ในช่วงไม่นานนี้ "ภาคอุตสาหกรรม ยานยนต์" ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดันฉุดการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากการที่สหรัฐเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้า จนส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ตลาดจีน ซึ่งถือเป็นความหวังอันยิ่งใหญ่ของบรรดาค่ายรถ
เพราะเป็นตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แสดงสัญญาณอ่อนแรงลงเมื่อไม่นานนี้ โดยยอดขายรถในจีนลดลงถึง 11.7% เมื่อเดือน ต.ค. ปรับลงเป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปี
ความเสี่ยงของบรรดาค่ายรถยังไม่หมดลงเพียงเท่านั้น เพราะล่าสุด เวิร์ทชาฟท์โวคเคอ นิตยสารธุรกิจในเยอรมนี รายงานอ้างแหล่งข่าวในสหภาพยุโรป (อียู) ว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ จะพิจารณาการตั้งภาษี 25% กับรถยนต์นำเข้าอีกครั้งในสัปดาห์หน้า หลังเสร็จสิ้นการประชุมจี20 แล้ว ซึ่งหมายความว่า ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์อาจต้องเตรียมตัวรับฝันร้ายเขย่าธุรกิจอีกระลอกหนึ่ง
ความเสี่ยงนานัปการทั้งจากต้นทุนพุ่งทะยาน ยอดขายชะลอตัว และทิศทางเศรษฐกิจอ่อนแรงลง กำลังดาหน้ากันเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ค่ายรถจำนวนมากเริ่มเร่งเกียร์ปรับทัพรับมือความไม่แน่นอนในอนาคต โดยประกอบด้วยการปรับตัวหลักๆ 3 อย่าง คือ การหั่นรายจ่าย หาพันธมิตรมุ่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และรถยนต์พลังงานใหม่ (เอ็นอีวี) รวมถึงพลิกโฉมธุรกิจรุกขยายบริการให้ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น แทนการขายรถอย่างเดียวแบบเดิมๆ
สำหรับการลดค่าใช้จ่ายและการจับมือเป็นพันธมิตรกันยิ่งขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะนับเป็นกลยุทธ์ดั้งเดิมของทุกธุรกิจ แต่ที่น่าสนใจคือ ในช่วงปีนี้ค่ายรถหลายค่ายต่างหันมาดำเนินการดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ
"เจนเนอรัล มอเตอร์ส" หรือ จีเอ็ม บิ๊กค่ายรถสัญชาติอเมริกันเป็นรายล่าสุดที่ประกาศเตรียมปิดโรงงาน 7 แห่งทั่วอเมริกาเหนือ และลดพนักงานกว่า 1.4 หมื่นคนในปีหน้า รวมถึงจะเลิกผลิตรถยนต์อีก 6 รุ่นเพื่อลดรายจ่าย ขณะที่บริษัทจะหันไปเน้นพัฒนารถอีวีและรถยนต์ไร้คนขับแทน โดยก่อนหน้านี้ บริษัทเปิดเผยว่าจะเปิดตัวรถอีวี 20 รุ่นใหม่ในอเมริกาเหนือภายในปี 2023 และอย่างน้อย 10 รุ่นในจีนภายในปี 2020
แม้จีเอ็มจะระบุว่าสงครามการค้าไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงล่าสุด แต่ก่อนหน้านี้จีเอ็มเปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายของบริษัทในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.32 หมื่นล้านบาท) เนื่องจากผลกระทบภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม
นอกจากจีเอ็มแล้ว ก่อนหน้านี้ "บีเอ็มดับเบิลยู" จากเยอรมนี เปิดเผยว่า จะหาทางประหยัดรายจ่ายมากยิ่งขึ้น เพื่อชดเชยการทุ่มงบมหาศาลไปกับการพัฒนารถอีวีในปีนี้ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดดังกล่าวเพิ่มเติม โดยการจะใช้แผนรัดเข็มขัดดังกล่าว เกิดขึ้นหลังบริษัทเปิดเผยผลกำไรไตรมาส 3 ที่ร่วงลงถึง 27% ไปอยู่ที่ 1,750 ล้านยูโร (ราว 6.52 หมื่นล้านบาท) ซึ่งกำไรที่ลดลงเป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบทะยานขึ้น จากการตั้งภาษีตอบโต้กันระหว่างจีนและสหรัฐ
แม้บรรดาค่ายรถต้องพยายามตัดรายจ่ายเพื่อรักษาการขยายตัว ท่ามกลางยอดขายรถที่กำลังปรับตัวลงและราคาวัตถุดิบแพงขึ้น แต่การต้องไล่ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วให้ทันหากไม่อยากตกขบวนก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยก่อนหน้านี้ "โฟล์คสวาเกน" ประกาศเพิ่มการลงทุนในรถอีวีและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มขึ้น 30% อยู่ที่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.65 ล้านล้านบาท) ในอีก 5 ปีข้างหน้า ด้าน "ฟอร์ด" เปิดเผยว่า จะลงทุนอีก 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.63 แสนล้านบาท) จนถึงปี 2022 เพื่อขยายการพัฒนารถอีวี
