forex_calendar

1.  ตั้งเวลาให้ตรงกับประเทศไทยคือ (GMT+7:00) Bangkok, Hanoi, Jakarta
2.  ไว้สำหรับเลือกวันที่ต้องการดูข่าว
3.  เวลาข่าวออก
4.  ตระกูลเงินของข่าว
5.  ความรุนแรงของข่าว
6.  เหตุการณ์ของข่าว
7.  ค่าตัวเลขจริงที่ออก
8.  ค่าตัวเลขคาดการณ์
9.  ค่าตัวเลขครั้งก่อน

forex_calendar

เมื่อถึงเวลาข่าวออกตัวเลขค่าจริงจะแสดงออกมาในช่อง Actual ซึ่งจะมีสีแตกต่างกันดังนี้

  • ตัวเลขออกเป็นสีเขียวแสดงตัวเลขดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
  • ตัวเลขออกเป็นสีแดงแสดงว่าตัวเลขแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้
  • ตัวเลขออกเป็นสีดำแสดงว่าตัวเลขเท่ากับค่าที่คาดการณ์หรือใกล้เคียงกับสถิติเดิม (Previous)

 

สิ่งที่ต้องสนใจในการเทรดข่าว Forex

 

1.  เรื่องค่าสกุลเงิน ถ้าเทรดสกุลไหนก็ต้องสนใจเฉพาะสกุลนั้น เช่นถ้าเราเช่น EUR/USD ก็สนใจเฉพาะข่าวของ USD และ EUR และเราต้องรู้ด้วยว่าถ้าข่าวออกมาจะทำให้ค่าเงินเราขึ้นหรือลง เช่น ถ้าเราเล่น EUR/USD ถ้าข่าวดอลลาร์สหรัฐออกมาดีแสดงคู่เงินที่มี USD อยู่หลังกราฟจะลง แต่ถ้าข่าว USD ออกมาไม่ดีกราฟจะขึ้น ในทางกลับกันถ้าข่าว EUR ออกมาดีกราฟจะขึ้นแต่ถ้าข่าว EUR ออกมาไม่ดีกราฟจะลง

2. เรื่องระดับความแรงของข่าว ระดับความแรงขอข่าวจะมีสามระดับดังรูป

forex_calendar

3. ค่าตัวเลขจริงที่ออก(Actual) ถ้าค่าตัวเล่นจริงที่ออกมาต่างจากค่าก่อนหน้า(Previous)มาก ยิ่งมีผลทำให้ค่าเงินวิ่งขึ้นลงแรงมาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับความแรงของข่าวด้วย

ธนาคารไร้สาขามีประโยชน์อย่างไร กรณีศึกษาในอังกฤษที่ได้กำไรและขาดทุนเป็นอย่างไร

ยุคสมัยของธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) กำลังจะเริ่มตั้งขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ภายในสองปีข้างหน้า หลังจากราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการของใบอนุญาตประกอบธุรกิจ เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2567

