แม้จีนจะเผชิญสงครามการค้ามายาวนานตั้งแต่ต้นปี โดยสถานการณ์เริ่มปะทุหนักหลังเดือน มิ.ย. ที่ทั้งฝ่ายสหรัฐและจีนต่างประกาศตั้งกำแพงภาษีกันฝ่ายละ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.65 ล้านล้านบาท) แต่รัฐบาลปักกิ่งก็ไม่เคยแสดงอาการหวาดกลัวให้เห็น
ตรงกันข้าม กลับยิ่งส่งสัญญาณแข็งกร้าวพร้อมประกาศมาตลอดว่า จีนทั้งแข็งแกร่งและมีกระสุนมากพอที่จะรับมือกับสงครามครั้งนี้
ทว่า ในการประชุมคณะกรรมการกรมการเมืองของจีน (โปลิตบูโร)เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา สัญญาณที่ส่งออกมาครั้งนี้กลับเป็นหนังคนละม้วนกับที่ผ่านมา เพราะได้ยอมรับเป็นครั้งแรกว่า จีนกำลังเผชิญผลกระทบที่หนักหนาสาหัสกว่าที่คิดเอาไว้
แถลงการณ์จากที่ประชุมโปลิตบูโรซึ่งมีประธานาธิบดี สีจิ้นผิง นั่งเป็นประธาน ระบุว่า เศรษฐจีนกำลังเผชิญแรงกดดันทางลบเพิ่มขึ้น อีกทั้งบรรยากาศภายนอกประเทศก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องออกมาอย่างทันท่วงทีออกมารับมือ และกำลังเตรียมแผนกระตุ้นเพิ่มเติมเอาไว้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเปิดเผยว่าจะกระตุ้นเพิ่ม แต่เป็นครั้งแรกที่รัฐยอมรับอย่างเป็นทางการว่า สงครามครั้งนี้ไม่หมู และจีนก็อ่วมในศึกครั้งนี้ไม่น้อย
นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองตรงกันว่า การออกมายอมรับเช่นนี้ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติของรัฐบาลปักกิ่ง เป็นเพราะสถานการณ์ในจีนกำลังย่ำแย่หนักอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจมหภาคทั้งการผลิตและการส่งออก ไปจนถึงด้านตลาดเงินและตลาดทุน ที่เงินหยวนของจีนอ่อนค่าลงหนักพร้อมภาวะทุนไหลออกต่อเนื่อง
"การยอมรับเรื่องเศรษฐกิจเติบโตได้ช้าลง เป็นเรื่องยากสำหรับจีนมานานแล้ว แต่ในวันนี้ อัตราของการชะลอตัวยิ่งออกจากเขตคอมฟอร์ทโซนอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งอาจทำให้โฟกัสของจีนที่เน้นคุมความเสี่ยงในระบบการเงินมากกว่าเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในช่วง 2-3 ปีมานี้ อาจต้องเปลี่ยนไป" แคทรินา แอล นักเศรษฐศาสตร์จากมูดีส์ แอนาไลทิกส์ ให้มุมมองกับบลูมเบิร์ก
ข่าวร้ายของจีนสะท้อนออกมาล่าสุดผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ของจีนในเดือน ต.ค ซึ่งอยู่ที่ 50.2 หรือต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2016 และยังต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 50.6 โดยลดลงมาจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 50.8 ส่วนยอดคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งบ่งชี้แนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในเดือน ต.ค. อยู่ที่ 46.9 ลดลงจาก 48.0 ในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นการลดลงเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ขณะที่พีเอ็มไอภาคบริการลดลงมาอยู่ที่ 53.9 จาก 54.2
ตัวเลขนี้นับเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนกำลังฉุดดีมานด์ทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ เพราะเดือน ต.ค. ยังเป็นเดือนแรกที่มาตรการกำแพงภาษีสินค้าจีนล็อตหลัง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.47 ล้านล้านบาท) ของสหรัฐ มีผลบังคับใช้เต็มเดือน หลังจากเริ่มดีเดย์ไปวันที่ 24 ก.ย. ขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ยังขู่จะตั้งกำแพงภาษีจีนเพิ่ม อีกล็อตใหม่อีกเกือบ 2.6 แสนล้านดอลลาร์ (เกือบ 8.6 ล้านล้านบาท) หากการเจรจานอกรอบที่ประชุม จี20 ร่วมกับสี ในปลายเดือนนี้ ไม่ได้ผลสำเร็จ
ร็อบ ซับบารามาน หัวหน้านักวิเคราะห์ฝ่ายตลาดเกิดใหม่ของ โนมูระ โฮลดิงส์ ระบุว่า ดัชนีพีเอ็มไอล่าสุดบ่งบอกว่าเศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในภาวะตึงเครียด แม้ว่าปักกิ่งกำลังใช้นโยบายช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ก็ตาม
