"การบินไทย" เดินหน้าแผนฟื้นฟู ลั่นไม่ยุบสายการบิน"ไทยสมายล์"

การบินไทย เปิดทางเจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ใน 1 เดือน เชื่อเสร็จในไตรมาส 4 ปีนี้ รักษาการดีดีลั่น ไม่ยุบสายการบินไทยสมายล์ เมื่อ 14 กันยายน ศาลล้มละลายกลาง นัดอ่านคำพิพากษากรณี บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ร้องขอฟื้นฟูกิจการ

โดยศาลพิจารณาเห็นว่า การบินไทยมีคุณสมบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย จึงเห็นสมควรให้เข้าสู่กระบวนการให้ฟื้นฟูกิจการตามที่ได้มีการร้องขอ

นอกจากนั้น ศาลล้มละลายกลาง ยังได้เห็นสมควรให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรทแอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด รวมถึงกรรมการบริษัทอีก 6 ราย ประกอบด้วย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้ดำเนินการฟื้นฟูกิจการร ตามที่การบินไทยเสนอ
โดยศาลเห็นว่าบริษัท อีวาย คอร์ปอเรทฯ เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับการยอมรับ ขณะที่กรรมการทั้ง 6 ราย เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการบริหารบริษัทใหญ่ ทำให้เข้าใจกิจการขนาดใหญ่เป็นอย่างดี และกระบวนการหลังจากนี้ จะนำเรื่องเข้าสู่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อแต่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา โดยจะมีการประกาศให้เข้ายื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือน หลังจากที่มีการประกาศ
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)เปิดเผยว่า หลังจากนี้จะเปิดให้เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เป็นเวลา 1 เดือน ที่ กรมบังคับคดี และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เพื่อให้การบินไทยรวบรวมเจ้าหนี้ทั้งหมดว่า มีกี่ราย และคิดเป็นมูลหนี้มากน้อยเพียงใด จากนั้นจะนัดประชุมหารือเพื่อเจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งมั่นใจว่า เจ้าหนี้จะให้ความร่วมมือและเสียสละในการประนีประนอมหนี้ร่วมกัน
“เจ้าหนี้ทุกราย ทั้งธนาคาร รายใหญ่ หุ้นกู้และอื่นๆ สามารถยื่นคำร้องได้ที่กรมบังคับคดีและที่ก.ล.ต.แต่ต้องเป็นเจ้าหนี้จริง ไม่ใช่เจ้าหนี้ปลอม หากปลอมถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ส่วนเจ้าหนี้ที่เป็นลูกค้าที่ถือบัตรโดยสาร และมีวอยเชอร์ต่างๆ ไม่ต้องมายื่นเอกสารใดๆ เพราะการบินไทยจะมาตรการดูแลแยกออกจากเจ้าหนี้ปกติอยู่แล้ว ฉะนั้นไม่ต้องเป็นห่วง”
ทั้งนี้เชื่อว่า กระบวนจัดทำแผนฟื้นฟูจะแล้วเสร็จและพร้อมเสนอต่อศาลภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และหากศาลเห็นชอบจะเริ่มกระบวนการฟื้นฟูตามแผนภายในไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของแผนได้ เพราะต้องรอให้ศาลพิจารณาก่อน แต่ยืนยันว่า สายการบินไทยสมายล์ จะยังมีอยู่ เนื่องจากเป็นบริษัทลูกที่การบินไทยถือหุ้น 100% และยังมีศักยภาพในด้านการบินอยู่ ขณะที่การเสริมสภาพคล่องของการบินไทยนั้น จะต้องรอดูความชัดเจนของแผนด้วยเช่นกัน ว่าจะต้องมีการกู้เงินเพิ่มหรือไม่ แต่เบื้องต้นอาจต้องพิจารณากู้เงินเพิ่มเติมด้วย
ส่วนจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ภายใน 5 ปีตามที่เคยประกาศไว้หรือไม่นั้น จะต้องรอการพิจารณาแผนฟื้นฟู่ก่อนเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามามี่ผลกระทบ ต่อการเดินทางของผู้โดยสาร แต่คาดการณ์ว่าสถานการณ์การบินจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน 4-5 ปีหลังจากนี้
สำหรับปัจจุบัน การบินไทย มีทรัพย์สินอยู่ที่ 349,236 ล้านบาท ขณะที่หนี้สินมีอยู่ที่ 352,494 ล้านบาท และมีหนี้ครบชำระ 10,248 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดจะยังอยู่ในระหว่างการพักชำระหนี้อัตโนมัติที่อยู่ในระบบ
Source: ฐานเศรษฐกิจออนไลน์
เพิ่มเติม
- Thai Airways gets court approval for debt restructuring plan

