มังกรชักดาบ สัญญาณเบี้ยวหนี้พุ่ง

เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว "จีน" เริ่มมี อีกหนึ่งสัญญาณร้ายทางเศรษฐกิจปรากฏขึ้นอีกระลอก เมื่อบลูมเบิร์กรายงานว่า มีบริษัทขนาดใหญ่ 2 แห่ง ผิดนัดชำระหนี้ (Default) ตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนดในเดือนนี้

รายหนึ่งคือ บริษัท หมินเซิง อินเวสต์เมนท์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนเอกชนด้านพลังงานทดแทนและอสังหาริมทรัพย์ ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้หลังครบกำหนดเมื่อสิ้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ส่วนอีกรายคือบริษัท วินไทม์ เอ็นเนอร์ยี ซึ่งมีประวัติเคยผิดนัดชำระไปตั้งแต่ปีที่แล้ว กลับมาผิดนัดชำระรอบใหม่อีกครั้งในเดือนนี้

แม้ว่าการพูดถึงภาวะเบี้ยวหนี้ตั้งแต่ต้นปีอาจยังเร็วเกินไป แต่สำหรับจีนแล้ว นี่อาจเป็นสัญญาณน่าห่วงมากกว่าจะวางใจได้ เพราะ

1.บริษัททั้งสองรายนี้เป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่และเป็นรายใหญ่ ในตลาดตราสารหนี้ของจีน

2.ตัวเลขการผิดนัดชำระหนี้ ภาคเอกชนในจีนกำลังสูงขึ้นในระดับทุบสถิติใหม่ เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราเบี้ยวหนี้เพิ่มขึ้น 60% จาก ปีก่อนหน้า

3.การที่บริษัทใหญ่ 2 ราย มีปัญหาเบี้ยวหนี้ยังสะท้อนถึงปัญหาในการเข้าถึงเงินของเอกชนในจีน และมีการคาดการณ์ว่าจะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ตามมาอีกมากในปี 2019 นี้

การที่จีนเริ่มเห็นสัญญาณของ 2 รายใหญ่เบี้ยวหนี้กันตั้งแต่ต้นปีเช่นนี้ จึงถูกตีความว่า นอกจากสงครามการค้าจะกัดกร่อนภาคการผลิต ส่งออก และการบริโภคของจีนแล้ว "ภาคเอกชน" ก็กำลังเป็นอีกส่วนสำคัญที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ตั้งแต่รายย่อยจนถึงรายใหญ่ และอาจทำให้การพยุงเศรษฐกิจของรัฐบาลกรุงปักกิ่งในปีนี้เป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น

บริษัทเครดิตเรตติ้งรายหนึ่งให้มุมมองกับบลูมเบิร์กไว้ว่า เคสนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาดตราสารหนี้จีนที่มีมูลค่ามหาศาลถึง 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชนอย่างทั่วถึง ทั้งนี้เคสดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่หากมีการยืนยันได้ว่า หมินเซิง เบี้ยวหนี้จริง ก็อาจเคียงคู่กับ วินไทม์ เอ็นเนอร์ยี ขึ้นแท่นเป็นการผิดนัดชำระหนี้ ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีน

เคสของบริษัท หมินเซิง นั้น เป็นการผิดนัดการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้วงเงิน 3,000 ล้านหยวน (ราว 1.39 หมื่นล้านบาท) ที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนั้น หมินเซิงให้คำมั่นกับนักลงทุนว่าจะจ่ายภายใน 3 วันต่อมา แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่รับปากเอาไว้ โดยหมินเซิงเป็นหนึ่งในบริษัทลงทุนรายใหญ่ที่สุดในจีน มีหนี้ทั้งหมด 2.32 แสนล้านหยวน (ราว 1.07 ล้านล้านบาท) และมีสินทรัพย์ทั้งหมด 3.1 แสนล้านหยวน (ราว 1.43 ล้านล้านบาท)

ส่วนเคสของบริษัท วินไทม์ เอ็นเนอร์ยี เป็นการผิดนัดรอบที่สองเมื่อ วันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังบริษัทเคยรับปากนักลงทุนเอาไว้ว่าจะหาเงินทุนมาจ่ายคืน 20% ของเงินต้น 3,800 ล้านหยวน (ราว 1.76 หมื่นล้านบาท) ซึ่งวินไทม์ยังได้ชื่อว่าเป็นบริษัทเหมืองถ่านหินรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ที่เบี้ยวหนี้ในปีที่แล้ว หลังจากไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ที่เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ในช่วงไม่ถึง 5 ปีมานี้ได้

