การขาดแคลน เซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิพ ที่กำลังเป็นปัญหาของโลกในขณะนี้ เดินมาถึง จุดเปลี่ยนที่สำคัญ เมื่อสหรัฐออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ก่อนที่ปัญหานี้จะบานปลายกลายเป็นการแย่งชิงเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างบริษัทกับบริษัท อุตสาหกรรมกับอุตสาหกรรม
หรือแม้กระทั่งประเทศกับประเทศ
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ลงนาม รับรองคำสั่งพิเศษกำชับหน่วยงานรัฐบาล เข้าตรวจสอบและหาแนวทางแก้ไขปัญหาระบบห่วงโซ่อุปทานสินค้าที่มีปัญหา อย่างเช่น สินค้าเซมิคอนดักเตอร์ แร่ธาตุและวัสดุ ที่สำคัญ ส่วนผสมที่ใช้ในสินค้าเภสัชกรรม และแบตเตอรี่ขั้นสูงที่ใช้ในรถอีวี ภายในระยะเวลา 100 วัน
ประธานาธิบดีสหรัฐ ระบุว่า สิ่งสำคัญตอนนี้ คือการหาจุดอ่อนภายในระบบห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเตรียมหาทางเลือกอื่น หรือการแก้ไขเนื่องจากสหรัฐต้องมีซัพพลายเชนที่มั่นคงและน่าเชื่อถือ สินค้าอย่างชิพคอมพิวเตอร์ และ เซมิคอนดักเตอร์ที่กำลังขาดแคลน สร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวงแก่เศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งรัฐบาลไบเดนจะร่วมมือกับผู้นำภายในอุตสาหกรรมเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้
"เราควรป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติซัพพลายเชนขึ้นตั้งแต่แรก ไม่ใช่ต้อง มาคอยแก้ไข" ไบเดน กล่าวและว่า ในบางกรณี การแก้ปัญหาชิพขาดแคลนอาจหมายถึงการเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศและ บางกรณีอาจหมายถึงการทำงานอย่างใกล้ชิด กับเพื่อนและหุ้นส่วนของเราที่ไว้ใจได้ หรือแม้แต่ประเทศต่างๆ ที่ร่วมแบ่งปันมูลค่ากับเรา เพื่อที่ว่าระบบห่วงโซ่อุปทานของเรา จะไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องต่อรองที่ทำให้เรา อยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ"
ตั้งแต่สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา ไบเดนได้เซ็นรับรอง คำสั่งพิเศษหลายฉบับที่มุ่งเน้นเรื่องการฟื้นฟู เศรษฐกิจสหรัฐที่ได้รับความเสียหายจากการถูกทำลายเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ในส่วนของเซมิคอนดักเตอร์และแบตเตอรี่อีวี สหรัฐต้องทำงานร่วมกับไต้หวัน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ในส่วนของแร่หายากนั้น สหรัฐต้องร่วมทีมกับออสเตรเลียเพื่อท้าทายความเป็นจ้าวตลาดแร่หายากของจีน
"การทำงานเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ สหรัฐไม่ได้ตั้งใจที่จะดำเนินการ ตามลำพังและการกำจัดจุดอ่อนในเรื่องนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตภายในประเทศเท่านั้น" ซามีรา ฟาซิลิ รองผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจ แห่งชาติของสหรัฐกล่าว
ด้านปีเตอร์ ฮาร์เรลล์ ผู้อำนวยการอาวุโสแผนกเศรษฐกิจและการแข่งขันระหว่างประเทศของสภาเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ กล่าวว่า จะใช้มาตรการจูงใจหลายๆ ด้านเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในสหรัฐ พร้อมทั้งมองหาแนวทางต่างๆ เพื่อสร้างหลักประกันว่า จะมีขีดความสามารถด้านการผลิตชิพเพิ่มขึ้น ขณะที่การจัดเก็บ การทำงานกับบรรดา หุ้นส่วนและพันธมิตรก็เพื่อเป็นหลักประกันว่า สหรัฐจะมีชิพหมุนเวียนข้ามพรมแดน มากขึ้น
ขณะที่ ชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมาก ในวุฒิสภาสหรัฐ กล่าวว่า เขาได้สั่งการให้บรรดา สมาชิกในคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องของทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันเริ่มร่างชุดกฎหมายที่จะเกี่ยวข้องกับการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้นและแซงหน้าจีน รวมทั้ง เลิกพึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์จากต่างชาติ
"เราไม่สามารถปล่อยให้จีน ก้าวแซงหน้าเราในการผลิตชิพได้อีกต่อไป และนี่จะเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอที่เราจะยื่น" ชูเมอร์ กล่าว วุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครตจาก รัฐนิวยอร์ก ยังกล่าวด้วยว่า กฎหมายฉบับนี้ ต้องสนับสนุนการแข่งขันของสหรัฐผ่าน การลงทุนด้านนวัตกรรมอเมริกัน แรงงานและ การผลิตด้านอุตสาหกรรม รวมทั้งหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์และพันธมิตร ทั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต้) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย
เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา หอการค้าสหรัฐ และตัวแทนจากสมาคมอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงตัวแทนบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) แคเทอร์พิลลาร์ อิงค์ เม็ดโทรนิค พีแอลซีและบริษัทอื่นๆ จากกลุ่มธุรกิจเครื่องมือแพทย์ และ อุตสาหกรรมยานยนต์จำนวนกว่า 10 แห่งในสหรัฐ ร่วมยื่นจดหมายถึงประธานาธิบดีไบเดน เรียกร้องให้สนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนชิพ ทำให้เกิดการสูญเสียรายได้ของประเทศคิดเป็นมูลค่ากว่าพันล้านดอลลาร์
ขณะที่บอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป ระบุว่า ส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์สหรัฐร่วงลงเหลือ 12% จาก 37% ในปี 2533 และขณะนี้ไต้หวันเป็นประเทศ ที่ผลิตชิพได้ในปริมาณมากที่สุดในโลก แต่บอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป คาดการณ์ว่าจีนจะเป็นผู้นำด้านการผลิตชิพภายในปี 2573 และมีส่วนแบ่งตลาด 24%
ด้านเอลิกซ์ พาร์ทเนอร์ส บริษัท ที่ปรึกษาชั้นนำคาดการณ์ว่า การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์หรือจะทำให้อุตสาหกรรมรถ ทั่วโลกสูญรายได้ถึง 60,600 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ และเมื่อไม่นานมานี้ เจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) คาดการณ์ว่า ปัญหานี้ จะทำให้บริษัทสูญรายได้ 1,500-2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 ขณะที่ฮอนด้า มอเตอร์ และนิสสัน มอเตอร์ คาดว่า จะผลิตรถ ลดลง 250,000 คันจากตอนนี้จนถึงเดือนมี.ค.
ส่วนฟอร์ด มอเตอร์ ประกาศเมื่อ ปลายสัปดาห์ที่แล้วว่า ต้องลดการผลิต รถปิกอัพยอดนิยม F-150 ที่ทำรายได้ เป็นกอบเป็นกำให้ และที่จีน โรงงานหลายแห่ง ปิดนาน 2 สัปดาห์ ขณะที่โฟล์คสวาเกนระงับการผลิตในโรงงาน 2 แห่งในเยอรมนีเมื่อเดือนที่แล้ว
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-----------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you