ภายในสัปดาห์แรกหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดรับสมัครเพื่อทำการคัดเลือกผู้ประกอบการธนาคารไร้สาขานี้ในวันที่ 20 มี.ค. - 19 ก.ย. นี้
คนไทยก็เริ่มได้เห็นโฉมหน้าธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่เริ่มแนะนำตัวเพื่อจะเข้ามาให้บริการในตลาดใหม่นี้ นอกเหนือจากเดิมที่มีเพียงธนาคารพาณิชย์ทั่วไป และกลุ่มที่เรียกว่านอนแบงก์ หรือสถาบันการเงินที่ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลรูปแบบต่าง ๆ
ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศระบุว่า ภายในเดือน มิ.ย. 2568 จะประกาศรายชื่อ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก และภายในหนึ่งปีให้หลัง หรือ ภายในเดือน มิ.ย. 2569 คาดว่าธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาจะเริ่มให้บริการ
บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกสองปีข้างหน้าว่า มีความคึกคักมากน้อยเพียงใด
"เจ้าสัวไทย" ตบเท้าเข้าเสนอตัวชิงส่วนแบ่งตลาด
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานวันที่ 20 มี.ค. ว่า มี “เจ้าสัว” หรือ อภิมหาเศรษฐีสองราย หนึ่งคือเจ้าของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี และอีกคนคืนเจ้าสัวเจ้าของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่แห่งวงการพลังงานมีความประสงค์ที่จะเข้ามาแย่งชิงตลาดเกิดใหม่นี้ ท่ามกลางการจับตาจากคู่แข่งรายอื่น
เริ่มต้นที่เครือซีพียกบริษัทลูกด้านเทคโนโลยีการเงินอย่างทรู มันนี่ (True Money) ไปจับคู่กับ แอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) บริษัทลูกด้านการเงินของรายใหญ่อย่างอาณาจักรอาลีบาบาของจีน ซึ่งดูไม่ได้สนใจตลาดอาเชียแค่ไทยเท่านั้น
โดยแอนท์ กรุ๊ป ประกาศความร่วมมือของอาลีเพย์ (Alipay) กับผู้เล่นในธุรกิจกระเป๋าเงินออนไลน์และแอปพลิเคชันจ่ายเงินออนไลน์มากถึง 10 ความร่วมมือ (นับรวมทรู มันนี่แล้ว) ทั้งในมาเลเซีย สิงคโปร์ รวมไปถึงเกาหลีใต้ เมื่อ 9 ก.ย. 2023
ด้าน บมจ.กัลฟ์ฯ หันไปผนึกกำลังจากทั้งผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของไทยอย่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส รวมถึง ธนาคารกรุงไทย ในขณะที่ยังรอการยืนยันจากฝั่งบริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์
นอกจากว่าที่ผู้เล่นหน้าใหม่สองรายในตลาดธนาคารไร้สาขาแล้ว ยังมีบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ก็เตรียมความพร้อมลงนามการเป็นพันธมิตรบริษัท KakaoBank ของเกาหลีใต้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งยังลงนามเพิ่มกับ WeBank ของจีนที่มีเทนเซ็นต์ถือหุ้นถึง 30% เพื่อลงมาเล่นในตลาดนี้อีกด้วย
อีกกลุ่มความร่วมมือที่น่าสนใจนำโดยบริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำธุรกิจจำหน่ายค้าปลีกและค้าส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่และสินค้าที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก โดยเจมาร์ทจะส่งบริษัทลูกอย่างบริษัท เจเวนเจอร์ส จำกัด ไปลงสนามร่วมกับพันธมิตรจากเกาหลีใต้อย่าง KB Financial Group อย่างไรก็ดี ดูเหมือนพันธมิตรเพียงแห่งเดียวยังไม่เพียงพอสำหรับเจมาร์ทที่จะลงสนามไปปะทะกับยักษ์ใหญ่ข้างบน
ธนาคารไร้สาขา: ความต่าง-ข้อดี-กฎเกณฑ์
ธนาคารไร้สาขา แตกต่างจากบริการธนาคารทางโทรศัพท์ (Mobile Banking) หรือ บริการทางอินเทอร์เน็ต (Internet Banking) ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปให้บริการอยู่แล้ว เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ในยุคดิจิทัล
สำหรับธนาคารไร้สาขา แท้จริงแล้วไม่ได้มีชื่อกลางภาษาอังกฤษที่ใช้กันโดยทั่วไป บางประเทศอย่างสหราชอาณาจักรใช้คำว่า “Neobank” สิงคโปร์และมาเลเซียใช้คำว่า “Digital Bank” หรือเกาหลีใต้และไต้หวันใช้คำว่า “Internet-only Bank” ส่วนประเทศไทยเลือกใช้ว่า “Virtual Bank” หรือนิยามให้ตรง ๆ ความหมายคือ "ธนาคารเสมือนจริง"
