ได้เวลารัฐบาลตั้ง Economic War Room สู้สงครามเศรษฐกิจ

ใครที่ติดตามข่าวสารทุกวันนี้ย่อมจะต้องรับรู้ว่าธนาคารกลางของเราได้ส่งสัญญาณให้คนไทยเตรียมรับมือกับ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” กันให้พร้อมแล้ว ผมคิดว่าที่คนไทยต้องเตรียมรับมือนั้นมีมากกว่าแค่ดอกเบี้ยจะสูงขึ้นเท่านั้น

แต่ยังมีเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่อง เงินบาทอ่อนและเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง
นักเศรษฐศาสตร์อาจจะกำลังถกเถียงกันว่าสถานการณ์วันนี้จะเข้าข่าย Stagflation ซึ่งมาจากคำว่า Stagnation กับ Inflation หรือ “ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองซ้ำเติมด้วยเงินเฟ้อ”
แต่สำหรับชาวบ้านทั่วไปมันคือพายุหลายลูกถาโถมเข้ามาพร้อมกันแล้ว
นั่นคือรายได้หดหาย แต่ข้าวของแพงขึ้น ชีวิตลำบากขึ้นกันทั่วหน้า
ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ออกมาสูงถึง 7.1% ในเดือนพฤษภาคม และยังมีแนวโน้มสูงไปอีกได้นั้น เป็นประเด็นที่ทำเอาทุกวงการต้องเกิดความกังวลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม...และเป็นห่วงเงินในกระเป๋าที่มีค่าลดน้อยลง
ความไม่แน่นอนและค่อนข้างสับสนสะท้อนจากผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. สัปดาห์ที่แล้ว
เกิดอาการ “เสียงแตก” ด้วย ‘มติ 4 ต่อ 3’ คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50%
แต่ส่งสัญญาณชัดเจนว่าแนวโน้มจะไปในทางขึ้นดอกเบี้ย
อ่านระหว่างบรรทัดประโยคนี้จะเข้าใจว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า
ตอนหนึ่งของคำชี้แจงของ กนง. อ่านได้ความว่า
“นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากระดับปัจจุบัน จะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า”
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา คุณปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมว่า คณะกรรมการมีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี
โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เป็น 0.75 ต่อปี
กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่องและมีโอกาสฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ จากอุปสงค์ในประเทศ และแรงส่งจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
ส่วนด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้เดิม จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและการส่งผ่านต้นทุนที่มากและนานกว่าคาด
“เมื่อมองไปข้างหน้า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลง”
คำแถลงนั้นแจ้งต่อว่า
อย่างไรก็ดี เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามคาด กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในการประชุมครั้งนี้
โดยจะติดตามพัฒนาการของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
ส่วนกรรมการเสียงข้างน้อย 3 ท่านเห็นว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนเพียงพอที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้
คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจะขยายตัวในปี 2565 และ 2566 ที่ร้อยละ 3.3 และ 4.2 ตามลำดับ
เป็นผลจากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีกว่าคาดมาก โดยเฉพาะในหมวดบริการ
รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศที่เร็วขึ้น
นอกจากนี้ ตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนมีสัญญาณปรับดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง
ขณะที่การระบาดของ COVID-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยจำกัด
อย่างไรก็ดี ต้องติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยเฉพาะผลกระทบจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อการบริโภคภาคเอกชน
ประเด็นด้านอัตราเงินเฟ้อเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนไทยต้องให้ความสนใจมากกว่าเดิม
เพราะบทวิเคราะห์ของ กนง. บอกว่าเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.2 และ 2.5 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี 2565 ตามราคาพลังงานโลก และการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้น และกระจายตัวในหมวดสินค้าหลากหลายขึ้น
แต่ประเมินว่ายังเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไป “มีความเสี่ยงมากขึ้น” จากราคาน้ำมันโลกที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้ การส่งผ่านต้นทุนที่อาจมากและเร็วกว่าคาด และแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
คณะกรรมการบอกว่าจะติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อและการส่งผ่านต้นทุน รวมถึงเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางอย่างใกล้ชิด
คณะกรรมการประเมินว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนขึ้น
จึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ คณะกรรมการจะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป
ผ่านมาเพียงวันเดียว ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ หรือ TISCO ESU ประเมินว่า กนง.คงทยอยขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ในทุกรอบการประชุม 3 ครั้งช่วงที่เหลือของปีนี้
และหนุนดอกเบี้ยนโยบายให้แตะ 1.25%
โดยคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.25% ในทุกการประชุมที่เหลือของปี 2565 ซึ่งได้แก่ เดือนสิงหาคม กันยายน และพฤศจิกายน
ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสที่ 1.25% ณ สิ้นปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.50%
แต่โอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากถึง 3 ครั้งในปีนี้อาจลดลง ซึ่งขึ้นอยู่กับพัฒนาการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นสำคัญ
เช่น หากสงครามยูเครนดีขึ้นอย่างมีนัยจนนำไปสู่การลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นวงกว้าง และ/หรือรัฐบาลเพิ่มการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล อาทิ การปรับลดเพดานราคาน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 35 บาทต่อลิตร ซึ่งจะช่วยทำให้การส่งผ่านของต้นทุนลดลงและลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อให้ต่ำลง เป็นต้น
แต่ก็ยอมรับว่าสถานการณ์หลายอย่างยังนับว่ามีความท้าทายและมีความไม่แน่นอนอยู่มาก
ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสมือน “ทำสงครามกับพายุร้ายทางเศรษฐกิจ”
นั่นหมายถึงการมียุทธศาสตร์สงครามด้านเศรษฐกิจ...พร้อมทั้งรุกและรับ มี Economic War Room (EWR) ที่ระดมทรัพยากรและบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทำ Operation ที่พร้อมจะโยกทรัพยากรทุกประเภทไปใน “แนวรบ” ที่สอดคล้องกับการรับกับการ “โจมตี” ของภัยคุกคามทางเศรษฐกิจที่มีมิติทั้งด้านความมั่นคง, สังคม, โลกร้อนและไซเบอร์ตลอดเวลา.
Source: ThaiPost

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"