Net Zero เป็นประเด็นใหญ่ที่กำลังได้รับความสนใจทั่วโลก รวมทั้งในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ในขณะนี้
ภายใต้ข้อตกลงปารีส 2015 สมาชิกองค์การสหประชาชาติ 197 ประเทศบรรลุข้อตกลงแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วยการยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และถ้าเป็นไปได้จะควบคุมไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ นานาประเทศต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้เกือบครึ่งหนึ่งภายในปี 2028 และให้เหลือศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050
Net Zero คืออะไร
Net Zero คือ การไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มเติม หมายความว่าเราต้องทั้งลดการปล่อยก๊าซให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทั้งกำจัดก๊าซในปริมาณที่เทียบเท่ากันกับการปล่อยที่เกิดขึ้น
คำว่า Net Zero มีความสำคัญกับโลกและมนุษย์เรามาก เพราะหากมีก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะอย่างยิ่งคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงโอกาสที่จะหยุดยั้งภาวะโลกร้อนก็เพิ่มมากขึ้น
แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเราหยุดปล่อยก๊าซแล้วภาวะโลกร้อนจะหายไปทันที เพราะคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์ปล่อยไปนับล้านๆ ตันก่อนหน้านี้ยังคงอยู่ในชั้นบรรยากาศและดูดซับความร้อนไว้อีกหลายต่อหลายปี
จะกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไร
การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์ให้ทันภายใน 30 ปีเป็นเรื่องยากมาก เพราะไม่ใช่การปล่อยทุกประเภทจะลดให้เหลือศูนย์ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการชดเชยปริมาณก๊าซที่เหลือตกค้างอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้ซึ่งเป็นแหล่งกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบดั้งเดิม
แต่วิธีนี้ยังมีคำถามอยู่ว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูกเพียงพอหรือไม่ อีกทั้งการปลูกต้นไม้ยังต้องใช้เวลานาน และนักวิทยาศาสตร์บางรายยังห่วงว่าเราอาจต้องการน้ำมากขึ้นในการปลูกต้นไม้ซึ่งอาจก่อปัญหาอื่นตามมาอีก
หรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอย่างเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon capture and storage) คือการใช้เครื่องจักรดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศ แล้วทำให้เป็นของแข็ง จากนั้นนำไปฝังใต้ดินหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ก้อนหิน
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีนี้ยังใหม่ ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ และมีราคาสูงมาก คาดว่าต้องใช้เงินอย่างน้อย 600 เหรียญสหรัฐ หรือ 19,957 บาทต่อตัน ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งคือ ในอากาศมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 0.04% เท่านั้น การดักจับก๊าซออกมาจากอากาศจึงจำเป็นต้องใช้พลังงานจำนวนมาก
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเผยว่า การแก้ปัญหาด้วยวิธีธรรมชาติก็สำคัญแต่ว่ายังไม่เพียงพอ ขณะที่ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในขณะนี้ก็เกินกำลังที่เทคโนโลยีที่มีอยู่จะกำจัดได้หมด
ยกตัวอย่างเครื่องดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ Orca ในไอซ์แลนด์ที่เกิดจากความร่วมมือของ Climeworks บริษัทดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากสวิส กับ Carbfix ของไอซ์แลนด์ที่เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นก้อนหิน สามารถดักจับก๊าซได้เพียงปีละ 4,000 ตัน ขณะที่มนุษย์ปล่อยก๊าซหลายหมื่นล้านตัน
นอกจากนี้ ยังเป็นที่ถกเถียงกันถึงวิธีการที่บางประเทศจะใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero อาทิ ประเทศ ก.อาจลดการปล่อยก๊าซได้มหาศาลหากสั่งปิดอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เช่น การผลิตเหล็ก แต่หากประเทศ ก.สั่งนำเข้าเหล็กจากประเทศ ข. หลังปิดโรงงานของตัวเอง ประเทศ ก.เพียงส่งต่อการปล่อยก๊าซของตัวเองไปให้ประเทศ ข. ซึ่งไม่ได้ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมเลย
อีกหนึ่งหนทางคือ การให้ประเทศร่ำรวยชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของตัวเองด้วยการจ่ายเงินให้ประเทศยากจน เพื่อให้ประเทศยากจนเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด แต่ก็จะมีปัญหาตามมาอีกว่าประเทศร่ำรวยไม่ต้องการควักกระเป๋าก้อนใหญ่ ส่วนประเทศยากจนอาจเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงินเพิ่มขึ้น หรืออาจมองได้ว่าวิธีนี้จะทำให้ทั้งประเทศยากจนและประเทศร่ำรวยไม่แก้ปัญหาของตัวเองอย่างจริงจัง
สุดท้ายเราอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero แล้วต้องกอดคอกันเดินไปสู่จุดที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีกแล้ว
Source: Posttoday
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you