เงินบาทแข็งสุดรอบ7ปี แนะธปท.หยุดแทรกแซง หวั่นสหรัฐขึ้นบัญชีบิดเบือนค่าเงิน

เงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 7 ปี แตะ 29.88 บาทต่อดอลลาร์ ด้านสหรัฐจัดไทยขึ้นบัญชีเฝ้าจับตาแทรกแซงค่าเงิน นักวิเคราะห์ แนะ ธปท.ลดดอกเบี้ย หยุดแทรกแซงค่าเงิน “ไทยพาณิชย์” คาดเงินบาทแตะ 28.80 บาท “ธปท.” ยัไม่แทรกแซงเพื่อส่งออก “คลัง”ไม่หวั่นถูกขึ้นทะเบียน

การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท วานนี้ (17 ธ.ค.) พบว่ากลับมาแข็งค่าในรอบ 7 ปี โดยหลุดแนวต้านสำคัญ ที่ 30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไปเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 29.88 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากกระทรวงการคลังสหรัฐ ออกมาเปิดเผยรายงานว่าด้วยการบิดเบือนค่าเงิน โดยมีประเทศไทยติดอยู่ในรายชื่อ “เฝ้าจับตา” (Monitoring List) 10 ประเทศที่สหรัฐประกาศล่าสุด โดยมีไต้หวัน อินเดีย ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมันนี อิตาลี สิงคโปร์ และมาเลเซีย
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า การขึ้นบัญชี "เฝ้าจับ” เป็นประเทศที่อาจแทรกแซงค่าเงินของสหรัฐครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรก ที่ไทยถูก “ขึ้นบัญชี” หลังไทยถูกพูดถึง และเป็นประเทศที่เสี่ยง ถูกจับตามาตลอดต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากดุลการค้าเกินดุลระดับสูง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่า2% ของจีดีพี และทุนสำรองทางการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ดังนั้นหากประเทศไทย ยังเข้าไปดูแลค่าเงินบาท ยังเข้าซื้อดอลลาร์เข้ามาในทุนสำรองระหว่างประเทศต่อเนื่อง ไม่ลดการเกินดุลการค้าเสี่ยงที่ไทยอาจเป็นประเทศที่ถูกกล่าวหาจากสหรัฐ ว่าแทรกแซงค่าเงินบาทเหมือนเวียนนามและสวิตเซอร์แลนด์ได้ในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ หากไทยไม่ทำทั้งนโยบายการเงินและการคลังในระยะข้างหน้าเพื่อลดแรงกดดันดังกล่าว อนาคตไทยอาจเสี่ยงถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐได้ แนะอาจนำไปสู่ การขึ้นกำแพงภาษีสินค้าไทยเข้าสหรัฐ หรือลดโคต้าการนำเข้าสินค้าจากไทยระยะข้างหน้า ดังนั้นครั้งนี้มองว่าจะเป็นปัจจัยกดดันให้ ธปท.ต้องทำอะไรมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต
แนะลดแทรกแซงค่าเงิน
สำหรับนโยบายที่สามารถทำได้ทั้งผ่านนโยบายการเงิน โดยการลดดอกเบี้ยหรือการใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือคิวอีในอนาคต และการลดเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท ปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกของตลาดมากขึ้น ซึ่งเหล่านี้มองว่าต้องทำควบคู่กันไปกับนโยบายการคลังผ่านการลดภาษีสรรพสามิตร เพื่อช่วยลดการเกินดุลการค้าให้ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะข้างหน้า เพราะนโยบายการเงินด้านเดียวอาจไม่สามารถลดความเสี่ยงลงได้ ดังนั้นนโยบายการคลังอาจต้องทำควบคู่กันด้วย
“หากอนาคตเราไม่ทำอะไร นับถอยหลังได้เลย ไทยอาจถูกคว่ำบาตร ที่สหรัฐอาจงัดมาตรการมาใช้ เช่นการขึ้นกำแพงภาษีลดการนำเข้า ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ คือเราจะแก้ หรือให้สหรัฐแก้ หากให้สหรัฐแก้ เราจะแย่กว่า ดังนั้นเราต้องเร่งลดความเสี่ยงลงให้ได้ แต่หากเรายังยันค่าเงินไปเรื่อยๆ เราอาจต้องขึ้นบัญชีดำจริงๆ”