เซิน เฉิน หุ้นส่วนบริษัทจัดการการลงทุนเซี่ยงไฮ้ เหมาเหลียง กล่าวว่า ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนจีนส่วนใหญ่เติบโตกันได้อย่างรวดเร็วเพราะมีการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ การมีกรณีผิดนัดชำระหนี้ในช่วงนี้จึงสะท้อนว่าภาคเอกชนในจีนยังคงต้องดิ้นรนกันอย่างหนักกับเรื่องหนี้ แม้ว่าในช่วงหลังมานี้ รัฐบาลจะผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ลงมาแล้วก็ตาม

สงครามการค้าที่กดดันจีนอย่างหนักมาตลอดปีที่ผ่านมา บวกกับแรงกดดันด้านเทคโนโนโลยีที่มีต่อ หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ บริษัทโทรคมนาคมเบอร์ 1 ในจีน ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนไม่ได้จำกัดแค่ภาคการผลิตและ ส่งออก แต่ยังมีผลทางจิตวิทยาในภาพรวม กระทบต่อการบริโภคของชาวจีน ที่อ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังบวกกับเรื่องดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วง ที่ผ่านมา จึงกลายเป็นสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนักต่อภาคเอกชนในจีนตั้งแต่ รายย่อยไปจนถึงรายใหญ่

หากดูตัวเลขในปี 2018 ที่ผ่านมา จะเห็นว่าเป็นปีที่มีอัตราการผิดนัดชำระหนี้ภาคเอกชนพุ่งขึ้นสูงสุดทุบสถิติใหม่ในจีน อยู่ที่ 1.196 แสนล้านหยวน (ราว 5.54 แสนล้านบาท) และเป็นที่คาดว่าอาจจะพุ่งขึ้นต่อเนื่องอีกในปี 2019 นี้ โดยบริษัทประกันเครดิต ออยเลอร์ เฮอร์เมส คาดการณ์ว่าการล้มละลายของบริษัทในจีนจะเพิ่มขึ้น 20% ในปีนี้ สูงกว่า ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ 6% และต่อเนื่องจากปีที่แล้วซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้น 60% เนื่องจากผลกระทบจากศึกการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งหากบริษัทจีนล้มละลายเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้อัตราการล้มละลายของบริษัทในเอเชียจะเพิ่มขึ้น 15% ในปีนี้ หลังจากเพิ่มขึ้น 37% เมื่อปีที่แล้ว

การคาดการณ์นี้ยังสอดคล้องกับ ที่สื่อญี่ปุ่นอย่าง นิกเกอิ เอเชียน รีวิว เคยรายงานว่า ในปี 2018 มีบริษัทจดทะเบียนในจีนราว 30% จาก 3,600 แห่ง ที่มีรายได้ลดลง และอีกราว 400 แห่ง อยู่ในภาวะขาดทุน

ภาวะที่เริ่มกดดันภาคธุรกิจ มากขึ้นเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลปักกิ่งดำเนินนโยบายผ่อนคลายมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว โดยเฉพาะการให้ธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบมาหลายครั้ง ซึ่งยังส่งผลทางอ้อมกดดันดอกเบี้ยในตลาดเงินด้วย และ ยังมีการออกมาตรการกระตุ้นหลายทาง รวมถึงกระตุ้นการลงทุนภาครัฐ การช่วยพยุงธุรกิจเอสเอ็มอี แม้กระทั่งการยอมผ่อนคลายเรื่องการควบคุมมลพิษทางอากาศ จากเดิมที่จะคุมเข้มภาคการผลิตในช่วงหน้าหนาว แต่ก็ ดูจะยังไม่สามารถคุมภาวะเลือดไหล ในภาคธุรกิจได้

ล่าสุด เริ่มมีสัญญาณตอบรับความกังวลมาจากฝั่งรัฐบาลจีนเองมากขึ้นแล้ว โดยสำนักงานการวางแผนของรัฐมีแผนจะสอบเรื่องศักยภาพการชำระตราสารหนี้คืนของภาคเอกชนจีน หรือคล้ายกับที่หลายประเทศมีการทำ Stress test ทดสอบความแข็งแกร่ง ในภาคธนาคาร โดยการสอบครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อหามาตรการออกมา รับมือความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชนต่อไป

เพราะหากปล่อยไปตามกลไกตลาดเพียงอย่างเดียว ในช่วงเวลาที่แดนมังกรกำลังเจอมรสุมแบบดอลบี้ เซอร์ราวด์เช่นทุกวันนี้ สถานการณ์อาจบานปลายกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่กัดกร่อนความเชื่อมั่นของจีน และซ้ำเติมความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจโลก ที่กำลังอ่อนแรงในวันนี้

โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ

Source: Posttoday

เพิ่มเติม
- CHINA MINSHENG INVESTMENT NAMES CP EXEC AS CO-CHAIR AFTER BOND DEFAULT:

คลิก

- China launches countrywide bonds health check as default wave looms:

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

สนับสนุนข่าวโดย ICMarkets
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"