มีข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า การประชุม ครม. วันที่ 29 มีนาคม จะมีการพิจารณาความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เสนอโดย นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่ง ครม.
ได้ส่งไปขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนจะส่งต่อให้สภาผู้แทนฯพิจารณา
รายงานข่าวกล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นพ้องกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข พ.ร.บ.ธปท. ซึ่งการแก้ไขกฎหมายแบงก์ชาติครั้งนี้ จะเปิดช่องให้ “นักการเมือง” เข้าไป ล้วงลูกธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายต่อระบบการเงินของประเทศเป็นอย่างยิ่ง
ปลายปี 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพิ่งได้ปลื้มที่ บริษัท S&P Global Rating (S&P) สหรัฐฯ คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable)
หนึ่งในสองเหตุผลที่ S&P คงอันดับเครดิตประเทศไทยที่ BBB+ ก็คือ ภาคการเงินต่างประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และ สภาพคล่องและทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง โดย S&P คาดว่า สภาพคล่องต่างประเทศของไทยยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ (ทุนสำรองต่างประเทศของไทยล่าสุดอยู่ที่ 242,700 ล้านดอลลาร์) การดำเนินนโยบายทางการเงิน และ การรักษาเสถียรภาพด้านราคา เป็น ปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยสนับสนุน อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย
เห็นไหมครับ นโยบายการเงินของแบงก์ชาติ มีความสำคัญต่อ ความน่าเชื่อถือของประเทศไทยขนาดไหน ถ้าให้นักการเมืองเข้าไปล้วงลูกได้ อันดับเครดิตประเทศมีหวังหล่นปิ๋ว
การที่ แบงก์ชาติเป็นอิสระจากการเมือง ทำให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อถือในเรื่องนโยบายการเงิน ที่ผ่านมามีนักการเมืองพยายามเจาะ “ความเป็นอิสระ” ของแบงก์ชาติมาหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ล่าสุด คุณพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ธปท. โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อให้รัฐสภาได้รับทราบแนวทางการดำเนินงาน ของแบงก์ชาติ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงิน และระบบสถาบันการเงิน ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
เห็นไหมครับ การเสนอแก้ไขกฎหมายแบงก์ชาติครั้งนี้เปิดช่องให้นักการเมืองเข้าไปล้วงลูกการบริหารงานของแบงก์ชาติโดยตรง โดยเฉพาะ สถาบันการเงิน ถ้า นักการเมืองมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ได้ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติ อะไรจะเกิดขึ้นผมเชื่อว่า นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ นักธุรกิจไทย และ นักธุรกิจทั่วโลก คงจินตนาการออก
แต่ใน ร่างแก้ไขมาตรา 61/1 กลับเขียนต่างจากเหตุผลที่ข้อแก้ไข โดยระบุ ให้ ธปท.จัดทำรายงานสภาพเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง วิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งแนวทางการดำเนินงานของ ธปท.เสนอต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน เพื่อรายงานให้ที่ประชุมสภาผู้แทนฯและวุฒิสภาทราบ
ทุกวันนี้ แบงก์ชาติก็จัดทำรายงานเศรษฐกิจเผยแพร่ต่อสาธารณะทุกเดือนอยู่แล้ว และ สภาพัฒน์ก็มีการแถลงภาวะเศรษฐกิจทุกเดือน และแถลงตัวเลขจีดีพีทุกไตรมาส ก็ไม่รู้ว่า ส.ส. ท่านไปอ่านอะไร จึงไม่ได้อ่านรายงานภาวะเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ที่มีการรายงานทุกเดือน แต่กลับอ้างเป็นเหตุผลในการแก้กฎหมายแบงก์ชาติ เพื่อให้นักการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลสถาบันการเงิน ก็ไม่รู้ว่ามี “เจตนาแฝง” อะไรหรือไม่
ผมหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะทบทวนเรื่องนี้ให้รอบคอบ ถ้าให้นักการเมืองมีอำนาจล้วงลูกแบงก์ชาติเมื่อไหร่ อันดับ เครดิตประเทศไทย อาจร่วงไปสู่ ระดับขยะ Non-Investment Grade ก็ได้ และเราจะหายนะกันทั้งประเทศ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
Source: ไทยรัฐออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you