ทำไมค่าเงินบาทถึงอ่อนลง เมื่อมีการปรับลดดอกเบี้ย ??

ตามที่สัญญาไว้จากโพสต์ที่อธิบายถึงผลกระทบจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครับ ว่าจะมา”เล่า”เรื่องผลกระทบต่อค่าเงินบาทให้ฟังกัน ** สำหรับโพสต์ที่เล่าผลกระทบเรื่องดอกเบี้ยเอาไว้ถ้าใครพลาดไปสามารถตามไปอ่านได้ที่ :

คลิก

===============
จากที่เราได้ทราบกันแล้วว่าผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงนั้นจะทำให้ดอกเบี้ยต่างๆในตลาด ทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ ปรับตัวลดลง
แค่อีกเหตุผลนึงนั้น กนง. ก็ให้เหตุผลว่าการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ ต้องการที่จะแก้ปัญหาการแข็งตัวของเงินบาทด้วยเช่นกัน
ทันทีที่มีข่าวการปรับลดดอกเบี้ยออกมาในวันที่ 6 พฤศจิกายน ในวันถัดมานั้นเงินบาทก็อ่อนค่าลงอย่างเห็นได้ชัดทันที โดยขยับจาก 30.30 บาท/ดอลลาร์ ไปปิดที่ 30.42 บาท/ดอลลาร์
คำถามของหลายๆคนก็คือ การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ มันไปทำปฏิกิริยาอะไรกับเงินบาท ถึงทำให้มันอ่อนค่าลงมาทันทีได้ขนาดนี้ ??
วันนี้ผมเลยขอยกตัวอย่างง่ายๆโดยใช้แผนภาพที่ให้มาในการอธิบายเรื่องการอ่อนตัวของค่าเงินครับ
*** ออกตัวก่อนว่าตัวเลขที่ผมหยิบยกมาอธิบายนั้นเป็นตัวเลขสมมุติง่ายๆ เพื่อความง่ายต่อการทำความเข้าใจ ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันแต่อย่างใด
— — — — — — — —
ด้านบนของรูปคือสถานการณ์ที่ประเทศไทยนั้นมีดอกเบี้ยที่สูง สมมุติให้เป็น 5% ส่วนอีกประเทศอย่างสหรัฐฯนั้นมีดอกเบี้ยต่ำกว่าที่ 4%
ถ้าคุณมองง่ายๆ คิดว่าประเทศไหนน่าลงทุนกว่ากันครับ สมมุติแค่เอาเงินไปฝากง่ายๆไม่ต้องมีความเสี่ยง
ประเทศไทยแน่นอนเพราะมีอัตราดอกเบี้ย (ผลตอบแทนจากการลงทุน) ที่สูงกว่า
ดังนั้นประชาชนจากประเทศอื่นๆ ก็อยากนำเงินมาฝากธนาคารที่ประเทศไทย แต่ถ้าหิ้วเงินดอลลาร์มาธนาคารบ้านเราก็คงไม่รับ
จะฝากธนาคารไทยก็ต้องฝากเป็นเงินบาท ส่งผลให้มีชาวต่างชาติแลกเงินดอลลาร์เปลี่ยนเป็นเงินบาทมากขึ้น
ตามหลักของเศรษฐศาสตร์ทั่วไป หรือตามหลักตลาดบ้านๆ ของสิ่งใดที่มีจำนวนจำกัดแต่คนมีความต้องการสูง ราคาก็จะแพงขึ้น (ลองนึกถึงสินค้า limited edition ที่คนไปต่อคิวซื้อกันข้ามวัน แล้วเอามาขายต่อในราคาแพง)
ในกรณีนี้ก็ไม่ต่างกันครับ เงินบาทมีจำกัดเพราะเราไม่ได้พิมพ์แบงค์กันเล่นๆทุกวัน เพราะฉะนั้นเงินบาทก็จะแพงขึ้น หรือศัพท์ที่เราคุ้นกันก็คือเงินบาทแข็งค่า สมมุติว่าจาก 35บาท/ดอลลาร์ แข็งขึ้นเป็น 30 บาท/ดอลลาร์
** สำหรับคนที่สงสัยว่า เอ้าาา 35 ไปเหลือ 30 บาทก็ถูกลงน่ะสิ แพงขึ้นได้ไง อันนี้คุณกำลังโดนการ direct quote หลอกอยู่เพราะอย่าลืมว่านี่คือราคาของเงินดอลลาร์นะครับ เราเอาเงิน 30 บาทไปแลกได้ 1 ดอลลาร์
ในกรณีที่ฝรั่งมาซื้อเงินบาท ถ้าเค้าจ่าย 1 ดอลลาร์ ได้ 30 บาท เทียบกับจ่าย 1 ดอลลาร์ได้ 35 บาท แบบแรกก็ถือว่าแพงกว่า เพราะจ่ายเท่าเดิมแต่ได้เงินบาทน้อยกว่า (เหมือนซื้อลูกอมได้ 30 เม็ด เทียบกับ 35 เม็ด)
จากคำอธิบายด้านบนทั้งหมดสามารถสรุปตามขั้นตอนออกมาได้ดังนี้
