หากเป็นไปตามที่ รพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หน่วยงานที่กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 คาดว่าภายในสิ้นปีนี้
จะสามารถเปิดให้มีการระดมทุนเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลได้
กรณีนี้จะเป็นการเปิดทางให้เอกชนเข้ามาระดมทุนผ่านการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลด้วยกระบวนการเสนอขายเหรียญดิจิทัล (ไอซีโอ) ได้อย่างเป็นทางการ มีกฎหมายรองรับชัดเจนซึ่งไทยถือว่ามีพัฒนาการที่เร็วมากประเทศแรกๆ ในโลก ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ขอรอดูความชัดเจนถึงทิศทางการระดมทุนผ่านไอซีโอ
สำหรับ กระบวนการไอซีโอ ตาม พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินทรัพย์ดิจิทัล จะครอบคลุม คริปโทเคอเรนซี ซึ่งเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นมาบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ ใช้แลกเปลี่ยนสินค้าบริการ สิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ ก.ล.ต.กำหนด และ โทเคนดิจิทัล หมายถึง หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่สร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกำหนดสิทธิของคนในการเข้าร่วมลงทุน สิทธิการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นที่ระบุไว้ในสัญญา
สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ จะมีเพียง 2 กลุ่มเท่านั้นที่สามารถเข้ามาทำไอซีโอ ด้วยการออกคริปโทเคอเรนซี หรือ โทเคน
กลุ่มแรก คือ บริษัทเอกชน และสถาบันการเงิน เช่น กลุ่มสตาร์ทอัพ ทั้งที่เป็นเทกสตาร์ทอัพ ที่ระดมทุนเพื่อนำเงินไปพัฒนาโครงการในฝันด้านเทคโนโลยี ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง และธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่ระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนา
สินค้าและบริการต่างๆ ที่มีอยู่แล้วเพื่อขยายตลาด ซึ่ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีการลงทุนจัดตั้ง บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป (LiVE) เพื่อส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนตรงจากนักลงทุน
ผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ออกเพื่อนำมาใช้หมุนเวียนภายในกลุ่มโดยมีสินทรัพย์หนุนหลัง ทั้งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่ง ตลท.มีแนวคิดที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต และบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์
สถาบันการเงิน ออกเพื่อนำมา รองรับการโอนเงินระหว่างธนาคารที่มีมูลค่าสูงให้เกิดความรวดเร็ว และการชำระเงินรายย่อย เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยมีเงินสกุลที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลหนุนหลัง แต่จะมีระดับของการให้เข้าถึงข้อมูลธุรกรรมจำกัด เพื่อรักษาความความสามารถด้านการแข่งขัน
กลุ่มสอง คือ ธนาคารกลาง ซึ่งก็คือธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ อินทนนท์ ระยะแรก ให้มีการทดสอบโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลจำลองที่ ธปท.เป็นผู้ออก (Wholesale Central Bank Digital Currency : Wholesale CBDC)
ส่วนกลุ่มบุคคลนิรนาม ถ้าออกถือว่าผิด พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ที่ระบุให้ผู้ออกต้องแสดงตัวตน หากจะทำต้องไปออกและขายในต่างประเทศ เช่น คริปโทเคอเรนซีกลุ่มบิตคอยน์ (Bitcoin) ถึงวันนี้ก็ไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงว่า ใครคือผู้ออก เพียงระบุว่าพัฒนาและออกโดยคนหรือกลุ่มคนภายใต้นามแฝง "ซาโตชิ นากาโมโตะ"