ค่าใช้จ่ายจากการต้องลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่ายรถต้องหันมาจับมือกันเพื่อลดรายจ่าย โดยรอยเตอร์สรายงานว่า ค่ายรถประกาศความเป็นพันธมิตรกัน 5 ครั้งนับตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งรวมถึงค่ายรถแดนปลาดิบอย่าง "มาสด้า" และ "โตโยต้า" ประกาศจะเปิดโรงงานผลิตรถร่วมกันมูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.28 หมื่นล้านบาท) ภายในปี 2021 ด้านฟอร์ดและโฟล์คสวาเกนจะร่วมเป็นพันธมิตรกันผลิตรถเชิงพาณิชย์ ล่าสุดเมื่อเดือน ต.ค. "ฮอนด้า" ระบุว่าจะลงทุน 2,750 ล้านยูโร (ราว 1.02 แสนล้านบาท) เข้าไปถือหุ้นใน ครูซ หน่วยพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของจีเอ็ม เพื่อพัฒนารถยนต์ไร้คนขับร่วมกันและต่อยอดไปสู่การขยายบริการใหม่ๆ
คงจะกล่าวได้ว่า รถอีวีและรถไร้คนขับคือตัวขับเคลื่อนการขยายตัวของบรรดาค่ายรถในอนาคต และภาคอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเดินหน้าในด้านดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
แต่อีกสิ่งที่กำลังจะกลายมาเป็นอนาคตใหม่สำหรับธุรกิจยานยนต์เช่นกันคือ "ออโต้โมบิลิตี้" ซึ่งหมายถึงบริการเดินทางสัญจรด้วยรถยนต์ โดยไม่จำเป็นต้องมีรถเป็นของตัวเอง อาจจะเป็นการเช่ารถมาขับ หรือใช้บริการเรียกรถรับส่ง โดยธุรกิจดังกล่าวกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางการปรากฏตัวขึ้นของแอพพลิเคชั่นเรียกรถรับส่งต่างๆ
การเติบโตของออโต้โมบิลิตี้กำลังเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในจีน ตลาดยานยนต์ยักษ์ใหญ่สุดของโลก โดยนิกเกอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า รายได้ของธุรกิจดังกล่าวในจีนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.9 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 19 ล้านล้านบาท) ในปีนี้ จาก 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.3 แสนล้านบาท) เมื่อปีที่แล้ว และจะขยายตัวต่อเนื่องไปอยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 33 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2025
"โตโยต้า" ถือเป็นค่ายรถที่มีจุดยืนชัดเจนในการมุ่งตอบโจทย์การเดินทางของผู้บริโภคยุคใหม่แทนการขายรถอย่างเดียว โดยเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โตโยต้าได้ลงทุนในแกร็บ ไรด์เฮลลิ่งที่ครองตลาดอาเซียนมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 3.3 หมื่นล้านบาท) เพื่อหวังเข้าถึงข้อมูลการเดินทางของผู้บริโภค
ล่าสุดเมื่อเดือน ต.ค. โตโยต้าประกาศเปิดบริการให้เช่ารถ (Car Subscription Service) ชื่อ คินโตะ (KINTO) โดยประเดิมในญี่ปุ่นก่อนที่แรกเดือน ม.ค. 2019 ซึ่งบริการดังกล่าวนั้นเป็นการจ่ายเงินค่าสมาชิกรายเดือน แล้วผู้ใช้สามารถเลือกรถรุ่นต่างๆ หลายรุ่นมาใช้ได้ตามต้องการ นับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามแตกไลน์ธุรกิจของโตโยต้า เพื่อสร้างรายได้จากส่วนอื่นๆ นอกจากการขายรถเพียงอย่างเดียว
"ขณะที่สังคมได้เปลี่ยนจากการเป็นเจ้าของรถสู่การใช้รถ บริการคินโตะของโตโยต้าคือแนวทางใหม่ที่ช่วยให้ผู้บริโภคใช้รถยนต์ได้อย่างอิสระยิ่งขึ้น และยังเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเป็นเจ้าของรถยนต์ได้ง่ายขึ้น" อากิโอะ โทโยดะ ประธานโตโยต้า กล่าว พร้อมเสริมว่า หากลูกค้าต้องการลองขับรถรุ่นอื่นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องซื้ออีกต่อไป เพียงแค่เอารถรุ่นเดิมมาเปลี่ยน และหากไม่ต้องการรถแล้วก็แค่นำรถมา ส่งคืน
การเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นคงเกิดขึ้นอีกหลายระลอก ท่ามกลางความท้าทายมากมายที่ค่ายรถต้องเผชิญ และน่าจะนำไปสู่การพลิกโฉมทั้งภาคอุตสาหกรรมในอนาคต
โดย นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์
Source: Posttoday
- Toyota to experiment with car subscription program in Japan
คลิก
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
สนับสนุนข่าวโดย ICMarkets
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/