คลิก

เปิดช่องทางขอรับชำระหนี้ “การบินไทย” 4 จุด ใครต้องยื่น-ใช้เอกสารอะไรบ้าง!
“การบินไทย” แจง 4 จุดยื่นขอรับชำระหนี้ สำนักงานใหญ่-กรมบังคับคดี-ก.ล.ต.-ชุมนุมสหกรณ์ฯ หรือเลือกยื่นออนไลน์ เผยต้องเป็นเจ้าหนี้ก่อนยื่นก่อนศาลสั่งฟื้นฟูฯ ระบุเจ้าหนี้รีฟันด์ตั๋วรับทราเวลวอชเชอร์แทนได้ หรือเลือกรอชำระหนี้ยาวตามแผนฟื้น ฟากลูกค้าที่ยังถือตั๋วบินสามารถบินต่อได้ทันที ส่วน ROP ขยายอายุไมล์สะสมถึงสิ้นปี 64
วันที่ 14 กันยายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการบริษัท และรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้การบินไทยดำเนินการฟื้นฟูกิจการและตั้งคณะผู้ทำแผนตามที่การบินไทยเสนอว่า การบินไทยร่วมกับกรมบังคับคดีได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหนี้ของการบินไทยในการยื่นคำขอรับชำระหนี้
โดยเจ้าหนี้สามารถลงทะเบียนเพื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้ผ่านระบบออนไลน์ได้ด้วยตนเองที่บ้านผ่านทางเว็บไซต์ http://www.led.go.th/tgreorg/index.asp หรือ QR Code หรือหากเจ้าหนี้ท่านใดไม่สะดวกยื่นคำขอรับชำระหนี้ผ่านระบบออนไลน์ด้วยตนเอง ก็สามารถนำเอกสารมายื่นขอรับชำระหนี้ที่จุดบริการที่หน่วยงานต่าง ๆ จะได้อำนวยความสะดวก 4 หน่วยงาน ได้แก่
1. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต อาคาร 1 ชั้น 1
2. กรมบังคับคดี ถนนบางขุนนนท์, สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ, ศูนย์บังคับคดีล้มละลายส่วนหน้า (ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ อาคารเอ ชั้น 1)
3. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) (สำหรับหุ้นกู้) และ
4. ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ถนนนครอินทร์ (สำหรับหุ้นกู้กลุ่มสหกรณ์)
โดยนายชาญศิลป์ฯ กล่าวว่า จุดให้บริการรับคำขอรับชำระหนี้ที่สำนักงานใหญ่ของการบินไทยนั้นจะมีการจัดเจ้าหน้าที่และมีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ช่วยอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหนี้ในทุกขั้นตอน โดยจะเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2563 ณ โถงอาคาร 1 จนกระทั่งครบกำหนดระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ต้นเดือนพฤศจิกายน ตามเวลาราชการ 08.30 – 16.30 น. เว้นวันหยุดเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการ
และหากเจ้าหนี้ท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการยื่นขอรับชำระหนี้สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารประกอบและแนวทางการยื่นคำขอรับชำระหนี้ที่เว็บไซต์ของกรมบังคับคดี led.go.th เว็บไซต์ของการบินไทย www.thaiairways.com หรือโทรสอบถามได้ที่ 02 881 4999 (กรมบังคับคดี) หรือ 02 356 1111 กด 8 (Call Center ของการบินไทย)
ต้องเป็นเจ้าหนี้ก่อนศาลสั่งฟื้นฟูฯ
