ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ยอมรับว่าเงินเฟ้อในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นกว่า 5% ในไตรมาส 2 และ 3 ในปีนี้ จากราคาพลังงานและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลัก ก่อนที่จะปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2066”
คือคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2023 จะลดลงเหลือเพียง 1.7%
กนง. “ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์อยู่ในระดับต่ำ จึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ”
แต่ตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาจริงนั้นกำลังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดดังปรากฏตามภาพ
เงินเฟ้อประเทศไทยนั้น เริ่มขยับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปลายปีที่ผ่านมา กล่าวคือเงินเฟ้อทั้งปีในปี 2021 เท่ากับ 1.23% แต่อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม 2021 ขยับขึ้นเป็น 2.17% ตามด้วย 3.23% ในเดือนมกราคมและ 5.28% ซึ่งเกินกว่า 5% ตั้งแต่ไตรมาส 1 แล้วและน่าจะยังต้องปรับสูงขึ้นต่อไปอีก
เพราะในอนาคตรัฐบาลตรึงราคาดีเซลและราคาก๊าซหุงต้มเอาไว้ที่ระดับปัจจุบันไม่ได้ นอกจากนั้นหากเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น เราก็คงจะได้เห็นแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานเพราะปัจจุบันก็ได้มีการกล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างกว้างขวาง
ผมมองว่าในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อไม่น่าจะชะลอตัว แต่น่าจะรุนแรงขึ้นมากกว่า เช่น คำขู่ของรัสเซียให้จ่ายค่าซื้อพลังงานรัสเซียเป็นเงินรูเบิล ที่ทำให้เกิดความเป็นห่วงว่าการขนส่งก๊าซจากรัสเซีย จะถูกกระทบกระเทือนได้และกำลังเกิดขึ้น
ในขณะที่เงินเฟ้อที่ยุโรปปรับตัวสูงขึ้นถึง 7.5% ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสูงกว่าเป้าเงินเฟ้อของธนาคารกลางยุโรปถึง 3 เท่าตัว
ในทำนองเดียวกัน เงินเฟ้อที่สหรัฐก็ปรับตัวสูงขึ้นถึง 6.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กล่าวคือเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วที่มีจีดีพีคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 42% ของจีดีพีโลกดูเหมือนว่ายังร้อนแรงอย่างมาก ดังนั้นผมจึงคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อของไทยในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 จึงน่าจะ “สูงกว่า 5%” ค่อนข้างมากและอาจใกล้กับตัวเลข 2 หลักก็เป็นได้
ที่สำคัญคือผมสงสัยว่าเงินเฟ้อจะไม่สามารถปรับตัวลงได้โดยง่ายดังที่กนง.คาดการณ์เอาไว้ในปีหน้าเพราะการที่รัฐบาลกำลังปล่อยให้ราคาพลังงานค่อยๆ ปรับตัวขึ้นยืดเยื้อต่อไปอีกหลายเดือน
นอกจากนั้นผมมองว่าการที่ปัจจุบันปุ๋ยขาดแคลนอย่างมาก น่าจะส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยต่ำกว่าในอดีต ทำให้ราคาสินค้าเกษตรน่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างถ้วนหน้าในปลายปีนี้เมื่อตลาดทราบถึงปริมาณพืชผลที่จะเก็บเกี่ยวได้จริงในครึ่งหลังของปีนี้
เราจะให้ความสำคัญกับการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ แต่ในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมานั้นราคาปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าราคาพลังงาน เช่นจากเดือนธันวาคม 2021 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 (ก่อนที่รัสเซียบุกยูเครน) ราคาน้ำมัน Brent ปรับตัวเพิ่ม 116% แต่ราคาปุ๋ย (วัดจากข้อมูลดัชนีราคาปุ๋ยของธนาคารกลางสหรัฐ) ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปถึง 154% ในช่วงเดียวกัน
ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือการปรับตัวขึ้นของราคาอาหารวัดจากดัชนีขององค์การอาหารและการเกษตร (Food and Agriculture Organization Food Price Index) ซึ่งตัวเลขล่าสุดคือเดือนกุมภาพันธ์พบว่าราคาอาหารโดยรวมเพิ่มขึ้น 20.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (เพิ่มน้อยกว่าราคาปุ๋ยอย่างมาก)
