เชื่อมต่อหลายชาติเข้าด้วยกันต้องรองรับเงื่อนไขเหล่านี้ นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไข governance เช่น กระบวนการอนุญาตให้สถาบันการเงินเชื่อมต่อระบบเข้ากับเครือข่ายว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง
เมื่อมองเทคโนโลยีสำหรับการจ่ายเงินรายย่อย เงื่อนไขที่เปลี่ยนไปคือเงินที่เราใช้งานกันนั้นอาศัยความเชื่อใจในธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว การโอนเงินรายย่อยมีปริมาณธุรกรรมจำนวนมากและต้องการความรวดเร็ว จึงไม่มีเงื่อนไขที่ตรงบล็อคเชนเหมือนการโอนเงินข้ามประเทศ และเมื่อสำรวจเทคโนโลยีต่างๆ จึงพบว่าการออกแบบของ G+D Filia นั้นตรงกับความต้องการใช้งานจึงนำมาใช้ในการทดลองครั้งนี้ แต่การใช้เทคโนโลยีในการทดลองก็ไม่ใช่การเลือกเทคโนโลยีในระบบจริงแต่อย่างใด แนวทางนี้เลือกเทคโนโลยีสำหรับทำ Retail CBDC นั้นหลายชาติก็มักเลือกมายังระบบรวมศูนย์
G+D Filia ตัวเลือกหนึ่งสำหรับการสร้าง Retail CBDC ในอนาคต
G+D Filia เป็น 1 ใน 3 เทคโนโลยีที่ได้รางวัลจากธนาคารกลางสิงคโปร์เมื่อปี 2021 โดยมีจุดแตกต่างจากโซลูชั่นอื่นๆ คือ เงินทั้งหมดที่สร้างขึ้นในระบบเป็นโทเค็น และการโอนเงินไม่ต้องบันทึกธุรกรรมลงในฐานข้อมูลแต่อย่างใด นอกจากจะเป็นการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้แล้ว แนวทางของ G+D Filia ยังทำให้ระบบรองรับการจ่ายเงินแบบออฟไลน์ โดยทั้งผู้รับและผู้โอนไม่ต้องเชื่อมต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์ รวมถึงเมื่อได้รับเงินแบบออฟไลน์มาแล้วก็สามารถโอนต่อไปได้ทันทีโดยไม่ต้องเชื่อมต่อเซิร์ฟเวอร์เช่นกัน
คุณกษิดิศ เล่าถึงกระบวนการเลือกเทคโนโลยีว่าการใช้งานออฟไลน์มีเงื่อนไขหลายอย่าง โดยการออกแบบระบบนั้น มีข้อกังวลด้านความปลอดภัยที่ฮาร์ดแวร์ที่ใช้งานต้องเชื่อถือได้จริง ไม่เช่นนั้นก็อาจจะมีการโจมตี double spending ในระบบได้ และข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งคือระบบการโอนเงินแบบออฟไลน์ของ G+D Filia นั้นยังเป็นระบบปิด (proprietary) ของบริษัทเอง หากในอนาคตจะมีการใช้งาน CBDC เป็นวงกว้างจริงธนาคารแห่งประเทศไทยก็อาจจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองมาใช้งาน
การเปิดให้ใช้เงินบาทดิจิทัลแบบออฟไลน์นั้นยังมีเงื่อนไขที่ต้องคิดอีกมากว่าหากเปิดใช้งานจริงจะเป็นรูปแบบใด เพราะโดยทั่วไปแล้วชาติที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้สูงก็ไม่มีความจำเป็นมากนัก ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่อาจจะกำหนดได้หากเปิดใช้งานจริง เช่น สามารถใช้งานออฟไลน์ได้ช่วงเวลาหนึ่ง และต้องกลับมายืนยันรายการกับระบบออนไลน์ หรืออาจจะยอมให้ออฟไลน์เพียงข้างเดียวแบบเดียวกับที่เราจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตทุกวันนี้ สำหรับการทดสอบในปลายปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะทดสอบแบบออฟไลน์กับพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยเองเท่านั้น ไม่เปิดให้คนนอกใช้งาน