ไทยดอกเบี้ยสูง -> ต่างชาติอยากเอาเงินมาฝาก -> แห่กันมาแลกเงินบาท -> เงินบาทแข็งตัว
— — — — — — — —
ด้านล่างของรูปคือสถานการณ์ที่ไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา สมมุติลดเหลือแค่ 3% ในขณะที่อีกประเทศนั้นคงที่
(นี่คือการเปรียบเทียบสถานการณ์การลดดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นนะครับ แต่อย่างที่บอกไปว่าเป็นตัวเลขสมมุติ)
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ประเทศไทยที่ดอกเบี้ยลดลงเยอะ จะไม่น่าลงทุนเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไปแล้ว ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติแห่กันถอนเงินออกมาแล้วแลกกลับไปเป็นสกุลเงินของตนเอง เพื่อนำกลับไปฝากในที่ที่ได้ดอกเบี้ยสูงกว่า
เมื่อเกิดการแลกเงินกลับ หรือการเทขายเงินบาท เราก็ใช้หลักการตรงกันข้ามของเศรษฐศาสตร์หรือแบบตลาดบ้านๆด้านบน ของอะไรก็แล้วแต่ที่คนไม่ต้องการ เกิดการเทขายราคาก็ตกเหมือนพืชผลเกษตรที่ล้นตลาด
ส่งผลให้เงินบาทมีราคาถูกลง หรืออ่อนค่าลง จากที่เคยแลกได้ 30บาท/ดอลลาร์ ก็จะถูกลงกลายเป็นแลกได้มากขึ้นถึง 35บาท/ดอลลาร์
จากเหตุการณ์ทั้งหมดสามารถสรุปออกมาได้ดังนี้
ไทยดอกเบี้ยต่ำลง -> ต่างชาติถอนเงินกลับประเทศ -> เทขายเงินบาท -> เงินบาทอ่อนค่าลง
— — — — — — — —
จากที่ยกตัวอย่างแบบง่ายๆไปจะเห็นว่าดอกเบี้ยมีผลกระทบกับอัตราแลกเปลี่ยนในลักษณะที่ไปในทิศทางเดียวกันครับ
ถ้าดอกเบี้ยสูง เงินบาทก็จะราคาสูง, ถ้าดอกเบี้ยต่ำ เงินบาทก็จะราคาลง
แต่ในโลกของความเป็นจริงจะต่างจากที่ผมอธิบายไว้มาก เพราะเราไม่ได้มีแค่ 2 ประเทศ และการปรับลดดอกเบี้ยก็ไม่ได้เยอะอย่างที่ว่าไป (ยังไม่ตำนึงถึงว่าประเทศอื่นๆก็มีการปรับดอกเบี้ยด้วยเหมือนกัน)
ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นก็จะคล้ายกัน สิ่งที่แตกต่างก็คือการไหลของเงินอาจจะไม่ได้ไหลกลับไปที่สหรัฐฯเหมือนในรูป แต่จะไหลไปยังประเทศที่ให้ดอกเบี้ยสูงแทนได้ครับ
— — — — — — — —
เท่านี้แหละครับ ผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยที่ทำให้เงินบาทอ่อนตัวลงแบบง่ายๆ แต่อย่าลืมนะครับว่า กนง. นั้นปรับลดเพียง 0.25% เท่านั้น (ถ้ารวมกับที่ปรับมาแล้วรอบนึงก็รวมเป็น 0.5%)
ดังนั้นผลกระทบอาจจะไม่เห็นชัดมาก สังเกตุจากการอ่อนตัวลงของเงินบาทในปริมาณที่ถือว่าไม่มากเท่าไหร่
ทั้งนี้ทั้งนั้นปัจจัยที่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนนั้นมีเยอะกว่าดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ต้องดูหลายๆปัจจัยประกอบกันจึงจะสามารถบอกทิศทางการแข็งค่าหรืออ่อนค่าได้
หวังว่าเรื่องเล่านี้จะทำให้หลายๆคนเข้าใจความสัมพันธ์ของทั้งสองเหตุการณ์ได้มากขึ้นนะครับ
เครดิตรูปประเทศไทยและสหรัฐฯจาก

คลิก

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 

Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #uag #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex3d #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"