ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และวิกฤติโควิดก็ทำให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้นเพราะกระทบคนในสังคมแตกต่างกัน วิกฤติโควิดทำให้คนจนถูกกระทบมากกว่าคนรวย ที่ต้องตระหนักคือความเหลื่อมล้ำที่ประเทศมีจะไม่ดีขึ้นถ้าไม่มีการแก้ไข
และอาจเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและความยั่งยืนของประเทศได้ ทำให้สังคมต้องร่วมกันแก้ปัญหา นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นทั้งในเรื่องสาธารณสุขและเศรษฐกิจ กระทบคนในสังคมไม่เท่ากัน เพราะความสามารถในการหารายได้และรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นของคนในสังคมแตกต่างกัน ที่ถูกกระทบมากคือ คนจนที่มีช่องทางหารายได้จำกัดแต่มีจำนวนมาก
เมื่อถูกกระทบจากโควิด รายได้คนส่วนใหญ่จึงหายไปหรือไม่เพิ่ม ต่างกับคนรวยที่มีจำนวนน้อยกว่า แต่รายได้ขยายตัวแม้ถูกกระทบจากโควิด เพราะมีรายได้ทั้งจากการทำงานและสินทรัพย์ ความแตกต่างนี้ทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศยิ่งเพิ่มมากขึ้น
วิกฤติโควิดกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและความเหลื่อมล้ำในสามช่องทาง
1) กระทบรายได้จากเศรษฐกิจที่ไม่ขยายตัว ทำให้รายได้ลดลงหรือกิจการต้องปิด ทำให้ไม่มีรายได้หรือตกงาน
2) ความสามารถในการป้องกันตนเองจากการระบาด ทั้งในชีวิตประจำวัน เช่น มีหน้ากากอนามัย การได้รับการรักษาและเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างถูกต้องและทันเวลาเมื่อป่วย และการเข้าถึงวัคซีน
3) ความสามารถในการปรับตัวเมื่อวิกฤติเกิดขึ้น เช่น มีเงินออมที่จะใช้จ่ายเมื่อตกงาน ความสามารถในการเข้าถึงการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึงมีทรัพยากรที่จะช่วยในการปรับตัว เช่น การเรียนออนไลน์ ชัดเจนว่า คนจนจะมีปัญหาในทั้งสามเรื่องนี้มากกว่าคนรวย ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น ทั้งความเหลื่อมล้ำในรายได้และในโอกาสที่จะเข้าถึงบริการและสิ่งที่จำเป็นต่างๆ
สำหรับประเทศไทย มีอีกสามเรื่องเกี่ยวกับโควิดและความเหลื่อมล้ำที่เราต้องตระหนัก
หนึ่ง ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นเป็นผลจากโครงสร้างการกระจายรายได้ที่ประเทศมี ที่มีความเหลื่อมล้ำมาก ทำให้ผลกระทบและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิดจึงออกมาแบบตัวอักษร K ที่ให้ประโยชน์คนในสังคมต่างกัน
กล่าวคือ คนส่วนน้อยที่เป็นเหมือนเส้นลาดขึ้นของตัวอักษร K มีการขยายตัวของรายได้ แม้ประเทศจะประสบวิกฤติโควิด เป็นกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การส่งออก การขนส่ง เกษตร อาหาร เครื่องดื่มและการธนาคาร ที่ธุรกิจเหล่านี้ขยายตัวในช่วงโควิด
ขณะที่ธุรกิจกลุ่มบริการ การค้าและภาคท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี และเป็นฐานจ้างงานของคนรายได้น้อยจำนวนมากถูกกระทบมากจากวิกฤติโควิดและฟื้นตัวช้า เหมือนเส้นลาดลงของตัวอักษร Kความแตกต่างนี้ส่งผลต่อรายได้ของคนสองกลุ่มที่ต่างกัน กระทบการกระจายรายได้ของประเทศ
สอง ความเหลื่อมล้ำที่เศรษฐกิจมีจะไม่ดีขึ้นได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องมาจากการแก้ไขปัญหาที่จริงจัง นี่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ และการแก้ไขต้องทำในสองระดับ คือ ระดับก่อนการเกิดขึ้นของรายได้และระดับหลังการเกิดขึ้นของรายได้
ระดับก่อนการเกิดขึ้นของรายได้ หมายถึง ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีโครงสร้างที่กระจายรายได้จากการผลิตให้แก่กลุ่มคนต่างๆ อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งโครงสร้างนี้จะมาจากนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างโอกาสให้คนในประเทศมีความสามารถในการหารายได้เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัว
