ยาต้านโควิดเป็นเครื่องมือที่มีแนวโน้มดีที่สุดที่จะทำงานร่วมกับวัคซีน ในการต่อสู้โรคระบาด โดยยาจะทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันที่สอง ซึ่งจะช่วยหยุดการลุกลามของโรคเมื่อมีการติดเชื้อ หากมีราคาไม่แพง ยาจะมีความสำคัญอย่างมาก
โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนจากข้อจำกัดในการเข้าถึงหรือข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ หรือกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ป่วยไม่มากพอจะเข้ารักษาในโรงพยาบาล แต่มีความเสี่ยงป่วยรุนแรง…"
หลังจากบริษัทไฟเซอร์ ผู้ผลิตยารายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยผลการทดลอง 'ยาเม็ดต้านโควิด' ที่มีชื่อว่า Paxlovid พบสามารถลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตสูงเกือบ 90%
นับเป็นยาต้านไวรัสโควิโดยเฉพาะตัวที่ 2 ถัดจากการคิดค้น 'ยาโมลนูพิราเวียร์' หรือ Molnupiravir ของบริษัทเมอร์ค บุคลากรการแพทย์หลายคน มองว่ายาต้านไวรัสโควิดนี้ เป็นตัวเปลี่ยนเกม ที่จะเข้ามาเป็นความหวังใหม่ในการสู้โควิด นอกเหนือจากวัคซีน เพราะมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโควิดสูง
ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกลาโหม ได้เร่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งซื้อยาเม็ดรักษาโควิดแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้ใช้เป็นคิวแรกๆ
นายกฯ เร่ง สธ.สั่งซื้อยารักษาโควิด หวังได้คิวแรกๆ กำชับตรวจเข้มขั้นตอนเข้าประเทศ
อย่างไรก็ตามการมียาต้านไวรัสโควิดที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเปลี่ยนเส้นทางของการระบาดใหญ่นี้ได้อย่างไร สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้แปลและเรียบเรียงข้อมูลจากเว็บไซต์ National Geographic เปิดเผยว่า หลายปีก่อนการระบาดของโควิดจะระบาดหนัก นักไวรัสวิทยาได้เริ่มค้นหายาต้านไวรัสอุบัติใหม่ที่สามารถปกป้องผู้คนจากโควิดได้ แต่การค้นหานั้นช้าและล้มเหลวอยู่บ่อยครั้ง
กระทั่งเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ยาโมลนูพิราเวียร์ ตัวใหม่ของบริษัทเมอร์คได้รับการอนุมัติจากสหราชอาณาจักรให้ใช้ภายในประเทศ ทำให้แนวโน้มสำหรับการรักษาโควิดเริ่มสดใสมากขึ้น
ยาต้านไวรัสต่างจากวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ โดยยาจะทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันที่สอง ซึ่งจะช่วยหยุดการลุกลามของโรคเมื่อมีการติดเชื้อ ที่สำคัญยายังมีความสำคัญเมื่อไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสำหรับโรคไวรัส เช่นเดียวกับกรณี HIV ไวรัสตับอักเสบซี และเริม
อย่างไรก็ตามการพัฒนายาต้านไวรัสโควิดโดยเฉพาะนั้น เป็นความพยายามที่ราคาและยาก ทำให้นักวิจัยมีการกลับไปดูยาเก่าหรือสารประกอบที่เคยทดสอบกับโรคอื่นๆ ว่าจะใช้รักษาโควิดได้ผลหรือไม่ อย่างยาเรมเดซิเวียร์ ของบริษัท Gilead Sciences ที่พัฒนาขึ้นสำหรับการรักษาการติดเชื้อไวรัสอักเสบซีและอีโบลา เป็นยาต้านไวรัสชนิดเดียวที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA)
ยาต้านโควิดเป็นเครื่องมือที่มีแนวโน้มดีที่สุดที่จะทำงานร่วมกับวัคซีนในการต่อสู้โรคระบาด หากมีราคาไม่แพง ยาจะมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนจากข้อจำกัดในการเข้าถึงหรือข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ
การทำงานของยาต้านไวรัส
เว็บไซต์ National Geographic เปิดเผยถึงการทำงานของยาต้านไวรัสว่า ไวรัสไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้เอง จึงต้องพึ่งพาเครื่องจักรของเซลล์เจ้าบ้านในการทำซ้ำ ซึ่งหมายความว่า ไวรัสจะต้องแทรกตัวเองเข้าไปในเซลล์ที่มีชีวิตและจี้กลไกของตัวเอง เพื่อสร้างสำเนาของตัวเองออกมาหลายพันชุด จากนั้นลูกหลายไวรัสเหล่านี้จะหลบหนีและแพร่เชื้อไปยังเซลล์เจ้าบ้านที่อยู่ใกล้เคียง แพร่กระจายโรคภายในร่างกายและไปสู่พาหะรายใหม่ต่อไป
ยาต้านไวรัส จึงมักจะทำงานโดยการป้องกันไม่ให้ไวรัสเกาะหรือเข้าไปในเซลล์ของเจ้าบ้านได้ หรือขัดขวางการจำลองแบบเมื่ออยู่ในเซลล์ของเจ้าบ้าน
ยกตัวอย่าง เช่น ยาเรมเดซิเวียร์ จะเลียนแบบหนึ่งในหน่วยการสร้างพันธุกรรมที่จำเป็นสำหรับโควิด จากนั้นจะรวมเข้ากับจีโนมของไวรัส ทำให้การจำลองแบบหยุดชะงัก ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์เอง ก็เลียนแบบให้คล้ายกันและทำให้เกิดข้อผิดพลาดระหว่างการจำลองแบบของไวรัส
ขณะที่ยาแพกซ์โลวิด ของบริษัทไฟเซอร์ ได้คิดค้นให้ยาขัดขวางการทำงานของเอ็นไซม์ที่เรียกว่าโปรตีนเอส SARS-CoV-2 และไวรัสอื่นๆ เช่น HIV โดยใช้เอ็นไซม์เหล่านี้แยกโปรตีนขนาดใหญ่ออกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วรวมกับสารพันธุกรรมของไวรัส เพื่อสร้างสำเนาไวรัสใหม่
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญหลายคนคิดว่าการสร้างกลไกแย่งชิงไวรัสไปจากเซลล์ของมนุษย์ จะทำให้มีประสิทธิภาพสูง แต่ที่น่ากังวลคือยาต้านไวรัสอาจสร้างความเสียหายต่อเซลล์ปกติได้ ทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง
“การพัฒนายาต้านไวรัส เพื่อต่อต้านโปรตีนจากไวรัสชนิดหนึ่ง ไวรัสจะมีแรงกดดันจากวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วในการกลายพันธุ์ และพัฒนาการดื้อยา ดังนั้นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ การใช้ยาต้านไวรัสหลายชนิดร่วมกัน 2-4 ชนิด ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติมาตรฐานสำหรับการต่อสู้กับ HIV หรือการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ที่ทำให้ไวรัสหลบหนีได้ยาก” Tia Tummino เภสัชกรจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟราซิสโก กล่าว
การแข่งขันพัฒนายาต้านโควิด
สำหรับเส้นทางการแข่งขันพัฒนายาต้านโควิด เว็บไซต์ National Geographic เปิดเผยว่า โดยปกติการทำยาต้านไวรัสสำหรับไวรัสตัวใหม่จะใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี ดังนั้นนักวิจัยจึงพยายามหายาที่มีอยู่นำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดเวลาในการรักษาโควิด
นักวิจัยเริ่มคัดกรองยารักษาโควิด จากการทดสอบว่ายาและสารประกอบที่ผ่านการรับรองจาก U.S. FDA มีผลต่อเชื้อโควิดหรือไม่ Laura Riva นักชีววิทยาด้านการคำนวณ ซึ่งก่อนหน้านี้ทำงานอยู่ที่สถาบัน Sanford Burnham Prebys Medical Discovery Institute ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ทำหน้าที่ทดสอบสารประกอบมากกว่า 12 ชนิด ร่วมกับเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งยาเรมเดซิเวียร์
การศึกษายาเรมเดซิเวียร์หรือยาต้านไวรัสในลิง เดือน มิ.ย.2563 นักวิจัยเห็นศักยภาพของยาในการต้านโควิด และในการทดลองทางคลินิกครั้งแรกในผู้ป่วยโควิดที่เข้ารักษาตัวอยู่โรงพยาบาล นักวิจัยเห็นว่ายานี้สามารถลดเวลาการพักฟื้นตัวได้ จึงได้รับการอนุมัติจาก U.S. FDA ให้เป็นยารักษาโควิดตัวแรกเมื่อ ต.ค.2563
