สถานการณ์รัฐประหาร “เมียนมา” ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายภาคส่วน หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมการผลิตแร่ “แรร์เอิร์ท” (rare-earth) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในอุปกรณ์เทคโนโลยี ซึ่งเมียนมาเป็นประเทศที่พบแร่เหล่านี้เป็นจำนวนมาก
แต่สถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้กำลังสร้างความเสี่ยงให้กับ “จีน” ที่พึ่งพาการนำเข้าแรร์เอิร์ทจากเมียนมา ซึ่งอาจจะเกิดการหยุดชะงักของการผลิตและนำไปสู่ภาวะขาดแคลนแรร์เอิร์ทได้
นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า หลังการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ได้เกิดความวุ่นวายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันกลุ่มธุรกิจต่างชาติบางส่วนได้ถอนความร่วมมือกับบริษัทในเมียนมา และอีกหลายบริษัทก็ได้หยุดดำเนินการเพื่อรอประเมินสถานการณ์และตัดสินใจทิศทางธุรกิจหลังจากนี้ ทำให้เกิดความกังวลว่าอุตสาหกรรมแรร์เอิร์ทในเมียนมาอาจหยุดชะงักไปด้วย
ทั้งนี้ แร่แรร์เอิร์ทเป็นกลุ่มแร่ธาตุหายาก เช่น เทอร์เบียมออกไซด์ (terbium oxide) โลหะนีโอดิเมียม (neodymium metal) และดิสโพรเซียมออกไซด์ (dysprosium oxide) ซึ่งขาดไม่ได้ในการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ตั้งแต่สมาร์ทโฟน รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เครื่องกำเนิดพลังงานลม และระบบป้องกันขีปนาวุธ
เมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่พบแหล่งแร่แรร์เอิร์ทเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2020 เมียนมาสามารถผลิตได้ถึง 30,000 ตัน คิดเป็น 12.5% ของการผลิตแรร์เอิร์ทรวมทั่วโลก ตามข้อมูลของกรมสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา ขณะที่จีนสามารถผลิตได้มากที่สุดในโลกอยู่ที่ 140,000 ตัน ในปี 2020 คิดเป็น 66.7% สหรัฐผลิตได้ 38,000 ตัน หรือ 15.8%
แม้จีนจะสามารถผลิตแรร์เอิร์ทได้เป็นจำนวนมาก แต่ยังคงไม่เพียงพอต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ ทำให้จีนต้องพึ่งพาการนำเข้าจากภายนอก โดยเฉพาะเมียนมาที่ภาคอุตสาหกรรมทางตอนใต้ของจีนใช้เป็นแหล่งซัพพลายหลัก เนื่องจากแหล่งแร่แรร์เอิร์ทของจีนอยู่ทางตอนเหนือของประเทศซึ่งห่างไกลและมีต้นทุนในการขนส่งสูงกว่า ส่งผลให้แรร์เอิร์ทของเมียนมากว่าครึ่งที่ผลิตถูกส่งออกไปยังจีน
แต่การรัฐประหารในเมียนมาทำให้จีนวิตกกังวล แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานว่าการผลิตแรร์เอิร์ทในเมียนมาหยุดชะงักลงในขณะนี้ แต่ “หม่า จินหลง” นักวิเคราะห์ของบริษัทการลงทุน เจ้อซาง ซีเคียวริตีส์ ระบุว่า “ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในเมียนมาอาจนำมาซึ่งความไม่แน่นอนของการจัดหาแรร์เอิร์ท”
ความกังวลดังกล่าวทำให้เกิดภาวะอุปทานตึงตัว รวมกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมจีนที่ฟื้นตัวในเวลานี้ ส่งผลให้มูลค่าของแร่แรร์เอิร์ทเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ข้อมูลของ “ทอมสัน รอยเตอร์ส” เปิดเผยราคาซื้อขายทันที (spot prices) ของแรร์เอิร์ทในจีนแผ่นดินใหญ่ในสิ้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เทียบกับ ต.ค. 2020 พบว่าราคาของเทอร์เบียมออกไซด์พุ่งขึ้นถึง 95% ส่วนโลหะนีโอดิเมียมเพิ่มขึ้น 87% และดิสโพรเซียมออกไซด์เพิ่ม 65%
นอกจากนี้ทางการจีนได้เพิ่มโควตาการผลิตแร่แรร์เอิร์ทในประเทศให้กับบริษัทผู้ผลิตแรร์เอิร์ทจีน 6 ราย หนึ่งในนั้นคือบริษัทไชน่านอร์เธิร์นแรร์เอิร์ธ (กรุ๊ป) ไฮเทค ที่ได้สัมปทานการขุดแร่เพิ่มเติมในพื้นที่ไบยุน โอโบ (Bayan Obo) ในเขตมองโกเลียในของจีน ทำให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2021 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 84,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2020
“ไรอัน คาสติลลูกซ์” กรรมการผู้จัดการของบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ อดามาส อินเทลลิเจนซ์ ชี้ว่า สถานการณ์ในปัจจุบันทำให้จีนเห็นควาเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากการพึ่งพาแรร์เอิร์ทของเมียนมา และอาจเป็นประเด็นหนึ่งที่กำหนดท่าทีไม่พอใจของรัฐบาลจีนต่อการรัฐประหารในเมียนมาครั้งนี้
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
----------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you