ทั้งนี้ จากปัจจัยข้างต้นเชื่อว่าเป็นปัจจัยกดดดันต่อผู้ส่งออกมากขึ้น โดยแนวโน้มส่งออกระยะข้างหน้าต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังอัดฉีดสภาพคล่องเข้าตลาดต่อเนื่อง ซึ่งซ้ำเติมแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทมากขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 29.00-29.25 บาทต่อดอลลาร์ในสิ้นปีหน้า และผู้ส่งออกยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง และอุปสรรคด้านการขนส่งจากตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และราคาขนส่งทางทะเลสูงขึ้นด้วย
คาดเงินบาทแตะ 28.80 บาท
นายจิตติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น โดยหลุดระดับ 30.00 บาทต่อดอลลาร์ไปสู่ 29.8 บาทต่อดอลลาร์ในปัจจุบัน ซึ่งมองว่าระยะข้างหน้ามีโอกาสเห็นค่าเงินบาท แข็งค่าขึ้นได้ต่อเนื่อง ภายใต้กระแสเงินไหลเข้าจากต่างประเทศ ที่จะเข้าอย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาสแรกปีหน้า
ดังนั้นภายใต้สถานการณ์ที่ไทยถูกจับตาใน 10 ประเทศ ที่อาจแทรกแซงค่าเงินบาท อาจทำให้การเข้าไปดูแลค่าเงินบาทของ ธปท.ในระยะข้างหน้าลดลงได้ ดังนั้นแนวโน้มค่าเงินบาท อาจแข็งค่ามากขึ้น โดยเฉพาะไตรมาส 1 ปี 2564 ที่เป็นช่วงที่มีเงินทุนไหลเข้าจากประเทศเข้าไทยมากที่สุด ซึ่งจะหนุนให้เงินบาทหลุดระดับปัจจุบันไปแตะ 29.00 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าสุดไปที่ระดับ 28.80 บาทต่อสหรัฐในในระยะข้างหน้า
“หาก ธปท.ไม่ทำอะไรแล้วปล่อยให้ค่าเงินบาทเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น คาดมีโอกาสเห็นเงินบาทแข็งค่าไปสู่ 28.80 บาทได้ในไตรมาสแรกปีหน้า แต่หาก ธปท.ยังเข้าไปดูแลเงินบาทบ้างก็อาจเห็นบาทแข็งค่าน้อยกว่านี้ได้ แต่ก็ยังเป็นเทรนด์แข็งค่าในปีหน้า”
แนะแบงก์ชาติแจงซื้อดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม มองว่าสิ่งที่จำเป็นที่ ธปท.อาจต้องสื่อสารให้ชัดเจนในระยะข้างหน้า ภายใต้สถานการณ์นี้ คือ การแสดงเหตุผล ของการซื้อดอลลาร์เข้ามาในทุนสำรอง ว่ามีเหตุผลอย่างไร เพราะอะไร หากไม่มีเหตุผลสนับสนุน ธปท.ควรหยุดการซื้อทุนสำรองเข้ามาในพอร์ต
รวมทั้งการเลือกเป็นผู้ชี้นำตลอด การสื่อสารให้ตลาดรับทราบชัดเจน ถึงแนวโน้มค่าเงินบาท ในระยะข้างหน้า เช่น เทรนด์แข็งค่าในอนาคตต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ส่งออกและภาคธุรกิจปรับตัว ไม่ใช่รอความหวังจาก ธปท.ว่าจะเข้าไปช่วยดูแลค่าเงินบาทต่อเนื่องเหล่านี้จะช่วยลดภาระ ธปท.ในการดูแลบาท และทำให้ผู้ประกอบการสามารถรับมือกับสถานการณ์เงินบาทในระยะข้างหน้าได้มากขึ้น
“ธปท.ต้องเป็นผู้นำบอกตลอด เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น ปล่อยเงินบาทไปตามกระแสตลาดเงินตลาดทุนโลก เข้าไปแทรกแซงให้น้อยลง เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว เพราะฝั่งนโยบายการเงินธปท.ทำอะไรไม่ได้มาก เช่นการลดดอกเบี้ยไปสู่ 0% ถือว่ายาก หรือการทำ QE ที่อาจไม่เห็น ดังนั้นสิ่งที่ธปท.ทำได้คือการสื่อสารกับตลาด อย่างตรงไปตรงมา
ธปท.ยันไม่ได้แทรกแซงค่าเงิน
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเปิดเผยกรณี กระทรวงการคลังสหรัฐ (U.S. Treasury) เผยแพร่รายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2563
ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน Monitoring List จากที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากกว่า 20 พันล้านดอลลาร์ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่า 2% ของจีดีพี ซึ่งเป็นเกณฑ์และเงื่อนไขภายใต้กฎหมายภายในของสหรัฐ โดยรอบนี้มีคู่ค้า 10 ประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ monitoring list รวมถึงถึงประเทศไทย