ส่วนในการทดสอบยาต้านไสรัสอื่นอีกกว่า 33 ชนิด ในการทดลองทางคลินิกมากกว่า 300 รายการ กลับไม่ได้ผลเมื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโควิด แสดงให้เห็นว่าไม่มีทางลัดในการพัฒนายาต้านโควิด อย่างไรก็ตามต่อมาในปี 2564 ยาโมลนูพิราเวียร์ ได้ถูกพัฒนาขึ้นจากการใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ ให้มีศักยภาพในการต่อสู้กับโควิดโดยเฉพาะ และมีผลการทดลองทางคลินิกออกมามีประสิทธิภาพดี ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างมองว่ายานี้จะเป็นความหวังใหม่ในการสู้โควิด
ผลการทดลองทางคลินิกจุดประกายความหวัง
เว็บไซต์ National Geographic เปิดเผยอีกว่า ยาเรมเดซิเวียร์ เป็นยาต้านไวรัส ที่ต้องฉีดเข้าเส้นเลือดดำ แต่ยาโมลนูพิราเวียร์นั้น เป็นยาเม็ดาสำหรับต้านโควิดโดยเฉพาะที่สามารถกลืนได้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยโควิดวัยผู้ใหญ่ที่มีอาการเล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง และมีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง โดยจะให้กินวันละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5 วัน ช่วยลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลเสียชีวิต 50%
แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อค้นพบชั่วคราวที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ แต่บริษัทต่างๆ ได้ร่วมกันยื่นขออนุมัติยาจาก U.S. FDA ในกรณีฉุกเฉินเมื่อวันที่ 11 ต.ค.2564 และสหราชอาณาจักรอนุญาตให้ใช้ ยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา
ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ ยาต้านไวรัสชนิดแคปซูลที่ได้รับการพัฒนาเป็นครั้งแรกเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ในการทดลองขนาดเล็ก พบว่ายาสามารถรักษาผู้ป่วยโควิดในระกับเล็กน้อยไปจนถึงปานกลางได้ โดยสามารถล้างไวรัสโควิดในจมูกและลำคอ ซึ่งตอนนี้ประเทศญี่ปุ่น รัสเซีย และอินเดียก็ได้อนุมัติเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิดแล้ว
ขณะที่ยาแพกซ์โลวิด PF-07321332 ของบริษัทไฟเซอร์ ที่ได้รับการพัฒนาจากการใช้รักษาโรค SARS-CoV เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ให้เป็นยาต้านโควิดโดยเฉพาะชนิดแคปซูล เหมาะสำหรับผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ที่เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง โดยให้กินวันละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5 วัน ช่วยลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลเสียชีวิต 89%
เปรียบเทียบคุณสมบัติโมลนูพิราเวียร์-แพกซ์โลวิด
ทั้งนี้ ยาต้านโควิดของบริษัทเมอร์ค และบริษัทไฟเซอร์ ต่างเป็นยาที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อต้านโควิดโดยเฉพาะ และมีผลการทดลองทางคลินิกที่มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงสูง ซึ่งนักวิชาการหลายคนมองว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมสู้โควิด โดยเว็บไซต์ Reuters ได้นำเสนอความแตกต่างของยาต้านโควิดทั้ง 2 ยี่ห้อ มีข้อมูลดังนี้
ประสิทธิภาพ
