อาทิตย์แล้วผมให้สัมภาษณ์รายการ Money Chat มีคำถามว่าสงครามจะสามารถนำไปสู่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในเศรษฐกิจโลกได้หรือไม่ วันนี้จึงอยากแชร์ความเห็นของผมในประเด็นนี้ สงครามที่กำลังเกิดขึ้นรวมถึงมาตรการคว่ำบาตร
จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกผ่านสามช่องทาง
หนึ่ง คือ ตลาดการเงิน ซึ่งมีในสองระดับ ระดับแรกคือความผันผวนในตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนของสงคราม ที่ทำให้ความเสี่ยงในการทำธุรกิจและการลงทุนเพิ่มสูงขึ้น ตลาดการเงินผันผวนจากการปรับพอร์ตของนักลงทุนออกจากสินทรัพย์ที่เสี่ยงไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย กระทบราคาสินทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยน และการเคลื่อนย้ายเงินทุน
ส่วนระดับสองคือ ผลที่มาตรการคว่ำบาตรมีต่อธุรกิจทั้งในรัสเซียและประเทศตะวันตก โดยเฉพาะผลต่อธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐและยุโรปที่ทำธุรกิจและให้กู้ยืมกับธนาคารและบริษัทในรัสเซียที่จะไม่ได้รับการชำระคืนหนี้ ส่งผลต่อสภาพคล่อง ฐานะการเงินและเสถียรภาพของธนาคารเหล่านี้
ช่องทางที่สองคือ เงินเฟ้อที่จะปรับสูงขึ้นจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะเร่งตัวเพราะพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์เป็นต้นทุนสำคัญของการผลิตทุกประเภท ที่น่าห่วงสุดคือราคาอาหารที่จะกระทบค่าครองชีพและความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก
ช่องทางที่สาม คือผลต่อห่วงโซ่การผลิตและการขนส่งสินค้า ทำให้การผลิตจะไม่สามารถผลิตหรือส่งมอบสินค้าได้ เกิดความขาดแคลน นอกจากนี้มาตรการคว่ำบาตรจะทำให้อุปทานส่วนหนึ่งในตลาดโลกหายไป กดดันให้ราคาสินค้ายิ่งสูงขึ้น ปริมาณการค้าโลกหดตัว กระทบการส่งออกและการนำเข้าสินค้า
ผลกระทบจากสามช่องทางนี้จะทำให้เงินเฟ้อเป็นปัญหาใหญ่ปีนี้ ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อสหรัฐอยู่ที่ร้อยละ 7.9 สูงสุดในรอบ 40 ปี นำโดยการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและอาหาร เมื่อของแพง ประชาชนก็ลดการใช้จ่าย ประหยัดขึ้น
การลงทุนชะงักเพราะความไม่แน่นอน ทำให้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวจากโควิดยากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจรัสเซียและยูเครนที่จะทรุดลงจากการทำสงคราม อีกส่วนเพราะการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและปัญหาเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบทั่วโลก
อีกประเด็นที่สำคัญสำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ คือ สภาพคล่องเงินตราต่างประเทศ ว่าประเทศจะมีเงินตราต่างประเทศพอหรือไม่ที่จะใช้จ่ายและชำระหนี้ในยามที่ราคาน้ำมันและราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้นขณะที่รายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวลดลงตามเศรษฐกิจโลก กดดันให้ประเทศเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาดุลชำระเงิน
ในเรื่องนี้ความสามารถของประเทศที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ ปริมาณทุนสำรองที่มี และคุณภาพของนโยบายที่จะดูแลเศรษฐกิจให้ก้าวข้ามความเสี่ยงเหล่านี้ เป็นความท้าทายที่จะมีกับทุกประเทศ
คำถามที่ตามมาคือ ผลกระทบเหล่านี้จะสามารถทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดวิกฤติครั้งใหญ่ได้หรือไม่
ปรกติ วิกฤติเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นจากสองสาเหตุหลัก หนึ่ง ประเทศมีหนี้ต่างประเทศมากและไม่สามารถชำระหนี้ได้ เกิดผิดนัดชำระหนี้ ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน จนเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ
สอง ประเทศมีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจแต่ไม่เป็นวิกฤติ แต่เศรษฐกิจถูกซ้ำเติมโดยผลกระทบจากภายนอกทำให้เศรษฐกิจยิ่งอ่อนแอและไม่สามารถบริหารจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ จนเกิดวิกฤติ
สำหรับเศรษฐกิจโลกคราวนี้ ผลจากสงครามและมาตรการคว่ำบาตรทำให้เศรษฐกิจส่วนใหญ่อ่อนแอลง และโอกาสที่ความอ่อนแอเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดวิกฤติครั้งใหญ่ก็จะมาจากสองสาเหตุเช่นกัน
หนึ่ง มาตรการคว่ำบาตรทำให้รัสเซียไม่สามารถชำระหนี้ที่มีกับต่างประเทศได้ เกิดการผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐและยุโรปที่เป็นเจ้าหนี้เสียหาย ไม่ได้รับการชำระหนี้ ทำให้ธนาคารเหล่านี้ไม่สามารถชำระภาระหนี้ของตนที่มีกับธนาคารอื่นๆได้ ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของประเทศ คล้ายกรณีธนาคารลีห์แมนบราเธอร์ปี 2008 ที่เสียหายจากการลงทุนในตราสารซับไพรม์ ไม่สามารถชำระภาระหนี้ที่มีกับธนาคารอื่นๆ นำไปสู่การเกิดขึ้นของวิกฤติเศรษฐกิจโลก
คราวนี้ เท่าที่ดูตัวเลขความเป็นไปได้กรณีนี้ค่อนข้างต่ำ เพราะรัสเซียมีภาระหนี้ที่ต้องชำระคืนธนาคารในสหรัฐและยุโรปเพียงหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ เป็นตัวเลขที่ไม่สูงที่จะทำให้ธนาคารพาณิชย์เหล่านี้มีปัญหาฐานะ นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐและยุโรปคงช่วยเหลือธนาคารเหล่านี้เต็มที่เพราะความเสียหายเกิดจากมาตรการคว่ำบาตรของรัฐบาลเป็นสำคัญ
แต่สาเหตุที่สองมีความเป็นได้สูงกว่า คือเศรษฐกิจรัสเซียถูกกระทบจากผลของสงครามและมาตรการคว่ำบาตรจนเกิดวิกฤติ และวิกฤติที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้บางประเทศที่อ่อนแออยู่แล้ว ถูกซ้ำเติมและไม่สามารถบริหารจัดการผลกระทบที่เพิ่มขึ้นได้ จนเกิดวิกฤติและวิกฤติเกิดในหลายประเทศพร้อมกัน กลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลก
เท่าที่ประเมิน ความเป็นไปได้กรณีนี้เกิดขึ้นได้ถ้าสงครามยืดเยื้อและมาตรการคว่ำบาตรถูกขันน็อตให้รุนแรงขึ้น เช่น สหรัฐและประเทศในยุโรปลดการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเพื่อกดดันให้รัสเซียขาดเงินตราต่างประเทศที่จะพยุงเศรษฐกิจและทำสงคราม
ซึ่งรัสเซียตอบโต้ด้วยการไม่ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ คือยอมเจ็บตัวเพื่อให้อีกข้างเจ็บปวด ผลคือราคาพลังงานในตลาดโลกจะพุ่งทะลุเพดานอย่างไม่เคยมีมาก่อนและส่งผลกระทบไปทั่วโลก ราคาน้ำมันที่แพงมากจะทำให้เศรษฐกิจหลายประเทศมีปัญหา และนำเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤติ.
เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you