Retail CBDC ของไทย ยังเป็นการทดสอบ รูปแบบการใช้งานไม่ต่างจากพร้อมเพย์
แม้ว่าเทคโนโลยีเบื้องล่างของ CBDC จะต่างจากเงินในบัญชีปกติ แต่การทดสอบวงกว้าง Retail CBDC ของไทยในปลายปีนี้ยังไม่มีการทดสอบแบบออฟไลน์ แต่อย่างใด ผู้ใช้ต้องโอนเงินออกจากบัญชีธนาคารเข้าไปยังบัญชี CBDC ที่เลขบัญชีต่างออกไป (อาจจะมีทั้งตัวเลขและตัวอักษร ความยาวเพิ่มขึ้น) ในแต่การใช้งานยังต้องมีการเปิดบัญชีเหมือนบัญชีธนาคารอยู่ กระบวนการทดสอบจะเป็นการสร้างทราฟิกการใช้งานจริง มีผู้ใช้ถือ CBDC และมีร้านค้ารับจ่ายค่าสินค้าด้วย CBDC จริง
กระบวนการทดสอบนี้จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถทดสอบกระบวนการทำงานด้านหลัง เช่น กระบวนการออกโทเค็น CBDC ว่าการทำงานภายใน ทำให้สามารถประเมินระบบอย่างสมจริง แต่สำหรับผู้ใช้ปกติก็จะไม่ต่างจากการใช้งานพร้อมเพย์ทุกวันนี้นัก
ขณะที่การพัฒนานวัตกรรม ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็กำลังเปิดรับความเห็นให้ทุกคนส่งแนวทางการการใช้งานที่เป็นนวัตกรรมไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านทาง CBDC Hackathon เพื่อสำรวจว่าภาคธุรกิจมีความต้องการใช้งานประเภทใดบ้าง
กระบวนการทดสอบนี้จะมีช่วงเวลาจำกัด คาดว่าจะทดสอบถึงกลางปี 2023 แล้วหยุดการทดสอบเพื่อประเมินผลต่อไป ไม่เหมือนโครงการทดสอบ Retail CDBC ของจีนที่ทดสอบเป็นวงกว้างมากและขยายไปเรื่อยๆ
Retail CBDC ถ้าใช้งานจริงต้องมีเทคโนโลยีของตัวเอง สร้างนวัตกรรมใหม่
คุณกษิดิศยังระบุถึงอนาคตของ Retail CBDC ว่าหากมีการใช้งานจริงในอนาคตก็นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ควรผูกกับผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง แม้ตอนนี้ช่วงทดสอบจะใช้เทคโนโลยีของ G+D ไป แต่หากจะใช้งานจริงก็ต้องสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง เพื่อให้มีความยืดหยุ่น สามารถควบคุมความเสี่ยงต่างๆ ด้วยตัวเองได้
การใช้งาน Retail CBDC ของแต่ละประเทศอาจจะต่างกันเพราะแต่ละประเทศก็มีปัญหาต่างกันไป เช่น จีนมีปัญหาที่ระบบโอนเงินอยู่ในมือของเอกชนไม่กี่ราย หรือสวีเดนที่มีอัตราการจ่ายผ่านบัตรสูงมาก สำหรับประเทศไทยเองกระบวนการจ่ายเงินผ่านพร้อมเพย์สามารถใช้งานได้ดีและไม่มีการผูกขาดกับผู้ให้บริการน้อยรายนัก แนวทางของไทยนั้น CBDC การสร้าง CBDC จึงเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คุณสมบัติ programmability เข้าไปกำหนดการทำงานของเงิน หรือการถ่ายโอนมูลค่าไปยังระบบอื่นๆ เป็น synthetic CBDC ซึ่งกระบวนการเหล่านี้อาจจะทำได้ยากในระบบธนาคารเดิมๆ ที่ไม่ใช่ CBDC เพราะธนาคารต้องบริหารสภาพคล่องของตัวเอง การเปิดให้ผู้ใช้สามารถสร้างเงื่อนไขกับบัญชีตัวเองได้อย่างอิสระก็จะมีความเสี่ยงสภาพคล่องเพิ่มขึ้นมา ขณะที่ผู้ให้บริการ CBDC นั้นเป็นเพียงผู้ถือเงินแทนเจ้าของเท่านั้น ไม่มีความเสี่ยงสภาพคล่องแต่อย่างใด
Source: Blognone

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"