ธปท.ขอเรียนว่า การที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน Monitoring list ไม่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจที่มีการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯ ซึ่งภาคธุรกิจไทยและสหรัฐฯ ยังคงดำเนินธุรกิจกันได้ตามปกติ และการประเมินดังกล่าวไม่กระทบต่อการดำเนินนโยบายของ ธปท.เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ รวมถึงการดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ของธนาคารกลางและความจำเป็นของสถานการณ์
ทั้งนี้ ตลอดช่วงที่ผ่านมา ธปท. ได้สื่อสารและทำความเข้าใจกับทางการสหรัฐเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของไทย รวมถึงสร้างความมั่นใจกับสหรัฐ ว่าไทยดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นและจะเข้าดูแลค่าเงินบาทเมื่อมีความจำเป็น เพื่อชะลอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้รุนแรงเกินไปทั้งในด้านแข็งค่าและอ่อนค่าและไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด
“คลัง”ไม่กังวลสหรัฐขึ้นทะเบียน
นายอาคม​ เติมพิทยาไพสิฐ​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีสหรัฐขึ้นทะเบียนให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่แทรกแซงค่าเงินว่า​ เราไม่กังวล​ โดยการบริหารค่าเงินเป็นหน้าที่ของ ธปท.และขณะนี้เรายังไม่ทราบว่าทางสหรัฐจะมีมาตรการอะไรออกมาตอบโต้​ เพียงแต่เขาจับตาดูอยู่
นอกจากนี้ ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาของการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้นับจากเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แม้ว่าการท่องเที่ยวเราจะไม่สามารถกลับมาได้เหมือนเดิม โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้น จะมาจากการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศผ่านมาตรการต่างๆของภาครัฐ ซึ่งขณะนี้ เราดำเนินการผ่าน 3 มาตรการหลัก คือ การเติมเงินเข้าบัตรสวัสดิการคนจน มาตรการเราเที่ยวด้วยกันและมาตรการคนละครึ่ง ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องในเฟส 2
มั่นใจเศรษฐกิจฟื้นตัว
สำหรับภาคอุตสาหกรรมนั้น แม้ที่ผ่านมา โควิด-19 จะทำให้การผลิตหยุดลง แต่ขณะนี้อัตราการใช้กำลังการผลิตเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จะเห็นได้จากยอดการจองรถยนต์ในงานมอเตอร์โชว์ที่มีเข้ามาจำนวนไม่น้อย แม้จะมีสัญญาณบางอย่างที่เข้ามากระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า ความคึกคักของเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น
ส่วนด้านการส่งออกนั้น แม้จะขยายตัวติดลบ แต่ก็มีทิศทางที่ติดลบน้อยลง ฉะนั้น เครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวสะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแน่ แต่ต้องไม่ประมาทเรื่องความเข้มงวดป้องกันโควิด-19
อย่างไรก็ดี เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อยากขอความร่วมมือต่อภาคสถาบันการเงินให้ช่วยเข้ามาดูแลลูกค้า แม้ว่า แบงก์ชาติจะยุติมาตรการพักชำระหนี้ แต่ก็ควรจะมีมาตรการดูแล โดยเฉพาะแบงก์รัฐที่ควรเข้ามาดูแลให้มากกว่าแบงก์เอกชน เพื่อมีส่วนสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คลิก

------------------------------------------------------------------------
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 

Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"