แม้ชื่อภาษาอังกฤษจะแตกต่างกันออกไป แต่ชื่อภาษาไทยนับว่า อธิบายคำจำกัดความได้อย่างดี เพราะสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ธนาคารประเภทนี้แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมคือ “ไม่มีสาขา เครื่องถอนเงินสดอัตโนมัติ หรือเครื่องฝากเงินสดเป็นของตัวเอง” ตามการอธิบายจาก ธปท.
เมื่อไม่มีสาขาและไม่มีอุปกรณ์ให้บริการต่าง ๆ ธนาคารไร้สาขาเหล่านี้จึงมีต้นทุนการบริหารธุรกิจที่ถูกลง ซึ่งส่งผลโดยตรงกับผู้ใช้บริการที่ไม่ได้ต้องแบกภาระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปมักผลักมาเป็นภาระของผู้ใช้บริการ
นอกจากนี้ ธรรมชาติการเกิดขึ้นมาของธนาคารไร้สาขา ตั้งอยู่บนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเงินที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว นวัตกรรมตรงนี้ที่แต่ละธนาคารไร้สาขามีสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดีขึ้นและเร็วขึ้นเมื่อเทียบกับธนาคารดั้งเดิม
สำหรับความร่วมมือของรัฐบาลไทยทั้งที่ผ่านจากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย มุ่งหวังที่จะเห็นว่าธุรกิจใหม่นี้จะช่วยตอบโจทย์บริการทางการเงิน โดยเฉพาะกับลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงทำให้อุตสาหกรรมการเงินมีการแข่งขันมากขึ้น
ทว่า การขอใบอนุญาตมีกฎเกณฑ์หลายมิติที่น่าจับตามองโดยเฉพาะเรื่องเม็ดเงินจดทะเบียนเริ่มต้น 5,000 ล้านบาท และต้องมีศักยภาพในการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 10,000 ล้านบาท เมื่อพ้นระยะแรกของการประกอบธุรกิจ
สิ่งนี้ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนออกมาแสดงความกังวล หนึ่งในนั้นคือ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน นักเขียน และนักแปลที่ออกมาเขียนบทความหรือคอลัมน์ผ่านเว็บไซต์ไทยรัฐพลัสว่า ทั้งกฎเกณฑ์ เงินจดทะเบียน รวมไปถึงต้นทุนของการทำธุรกิจอย่างระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่มีราคาสูงจะเป็นการผลักไม่ให้ผู้เล่นรายย่อยเข้ามาทำธุรกิจได้ ซึ่งนับว่าขัดกับเป้าหมายที่ภาครัฐอยากให้เป็น คือ การมีเล่นมากขึ้นเพื่อมาให้บริการกับกลุ่มผู้บริโภคที่ยังเข้าไปถึงธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
ในรายงานผลสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินภาคครัวเรือน ปี 2565 โดยฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. พบว่า ครัวเรือนในไทยกว่า 97% เข้าถึงและใช้บริการทางการเงินในระบบ อีก 1.9% อยู่ในกลุ่มไม่จำเป็นต้องใช้บริการ และอีก 0.8% อยู่ในกลุ่มเข้าไม่ถึงบริการในระบบ โดยกิจกรรมทางการเงินหลักได้แก่การชำระเงิน การฝากเงิน การโอนเงิน และสินเชื่อ ตามลำดับ
เมื่อมาดูที่กลุ่มครัวเรือนที่เข้าไม่ถึงบริการในระบบ (Underserved) สำหรับในแง่การฝากเงิน พบว่า เป็นเพราะอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ไม่ดี/ไม่เพียงพอ รวมถึงไม่เข้าใจผลิตภัณฑ์ ขณะที่กลุ่ม underserved ที่เข้าไม่ถึงบริการสินเชื่อในระบบ (ไม่รวมบัตรเครดิต) ส่วนมากเป็นกลุ่มที่มีอาชีพอิสระ หรือเป็นลูกจ้างเอกชน/รัฐบาลที่มีรายได้น้อย
กรณีศึกษาในสหราชอาณาจักร
ประชากรราว 19 จากทั้งหมด 67 ล้านคน ในสหราชอาณาจักรมีบัญชีกับธนาคารไร้สาขา คิดเป็นสัดส่วน 36% ตามสถิติธนาคารดิจิทัลในปี 2024 จากเว็บไซต์ finder.com
แม้ตัวเลข 19 ล้านผู้ใช้งานอาจดูไม่มากนัก เมื่อเทียบกับตัวเลขผู้ใช้งานของธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม อาทิ ธนาคารบาร์เคลย์ส (Barclays) ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดถึง 48 ล้านคน หรือ ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ที่มีผู้ใช้งาน 39 ล้านคน ตามตัวเลขในปี 2022
ทว่าผลการสำรวจนี้พบว่า อีก 5 ปีต่อจากนี้ กลุ่มประชากรเจนซี (กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 1996-2012) จะมีบัญชีกับธนาคารไร้สาขาอย่างเดียวถึง 68%