ทั้งนี้ กลุ่มหัวก้าวหน้า เชื่อว่า คริปโทเคอเรนซีหรือโทเคน จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมตลาดทุนไทยและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะเทคโนโลยีบล็อกเชนจะทำให้สามารถนำทรัพย์สินที่จับต้องได้ ขนาดใหญ่ มูลค่าสูง ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการลงทุน มาแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล แล้วนำไปแบ่งย่อยขายให้กับนักลงทุนทุกกลุ่มได้ จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินได้หลายเท่าตัว และทำให้มีเงินทุนนำไปพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทย
ยกตัวอย่าง ห้องพักอาศัยในคอนโดมิเนียมหรู ราคา 20 ล้านบาท ซึ่งมีแต่คนรวยเท่านั้นที่ลงทุนได้ หากนำมาแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านกระบวนการไอซีโอ ออกเป็น โทเคนที่กำหนดสิทธิความเป็นเจ้าของ หน่วยละ 1,000 บาท จะทำให้คนทั่วไปสามารถลงทุนในห้องพักคอนโดหรูได้ หากมองว่าห้องพักจะมีราคาสูงขึ้น ความต้องการซื้อโทเคนในตลาดก็จะสูงขึ้น และดันให้ราคาโทเคนสูงขึ้น
หรือ สินทรัพย์ที่เป็นทองคำ เพชร รวมถึงสินทรัพย์อื่นๆ ซึ่งถูกเก็บไว้เฉยๆ สามารถนำมาแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล และนำออกขายผ่านกระบวนการไอซีโอ จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในโลกดิจิทัลให้กับทรัพย์สินเหล่านั้นได้หลายเท่าตัว
ภาพของ คริปโทเคอเรนซี หรือ โทเคน ในไทย จะออกมาเป็น 2 แบบ คือแบบที่ ออกมาเพื่อใช้กันภายในกลุ่มธุรกิจ จะไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะการใช้ประโยชน์จากคริปโทเคอเรนซี หรือโทเคน อยู่ในวงแคบ ไม่สามารถใช้เป็นเงินสดเพื่อนำไปซื้อสินค้า หรือ ชำระค่าสินค้าและบริการ รวมถึงสิทธิอื่นๆ นอกกลุ่มที่ออกสินค้าได้ จะแลกเป็นเงินสดได้ ต้องนำโทเคนไปเทรดในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ในขณะที่ต่างประเทศ หลายธุรกิจยอมรับสกุลเงินบิตคอยน์
แบบที่ มีการซื้อขายเพื่อลงทุนในวงกว้าง ที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง หรือมีสินค้าและบริการอยู่แล้ว แต่ต้องการระดมเงินเพื่อไปขยายขนาดของธุรกิจ เพราะผู้ออกจะมั่นใจว่าสามารถดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั่วไปได้มากกว่า สามารถระดมเงินทุนได้มากกว่า และจะเป็นแบบที่นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ยอมรับ
ขณะที่การระดมทุนที่มีเพียงโครงการที่จะทำในอนาคตมาโชว์ จะเป็นส่วนน้อย เพราะสิทธิประโยชน์อยู่ในวงจำกัดเช่นกัน เพราะความเสี่ยงที่โครงการจะไม่เป็นไปตามแผนเป็นไปได้สูง คือ ล้มเหลวสูง ซึ่งกลุ่มนี้จะมีนักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุนเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีเงินทุนหนาสามารถยอมรับเงินลงทุนเป็นศูนย์ได้
เชื่อว่า ในช่วงแรกนี้ การระดมทุนผ่านกระบวนการไอซีโอ จะได้รับความนิยม แต่ไม่ถึงขั้นสามารถเปลี่ยนโฉมหน้าการระดมทุน หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทยได้มากนัก เพราะคนที่เข้าใจการลงทุนจำกัดอยู่ในวงแคบ
แม้กฎหมายไทยจะยอมเปิดให้ระดมทุนได้ แต่ระบบเศรษฐกิจไทยยังไม่ยอมรับคริปโทเคอเรนซี หรือโทเคน เป็นตัวกลางในการชำระค่าสินค้า หรือชำระค่าบริการได้ตามกฎหมาย และยังไม่เปิดรับแลกคริปโทเคอเรนซีหรือโทเคนเป็นเงินสด ร้านค้าต่างๆ ในไทย ยังนิยมถือเงินสด แทนการถือคริปโทเคอเรนซี ซึ่งมีความเสี่ยงสูง
ทั้งนี้ คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่ากี่ปี แม้เทคโนโลยีจะก้าวล้ำทุกวัน เพื่อให้สังคมไทยได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน ทั้งฝ่ายกำกับดูแล ผู้ที่มองว่า คริปโทเคอเรนซีหรือโทเคน จะมีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปอย่างรวดเร็ว และเรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศอื่นๆ เพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานของการระดมทุนแนวใหม่ให้เข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืน
โดย วารุณี อินวันนา
Source: Posttoday
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/