สำหรับเจ้าหนี้ที่จะมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการของการบินไทยนั้น จะต้องเป็นบุคคลที่มีสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ที่เป็นหนี้เงินโดยหนี้ดังกล่าวจะต้องเกิดก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการ ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ก็ตามซึ่งรวมถึงหนี้การค้า หนี้ค่าเช่า หนี้หุ้นกู้ เป็นต้น
โดยเจ้าหนี้จะต้องจัดเตรียมข้อมูลจำนวนหนี้ คิดคำนวณถึงวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน และเอกสารแสดงตนดังต่อไปนี้
เอกสารแสดงตน กรณีที่เจ้าหนี้ประสงค์จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ด้วยตนเอง ได้แก่
– บัตรประชาชนไทย หรือหนังสือเดินทาง (กรณีชาวต่างชาติ) หรือเอกสารแสดงอำนาจของนิติบุคคล กรณีที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้แทนผู้อื่น ได้แก่ หนังสือมอบอำนาจ และสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ
เอกสารหลักฐานแสดงความเป็นหนี้ ตัวอย่างเช่น
– กรณีหนี้ขอคืนค่าบัตรโดยสาร (Refund) ได้แก่ สำเนาบัตรโดยสาร สำเนาหลักฐานการจ่ายเงิน และสำเนาเอกสารยืนยันการขอรับเงินค่าบัตรโดยสารคืน (Refund) เป็นต้น
– กรณีหนี้หุ้นกู้ ได้แก่ สำเนาใบหุ้นกู้ หรือขอหนังสือรับรองจากนายทะเบียน ในกรณีที่ไม่สามารถหาใบหุ้นกู้ได้
– กรณีหนี้การค้า ได้แก่ สำเนาสัญญาหรือข้อตกลง สำเนาใบสั่งซื้อ (Purchase Order) สำเนาเอกสารหลักฐานการส่งสินค้าหรือให้บริการตามสัญญา และสำเนาใบแจ้งหนี้ (Invoice) เป็นต้น
ในกรณีที่เอกสารดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศ เจ้าหนี้อาจจัดเตรียมคำแปลภาษาไทย โดยให้ผู้แปลลงชื่อรับรองคำแปลมาด้วยเพื่อประกอบการพิจารณาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ นอกจากนี้ ในส่วนของเจ้าหนี้หุ้นกู้นั้น การบินไทยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดเว็บไซต์ให้ผู้ถือหุ้นกู้ของการบินไทยสามารถตรวจสอบจำนวนหนี้หุ้นกู้ได้ที่ www.tgbondinfo.com
ลูกค้ารีฟันด์รับทราเวลวอชเชอร์แทนได้
สำหรับลูกค้าที่ได้แสดงความประสงค์ขอคืนเงินค่าบัตรโดยสาร (Refund) ของการบินไทยนั้น ถือเป็นเจ้าหนี้ในหนี้เงินที่มีสิทธิยื่นขอรับชำระหนี้ได้ อย่างไรก็ดีคณะผู้ทำแผนจะจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการที่ครอบคลุมและรองรับสิทธิของลูกค้าที่ได้แสดงความประสงค์ขอคืนเงินค่าบัตรโดยสาร (Refund) ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการไว้ ซึ่งการกำหนดสิทธิของลูกค้าไว้ในแผนตามที่คณะผู้ทำแผนของการบินไทยจะจัดทำเป็นกรณีที่กฎหมายยกเว้นให้เจ้าหนี้ที่ได้รับการระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ โดยลูกค้าที่ขอคืนค่าบัตรโดยสาร (Refund) จะได้รับชำระหนี้ตามข้อกำหนดของแผนฟื้นฟูกิจการโดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ก็ได้
