การที่บริษัท โคโลเนียล ไปป์ไลน์ ผู้ให้บริการเครือข่าย ท่อส่งน้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐ ที่ขนน้ำมัน เบนซินและน้ำมันสำหรับเชื้อเพลิงอากาศยานจากชายฝั่งเท็กซัสมายังพื้นที่หลายรัฐ ฝั่งตะวันออกของประเทศ ไปจนถึง มหานครนิวยอร์ก ถูกแฮกเกอร์โจมตีในรูปแบบ
แรนซัมแวร์ หรือมัลแวร์เรียกค่าไถ่ จนบริษัท ต้องปิดระบบลงชั่วคราว ตอกย้ำให้เห็นถึง ภัยคุกคามอุตสาหกรรมพลังงานของสหรัฐ ที่ปัจจุบันมีโครงสร้างพื้นฐานอันเปราะบาง และมีอายุการใช้งานนานมาก
โคโลเนียล ไปป์ไลน์ ระบุว่า ได้ปิดระบบท่อส่งน้ำมันความยาว 5,500 ไมล์ ซึ่งจัดส่งน้ำมัน และก๊าซในสัดส่วนมากถึง 45% ของการ ใช้พลังงานในรัฐฝั่งตะวันออก หลังพบว่า มีความพยายามภายนอกแทรกซึม เข้ามาในระบบ และหลังเกิดเหตุ บริษัท ได้พัฒนาแผนการเริ่มต้นระบบใหม่ โดยท่อส่งน้ำมันหลักของบริษัทยังคง ปิดทำการ ขณะที่ท่อส่งน้ำมันขนาดเล็กระหว่างสถานีอื่นๆ รวมถึงจุดขนส่งสามารถใช้งานได้ปกติแล้ว แต่บริษัทยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะกลับมาให้บริการได้ตามปกติ อย่างเต็มรูปแบบเมื่อใด
นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริษัท ด้านความมั่นคงไซเบอร์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 เข้ามาดำเนินการสอบสวน รวมทั้งติดต่อบริษัทกฎหมายและแจ้งให้หน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น
สอดคล้องกับคำพูดของ"จินา ไรมอนโด" รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ ที่บอกว่า รัฐบาลสหรัฐ พยายามไม่ให้เกิดปัญหาการติดขัดด้าน การขนส่งน้ำมันในรัฐต่าง ๆ ตั้งแต่รัฐเท็กซัส ไปจนถึงรัฐนิวเจอร์ซีย์ และพยายาม ช่วยให้บริษัทโคโลเนียล ไปป์ไลน์ กลับมา เริ่มให้บริการเครือข่ายท่อขนส่งน้ำมัน ได้อีกครั้ง
การโจมตีทางไซเบอร์ครั้งนี้ เป็นการโจมตี ระบบส่งน้ำมันใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ซึ่งหากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที อาจเกิดผลกระทบด้านความมั่นคงด้านพลังงาน ในพื้นที่มลรัฐฝั่งตะวันออกของสหรัฐทั้งหมด
"อัลเกิร์ด พิพิเคท"ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ ทางไซเบอร์ของศูนย์ความปลอดภัย ทางไซเบอร์อีโคโนมิก ฟอรัม ให้ความเห็นว่า การโจมตีทางไซเบอร์กับเครือข่ายท่อส่งน้ำมัน ฝั่งตะวันออกของสหรัฐครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงช่องโหว่ทางไซเบอร์ที่อาจสร้างผลกระทบ ต่อความมั่นคงด้านพลังงาน หากไม่มีการยกระดับความปลอดภัยด้านไซเบอร์ให้มีความเข้มงวดมากกว่านี้
"หากไม่มีการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ อาจเห็นแนวโน้ม การโจมตีระบบอุตสาหกรรมบ่อยครั้งขึ้น เช่น การโจมตีระบบท่อส่งน้ำมันและก๊าซหรือโรงบำบัดน้ำเสีย" พิพิเคท กล่าว
ขณะที่ "บ็อบ แมคแนลลี" อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายอาวุโสของทำเนียบขาว กล่าวว่า การปิดท่อน้ำมันเพราะระบบคอมพิวเตอร์ถูกโจมตีถือเป็นการหยุดชะงักด้านพลังงานครั้งใหญ่ของประเทศ นับตั้งแต่เกิดเหตุ โรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ของซาอุดีอาระเบียถูกโดรนโจมตีเมื่อปี 2561
อย่างไรก็ตาม บรรดาซัพพลายเออร์ด้านน้ำมันกำลังเร่งหาทางจัดส่งน้ำมันไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดแคลนน้ำมันที่อาจจะเกิดขึ้น
ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่บริษัทโคโลเนียล ไปป์ไลน์ ซึ่งการประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นไปเพื่อเปิดทางให้มีการขนส่งน้ำมัน ทางถนนได้ เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งสินค้าทางน้ำ ที่มีชื่อว่า โจนส์ แอค (Jones Act)
แต่ "โกราฟ ชาร์มา" นักวิเคราะห์อิสระ ด้านธุรกิจพลังงานให้ความเห็นว่า "ปริมาณน้ำมันที่ขนส่งทางถนนน้อยกว่าปริมาณ ที่ขนส่งทางท่อส่งน้ำมันอย่างมากและ ขณะนี้มีน้ำมันปริมาณมากติดค้างอยู่ ที่โรงกลั่นในรัฐเท็กซัส หากบริษัท พลังงานสหรัฐ ยังกู้สถานการณ์ไม่ได้ภายในวันอังคาร (11 พ.ค.) สหรัฐต้องเจอ ปัญหาใหญ่ และแอตแลนตาและเทนเนสซีเป็นพื้นที่แรกที่จะได้รับผลกระทบ จากปัญหานี้ก่อนที่ปัญหาจะลามไปถึงมหานครนิวยอร์ก"
ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ทะยานขึ้นกว่า 1% ในการซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์ช่วงเช้าของวานนี้(10 พ.ค.)หลังจากมีข่าวว่า ท่อส่งน้ำมันของบริษัท โคโลเนียล ไปป์ไลน์ ถูกโจมตีด้วย มัลแวร์เรียกค่าไถ่ โดยเมื่อเวลา 09.20 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 68 เซนต์ หรือ 1.05% เคลื่อนไหวที่ 65.58 ดอลลาร์/บาร์เรล
โคโลเนียล ไปป์ไลน์ ไม่ใช่บริษัทพลังงานรายแรกที่ถูกโจมตีทางไซเบอร์ เพราะ ไม่กี่เดือนก่อน สหรัฐถูกโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ถึงสองครั้งด้วยกัน คือโซลาร์วินด์ ที่ถูกโจมตีทางไซเบอร์จนทำให้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ของรัฐบาลสหรัฐและภาคเอกชนหลายพันแห่งได้รับความเสียหาย และ การเจาะเซิร์ฟเวอร์อีเมลของบริษัท ไมโครซอฟท์ จนสร้างผลกระทบต่อองค์กรในสหรัฐอย่างน้อย 30,000 แห่ง รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่น
ส่วนแฮกเกอร์ เจ้าของปฏิบัติการครั้งนี้นั้น สำนักข่าวหลายแห่งรายงานตรงกันว่า น่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มอาชญากรไซเบอร์ ที่ชื่อ"ดาร์กไซด์" ซึ่งเริ่มโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของโคโลเนียล ไปป์ไลน์ เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ด้วยการโจรกรรมข้อมูลเกือบ 100 กิกะไบต์ จากนั้นก็ปิดล็อก การเข้าถึงข้อมูลจากคอมพิวเตอร์และเซิร์ฟเวอร์บางส่วน เพื่อเรียกค่าไถ่ พร้อมทั้งขู่ว่า จะปล่อยข้อมูลนี้เข้าสู่อินเทอร์เน็ตหากบริษัทไม่ยอมจ่ายเงิน
การโจมตีทางไซเบอร์กับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของบริษัทพลังงานชั้นนำสหรัฐครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ชาวอเมริกันเริ่มกลับมาเดินทางอีกครั้ง เนื่องจาก มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการ แพร่ระบาดของโรคโควิด-19และทางการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศ ให้ได้มากที่สุด โดยข้อมูลจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยด้านการเดินทาง ของสหรัฐ(ทีเอสเอ) ระบุเมื่อวันศุกร์ (7 พ.ค.) ว่า มีชาวอเมริกันเดินทางจำนวนกว่า 1.7 ล้านคนถือเป็นตัวเลขการเดินทางสูงที่สุดในรอบกว่า 1 ปี
หากบริษัทพลังงานสหรัฐกู้สถานการณ์ไม่ได้ สหรัฐต้องเจอปัญหาใหญ่ แอตแลนตาและเทนเนสซี จะได้รับผลกระทบก่อนลามถึงนิวยอร์ก
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you