ยาโมลนูพิราเวียร์ บริษัทเมอร์ค ผลการทดลองทางคลินิกในกลุ่มผู้เข้าร่วมทดสอบ 775 ราย แสดงให้เห็นว่า ในกลุ่มป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เมื่อได้รับยา สามารถลดการเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ 50% ภายใน 5 วัน หลังจากเริ่มมีอาการ
ยาแพกซ์โลวิด บริษัทไฟเซอร์ ผลการทดลองทางคลินิกในกลุ่มผู้เข้าร่วมทดสอบ 1,219 ราย แสดงให้เห็นว่า ในกลุ่มป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เมื่อได้รับยา สามารถลดการเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ 89% หากรีบให้ยาภายใน 3 วัน หลังจากเริ่มมีอาการ และสามารถลดการเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ 85% ภายใน 5 วัน
การทำงานของยา
ยาโมลนูพิราเวียร์ บริษัทเมอร์ค เป็นอะนาล็อกของนิวคลีโอไซด์ ที่มีกลไกการทำงานเพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดในรหัสพันธุกรรมของไวรัส เนื่องจากยาสร้างการกลายพันธุ์แบบสุ่มในไวรัส จึงเป็นเรื่องยากสำหรับไวรัสโควิดที่จะพัฒนาและต้านทานได้ ในการรักษายานี้ต้องกินต่อเนื่อง 5 วัน วันละ 2 ครั้ง คือ ยามเช้า 4 เม็ด และกลางคืน 4 เม็ด
ยาแพกซ์โลวิด บริษัทไฟเซอร์ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Protease Inhibitors ออกแบบมาเพื่อสกัดกั้นเอ็นไซม์ที่ไวรัสโควิดต้องการเพิ่มจำนวนขึ้น เนื่องจากยามุ่งเป้าไปที่ส่วนหนึ่งของไวรัสที่จำเป็นต่อการจำลองแบบ เชื้อโรคจึงไม่สามารถต้านทานการรักษาได้ ทั้งนี้ยานี้ต้องใช้ร่วมกับยาริโทนาเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสรุ่นเก่าที่กระตุ้นการทำงานของสารยับยั้งโปรตีเอส จึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงทางเดินอาหาร และรบกวนการใช้ยาอื่นๆ ในการรักษายานี้ต้องกินต่อเนื่อง 5 วัน วันละ 2 ครั้ง คือ ยามเช้า 3 เม็ด และกลางคืน 3 เม็ด
ความปลอดภัย
ยาโมลนูพิราเวียร์ บริษัทเมอร์ค ผลการทดลองทางคลินิกแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์จริงมีอาการไม่พึงประสงค์ 12% และผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกมีอาการไม่พึงประสงค์ 11%
ยาแพกซ์โลวิด บริษัทไฟเซอร์ ผลการทดลองทางคลินิกแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยประมาณ 20% ที่ได้รับยาแพกซ์โลวิดจริงและยาหลอกมีอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่รุนแรง แต่ที่ร้ายแรง สำหรับผู้ที่ได้รับยาจริง มีอยู่ 1.7% และผู้ที่ได้รับยาหลอกมีอยู่ 6.6%
ปริมาณการผลิต
ยาโมลนูพิราเวียร์ บริษัทเมอร์ค คาดว่าจะผลิตยาได้ 10 ล้านชุดภายในสิ้นปีนี้ อย่างน้อย 20 ล้านชุดในปี 2565
ยาแพกซ์โลวิด บริษัทไฟเซอร์ คาดว่าจะผลิตยามากกว่า 180,000 รายการภายในสิ้นปีนี้ และอย่างน้อย 50 ล้านรายการในปี 2565
ราคา
ยาโมลนูพิราเวียร์ บริษัทเมอร์ค ราคาอยู่ที่ชุดละ 700 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 23,261 บาท
ยาแพกซ์โลวิด บริษัทไฟเซอร์ มีรายงานว่าราคาจะใกล้เคียงกับยาโมลนูพิราเวียร์
แม้ว่าวัคซีนจะมีจำหน่ายไปทั่วโลกเพื่อควบคุมการระบาด แต่ก็ยังมีข้อจำกัดสำหรับผู้ติดเชื้อที่ป่วยไม่มากพอที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรง ยาต้านโควิดที่มีประสิทธิภาพสูงนับเป็นอีกความหวังใหม่ ที่จะอุดช่องว่างนี้ ให้การต่อสู้กับโควิดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
Source: สำนักข่าวอิศรา
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you