นอกจากนี้ การบินไทยมีนโยบายดูแลลูกค้าในระหว่างที่ไม่สามารถคืนเงิน (refund) ได้ชั่วคราว โดยลูกค้าท่านที่ขอคืนค่าบัตรโดยสารแล้ว แต่ยังให้ความไว้วางใจและประสงค์กลับมาเป็นลูกค้าของการบินไทย ก็สามารถขอเปลี่ยนหนี้ค่าบัตรโดยสารเป็น Travel Voucher ได้ ซึ่งจะมีอายุถึง 31 ธันวาคม 2565 ลูกค้าสามารถนำ Travel Voucher มาใช้แทนเงินสดในการออกบัตรโดยสารของการบินไทยหรือไทยสมายล์ได้ ตามแผนการบินของบริษัททั้งสอง
โดยหากลูกค้าออกบัตรโดยสารที่สำนักงานต่างประเทศ ก็สามารถติดต่อสำนักงานที่ออกบัตรโดยสารได้โดยตรงเช่นกัน แต่หากลูกค้าประสงค์จะขอรับเป็นเงินคืน (Refund) ก็จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งมีข้อจำกัดด้านเวลาและกระบวนการ ทำให้การบินไทยยังไม่สามารถคืนเงินให้แก่ลูกค้าได้โดยเร็ว
ยังไม่ยื่นรีฟันด์ ถือบัตรไว้ได้เดินทาง
เจ้าหนี้ที่ไม่จำเป็นต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้หรือดำเนินการทางกฎหมายใดๆ ในส่วนของลูกค้าผู้ถือบัตรโดยสารของการบินไทยที่ยังไม่ได้เดินทาง และยังไม่ได้ดำเนินการขอคืนค่าบัตรโดยสาร (Unused Ticket) นั้นไม่จำเป็นต้องยื่นขอรับชำระหนี้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ
ลูกค้ายังคงมีสิทธิใช้บัตรโดยสารของการบินไทยได้เมื่อการบินไทยกลับมาประกอบธุรกิจได้ตามปกติและให้บริการด้านการบินได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้หรือดำเนินการทางกฎหมายใดๆ และลูกค้าสามารถเก็บบัตรโดยสารไว้ใช้เดินทางกับการบินไทยหรือไทยสมายล์ หรือจะแลกเป็น Travel Voucher ก็ได้ โดยลูกค้าสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ของการบินไทย thaiairways.com
ROP ขยายไมล์สะสมถึงปี 64
สำหรับสมาชิกโปรแกรมสะสมไมล์ Royal Orchid Plus (ROP) นั้น เนื่องจากไม่ใช่เจ้าหนี้ในหนี้เงิน จึงไม่ต้องยื่นขอรับชำระหนี้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยสมาชิก ROP จะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์จากสถานภาพสมาชิกและสถานภาพความเป็นสมาชิกจะยังคงอยู่ และการบินไทยจะขยายอายุไมล์สะสมที่จะหมดอายุลงในปีนี้ออกไปจนถึงเดือนธันวาคม 2564
ทั้งนี้ ในขั้นตอนต่อไป การบินไทยจะแจ้งให้เจ้าหนี้ได้รับทราบถึงความคืบหน้าของการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อไป การบินไทยมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะดูแลเจ้าหนี้ทั้งหลายภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถกลับมาให้บริการด้านการบินอย่างเต็มรูปแบบได้โดยเร็ว รวมทั้งสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจการบินได้อย่างเข้มแข็งในฐานะสายการบินแห่งชาติต่อไป
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คลิก


Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
--------------------------------------------------------------------------------

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 

Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"