ในอีกด้านหนึ่ง "ค่าเงินหยวน" ของจีนก็ยังคงอ่อนค่าลงหนักและเพิ่งแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยลงไปสูงสุด 0.15% แตะ 6.9724 หยวน/ดอลลาร์ หลังจากที่ธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ปรับลดค่ากลางเงินหยวนลงอีก 0.28% หรือต่ำสุดในรอบมากกว่า 10 ปี ซึ่งเท่ากับว่าในช่วง 6 เดือนมานี้ เงินหยวนอ่อนค่าลงไปแล้วราว 9%
แม้เงินอ่อนค่าจะเป็นผลดีกับส่งออกจีน แต่สถานการณ์ของจีนในปัจจุบันก็ไม่เหมือนก่อนแล้ว โดยเฉพาะหากตลาดมองว่าค่าเงินมีแต่จะอ่อนค่าลง ก็จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะทุนไหลออกหนักขึ้น กลายเป็นความเสี่ยงด้านเสถียรภาพและภาระที่แบงก์ชาติต้องเข้าไปดูแลแทน
เมื่อวานนี้ ค่าเงินหยวนออนชอร์จะกลับมาดีดตัวขึ้นไปอยู่ที่ 6.9496 หยวน/ดอลลาร์ หลังจากดิ่งไปรวม 1.5% ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นการอ่อนค่าเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ยาวสุดตั้งแต่ปี 1994 แต่นักวิเคราะห์หลายสำนัก เช่น ธนาคารโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า ค่าเงินหยวนจะไปแตะ 7 หยวน/ดอลลาร์ แน่นอน โดยโกลด์แมนให้กรอบไว้ภายใน 6 เดือนนี้ เพราะดูทรงแล้วว่าแบงก์ชาติจีนไม่น่าจะแทรกแซงหนักเพื่อต้านระดับดังกล่าว
โกลด์แมน แซคส์ มองว่า พีบีโอซีอาจใช้วิธีปรับขึ้นค่ากลางเงินหยวน แต่จะไม่ขายดอลลาร์มหาศาลเพื่อพยุงค่าเงินเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน เพราะสถานการณ์ปัจจุบันต่างออกไป และสุกงอมพอที่จะรองรับระดับ 7 หยวน โดยไม่ก่อให้เกิดการตื่นตระหนกและสร้างแรงเทขายหนักในคราวเดียวกันอีก แต่แนวโน้มเช่นนี้เองก็อาจทำให้มีทุนไหลออกมากขึ้นกว่าเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา และอาจทำให้ค่าเงินหยวนหลุดไปถึงระดับ 7.1 หยวน/ดอลลาร์ ภายใน 6 เดือนนี้
ปัจจุบันจึงเริ่มเห็นสัญญาณมือ 10 ทิศจากรัฐบาลจีนที่เข้าไปดูแล ประคับประคอง และกระตุ้นไปพร้อมๆ กัน
ในฝั่งประคองเสถียรภาพตลาดเงินนั้นก็มีรายงานว่า จีนเริ่มขอให้เอกชนชะลอการลงทุนในต่างประเทศลงแล้ว โดยส่งสัญญาณผ่านพวกกองทุนรวมที่ได้ใบอนุญาต QDLP ให้ชะลอการนำเงินนักลงทุนจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศ และมีรายงานว่าแบงก์ชาติจีนจะออกพันธบัตรในตลาดฮ่องกง เพื่อดูดซับสภาพคล่องช่วยพยุงค่าเงินหยวนด้วย
ส่วนในฝั่งกระตุ้นนั้น หลายสำนักมองว่าจีนคงเน้นไปที่การใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลัง (Fiscal) มากกว่ามาตรการทางการเงิน (Monetary) ที่มีข้อจำกัดมากกว่าในยุคการเงินโลกตึงตัวและดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งในปัจจุบันที่จีนลดการกันสำรองของแบงก์พาณิชย์ หรือ RRR มาแล้วหลายครั้งเพื่อเสริมสภาพคล่อง แต่ก็ปรากฏชัดแล้วว่ายังไม่ได้ผลเท่าที่ควร
กั๊วเล่ย นักวิเคราะห์จากจีเอฟ ซีเคียวริตีส์ ระบุกับบลูมเบิร์กว่า การใช้มือไม้ทางการคลังอาจเป็นไปใน 2 สูตรหลักๆ คือ 1.ลดภาษี และ 2.การใช้จ่ายโดยตรงของภาครัฐและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
แนวทางนี้ยังสอดคล้องกับที่รอ ยเตอร์สรายงานอ้าง รมช.คลัง ของจีน ที่ระบุว่า จีนกำลังวางแผนปรับลดภาษีลงอีกเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ แต่ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม โดยทางกระทรวงให้คำมั่นว่าจะใช้นโยบายการคลังเชิงรุกมากยิ่งขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง ขณะที่รัฐบาลยังจะเปิดการปล่อยกู้รอบใหม่วงเงิน 2.14 แสนล้านหยวน (ราว 1 ล้านล้านบาท) นับตั้งแต่ปี 2561-2563 สำหรับเขตพื้นที่ยากจนในประเทศ
แม้การใช้กลไกการคลังอาจเพิ่มภาระให้จีนที่ยังมีปัญหาติดพันเรื่องหนี้มหาศาล แต่ในภาวะที่สัญญาณลบทะลุคอมฟอร์ทโซนเช่นนี้ เห็นทีจีนคงไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากต้องทุ่มพยุงเศรษฐกิจให้เข้มข้นมากกว่าเดิม
โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ
Source: Posttoday
Cr.Sayan Rujiramora
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/