ตัวอย่างเช่น การปฏิรูปที่ดิน ที่ทำให้เกษตรกรมีโอกาสหาเลี้ยงชีพเพราะมีที่ดินเป็นของตนเอง โอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข โอกาสในการได้รับการศึกษาที่ดี โอกาสในการมีงานทำ โอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อและบริการทางการเงินเพื่อเริ่มธุรกิจ และโอกาสที่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
ทั้งหมดก็เพื่อให้ประชาชนสามารถยกระดับความสามารถในการหารายได้และความเป็นอยู่ของตนให้สูงขึ้นตามกลไกตลาด การแข่งขัน และตามสิทธิที่พึงได้ในฐานะประชาชน
ระดับหลังการเกิดขึ้นของรายได้ หมายถึงนโยบายที่จะทำให้การกระจายรายได้ที่เกิดขึ้นจากการผลิตเป็นธรรมมากขึ้น ผ่านนโยบายภาษีและ มาตรการใช้จ่ายของภาครัฐ เช่น การจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า คือ มีมากจ่ายมาก
ระบบภาษีที่เก็บจากทรัพย์สิน เช่น ภาษีที่ดินและ ภาษีที่เก็บจากการถ่ายเทความเป็นเจ้าของทรัพย์สินระหว่างรุ่น เช่น ภาษีมรดก ด้านการใช้จ่ายก็คือระบบการช่วยเหลือโดยภาครัฐเมื่อประชาชนชราภาพ เจ็บป่วยหรือตกงาน คือระบบสวัสดิการสังคม
มาตรการเหล่านี้ใช้กันแพร่หลายในต่างประเทศ และเป็นกลไกที่สร้างแรงจูงใจให้คนในประเทศทำงาน เพราะมั่นใจว่าการช่วยเหลือทางสังคมที่รัฐจัดให้จะทำให้ความเป็นอยู่ของตนมีการดูแลตามควรตลอดช่วงชีวิต
ระบบภาษีและมาตรการช่วยเหลือทั้งสองระดับนี้ อยู่ในวิสัยที่สังคมที่มีขนาดเศรษฐกิจอย่างประเทศเราสามารถจัดให้มีได้ เพื่อเป็นกลไกที่สร้างพลัง สร้างความหวังและความมั่นคงให้กับประชาชนของประเทศ แต่ข้อเท็จจริงคือ เรายังไม่ได้ทำอะไรมากในทั้งสองระดับนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศจึงมีมาก
สาม ความเหลื่อมล้ำถ้าไม่มีการแก้ไขก็จะรุนแรงมากขึ้น และอาจเป็นความเสี่ยงต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคม เพราะความเหลื่อมล้ำมีผลโดยตรงต่อความสมานฉันท์และความไว้วางใจระหว่างคนในสังคม ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ กล่าวคือ
ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงจะทำให้คนในสังคมอยู่กันอย่างไม่อบอุ่น ไม่สมานฉันท์ เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่จริงใจและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ผลคือสังคมจะเป็นเหมือนสองสังคมซ้อนกัน คือ สังคมคนมีและสังคมคนไม่มี ทำให้คนในสังคมมีโอกาสขัดแย้งกันสูง
เกิดเป็นความเสี่ยงต่อการทำธุรกิจและกระทบการลงทุน เมื่อธุรกิจไม่ลงทุน เศรษฐกิจก็จะขยายตัวในอัตราต่ำ ไม่มีการจ้างงาน ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ ความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งรุนแรง ส่งผลให้ความไม่สมานฉันท์และความขัดแย้งยิ่งมีมาก นี่คือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
ประเทศที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนจำเป็นที่ต้องมีความสมานฉันท์ของคนในสังคมเป็นเงื่อนไขสำคัญ คือ ไม่มีความแตกแยกหรือขัดแย้งรุนแรง ซึ่งสาเหตุหลักของความขัดแย้งมักมาจากความรู้สึกไม่เป็นธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากความเหลื่อมล้ำที่ประเทศมี ทั้งในการหารายได้ โอกาสและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ดังนั้น ประเทศควรต้องมีนโยบายที่ให้ความสำคัญในการดูแลเรื่องเหล่านี้ แต่สำคัญสุดคือคนในประเทศต้องตระหนักในปัญหาที่มี เข้าใจถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นถ้าปัญหาไม่มีการแก้ไข และร่วมกันสนับสนุนการแก้ไขปัญหาให้เกิดขึ้น.
โดย ร.บัณฑิต นิจถาวร | เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you