ทั้งนี้ราคาอาหารที่เพิ่มมากที่สุดคือน้ำมันพืช ซึ่งเพิ่มขึ้น 46% ในขณะที่ราคาธัญพืชเพิ่มขึ้นเพียง 14.8% แต่ที่ย่ำแย่ที่สุดคือราคาข้าวไทยซึ่งลดลง 12% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าเกษตรกรที่จะต้องเริ่มตัดสินใจเพาะปลูกและซื้อปุ๋ยในไตรมาส 2 แต่คงจะซื้อปุ๋ยน้อยลงจากปกติอย่างมาก เพราะปุ๋ยแพงและ/หรือหาซื้อไม่ได้ โดยประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 95% ของความต้องการใช้ทั้งหมด
ดังนั้นจึงจะมีความเสี่ยงสูงว่าผลผลิตทางการเกษตรในปลายปีนี้คงจะต่ำกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้ราคาอาหารไม่ปรับลดลง แต่จะปรับตัวสูงขึ้น หมายความว่าเงินเฟ้อไม่น่าจะลดลงในปลายปีนี้
หากประเทศไทยต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานนับปี สิ่งที่น่าจะตามมาคือการเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 1 ปีข้างหน้า ซึ่งผมเชื่อว่าจะไม่มีพรรคการเมืองใดต่อต้านข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประชาชนหลายคนคงจะเผชิญปัญหารุมเร้าทั้งราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นและหนี้สินครัวเรือนก็ยังอยู่ในระดับสูง
นักเศรษฐศาสตร์ทราบกันดีว่าเมื่อมีการเรียกร้องปรับขึ้นเงินเดือนที่สืบเนื่องมาจากการปรับตัวขึ้นอย่างกว้างขวางของราคาสินค้าและบริการ ก็จะนำไปสู่สภาวะ Wage-Price Spiral ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อ “ติดลมบน”
คือปรับขึ้นแล้วไม่ยอมลงเพราะเมื่อต้องปรับขึ้นค่าจ้างก็ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นต่อไปอีก ผู้ประกอบการจึงต้องปรับราคาสินค้าและบริการขึ้นในรอบต่อไป ทำให้ผู้ใช้แรงงานจำต้องเรียกร้องการเพิ่มปรับขึ้นของค่าจ้างแรงงานต่อไปอีก
ข้อพิจารณาอีกข้อหนึ่งคือปัจจัยภายนอกว่าจะต้องเผชิญกับภาวะ Wage Price Spiral อย่างกว้างขวางหรือไม่ ซึ่งคำตอบคือมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐและที่สหภาพยุโรป แต่ยังไม่เห็นภาพชัดเจนที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน แต่ในกรณีของประเทศจีนนั้นผมมีข้อคิด 2 ข้อคือ
1.ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานั้น จีนเปิดประเทศและประชากรอยู่ในวัยทำงานมีมากและจำนวนเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด แต่จากนี้เป็นต้นไปจีนกำลังพยายามปราบ COVID ให้ราบคาบโดยการ Lockdown ทำให้กระทบกับการผลิตสินค้าและวัตถุดิบป้อนโลกในราคาถูก
และจีนเองก็กำลังเผชิญกับปัญหาประชากรสูงอายุและขาดแคลนแรงงาน จะทำให้ต้นทุนการผลิตในจีนมีแต่เพิ่มขึ้นและไม่สามารถเป็นแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกเพื่อกดอัตราเงินเฟ้อของโลกให้ต่ำเช่นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
2.ความขัดแย้งของ 2 ขั้วมหาอำนาจคือสหรัฐกับจีน มีความชัดเจนยิ่งขึ้นจากการยึดครองยูเครนของรัสเซีย ซึ่งจีนให้การสนับสนุนอย่างเปิดเผย ปรากฎการณ์ดังกล่าวกำลังเร่งการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทานของโลก (global supply chain) ออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งความพยายามปรับโครงสร้างการผลิตดังกล่าวย่อมจะต้องทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญใน 5-10 ปีข้างหน้า
นอกจากนั้นผมขอตั้งประเด็นว่าธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นนั้น แม้จะแสดงท่าทีอย่างแน่วแน่ว่าต้องการปราบเงินเฟ้อให้ราบคาบภายในปีนี้ แต่หากพิจารณาความเสี่ยงให้ดีแล้ว ก็จะเห็นว่าหากปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้นมากเกินไปและเร็วเกินไป จนกระทั่งเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอย
ผลที่จะตามมานั้นคือวิกฤติเศรษฐกิจที่ยากต่อการกอบกู้เพราะภาครัฐไม่มีเครื่องมือทางนโยบายเพื่อจัดการกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำ กล่าวคือไม่มี policy space ทั้งในด้านนโยบายการคลัง (เพราะสร้างหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลไปแล้วตอนต่อสู้กับ COVID-19) และดอกเบี้ยนโยบายก็ยังไม่สูงมาก เช่นการลดดอกเบี้ยลงจาก 2.5% เหลือ 0% ก็คงจะไม่ได้ลผลอะไร
เมื่อเป็นเช่นนั้นอาจมองได้ว่าเงินเฟ้อที่สูงและยืดเยื้อต่อไปอีก 2-3 ปีนั้น ยังน่าจะเป็นภัยอันตรายน้อยกว่าการที่จะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2023 หมายความว่า “inflation is the lesser of the two evils” ครับ
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you