การประเมินจากเว็บไซต์ Statista ชี้ว่า ภายในปี 2028 จะมีผู้ใช้งานในกลุ่มธนาคารไร้สาขาเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 29 ล้านคน ขณะที่มูลค่าธุรกรรมทางการเงิน คาดว่าจะเติบโตในระดับ 12.85% ต่อปี ระหว่างปี 2024-2028 (CAGR) ส่งผลให้มูลค่าธุรกรรมทางการเงินเพิ่มจากตัวเลขประเมินในปี 2024 ที่ 9.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 36.2 ล้านล้านบาท) เป็น 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 58.2 ล้านล้านบาท)
มากไปกว่าแนวโน้มของคนเจนซีที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจธนาคารไร้สาขา คือ เมื่อพิจารณาที่ระดับความพึงพอใจของผู้ใช้งานประจำปี 2023 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้งานรวมทั้งธนาคารแบบดั้งเดิมและธนาคารไร้สาขา พบว่า ธนาคารสตาร์ลิง (Starling) ซึ่งเป็นธนาคารไร้สาขาสัญชาติอังกฤษได้คะแนนคความพึงพอใจรวมสูงที่สุด ในระดับ 94 จาก 100% ขณะที่ธนาคารบาร์เคลย์ส ได้ที่ 8 และ ธนาคารเอชเอสบีซีได้ที่ 12 ด้วยคะแนนรวม 81% และ 80% ตามลำดับ
เหตุผลสนับสนุนการใช้บริการไร้สาขาในสหราชอาณาจักรยังมาจากการมองว่า ธนาคารไร้สาขาให้บริการทางดิจิทัลได้สะดวกกว่า ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งมองเรื่องผลประโยชน์ด้านดอกเบี้ยของธนาคารไร้สาขา การปิดตัวลงของสาขาของธนาคารแบบดั้งเดิมก็มีผลผลักดันให้ผู้ใช้งานหันไปหาธนาคารไร้สาขามากขึ้นเช่นเดียวกัน
ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้วงการธนาคารไร้สาขาของอังกฤษเติบโตมาถึงจุดนี้ได้ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2013 ตอนที่ธนาคารกลางแห่งอังกฤษ (Bank of England) ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจธนาคารเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการ “ธนาคารแบบสตาร์ทอัพ”
กฎหลัก ๆ ที่ออกมาในตอนนั้นคือ การลดตัวเลขเงินทุนจำเป็น (Capital requirement) สำหรับการขอใบอนุญาตลง และการลดข้อกำหนดสภาพคล่องของธนาคารใหม่ลงทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น สำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มธนาคารเฉพาะขนาดเล็ก (Small Specialist Bank) จากที่เคยต้องมีเงินทุนขั้นต่ำ 5 ล้านปอนด์หรือยูโร (ราว 230 ล้านบาท) พร้อมกับเงินสำรอง ลดลงมาเหลือ 1 ล้านปอนด์หรือยูโร (ราว 46 ล้านบาท) พร้อมเงินสำรอง
นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา มีธนาคารเกิดใหม่ในสหราชอาณาจักรทั้งหมด 36 แห่ง ที่นับว่าเป็นธนาคาร “สตาร์ทอัพ” ที่จดจัดตั้งในประเทศ และอีก 29 แห่ง ที่นับว่าเป็นสาขาหรือบริษัทย่อย โดยในจำนวนธนาคารทั้งหมด 65 แห่งนี้ มี 12 แห่งถูกยกเลิกใบอนุญาตแล้ว
ธนาคารสตาร์ทอัพอังกฤษประสบความสำเร็จหรือไม่
ทั้ง Starling และ Monzo มีรายชื่ออยู่ใน 36 สตาร์ทอัพธนาคารที่ได้รับใบอนุญาตของธนาคารกลางแห่งอังกฤษ ขณะที่ Revolut แม้ได้รับอนุญาตในฐานะ “สถาบันการเงินอิเล็กทรอนิกส์” แต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตเช่นเดียวกับอีกสองธนาคารข้างต้น ทำให้เงินของผู้ฝากไม่ได้ถูกปกป้องสิทธิภายใต้หน่วยงาน Financial Services Compensation Scheme ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะดูแลเงินฝากของผู้ฝากเงินในกรณีที่ธนาคารไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
หากวัดจากตัวเลขผู้ใช้งาน Starling นับว่ามีตัวเลขน้อยที่สุด ที่เพียง 3.6 ล้านคน อย่างไรก็ดี Starling เห็นตัวเลขกำไรเป็นกอบเป็นกำมากสุดจากรายงานผลการดำเนินการประจำปีงบประมาณ 2022 (นับถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2023) คือสูงถึง 142 ล้านปอนด์ (ราว 6,539 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 222%
สตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดย แอน โบเดน (Anne Boden) อดีตผู้บริการหญิงระดับสูงของธนาคาร ABN AMRO ซึ่งลาออกจากงานเดิมเพื่อมาก่อตั้ง Starling เมื่อปี 2014 ในวัย 50 กว่าปี นับเป็น “ธนาคารผู้ท้าชิง (Challenger Bank)” กับธนาคารดั้งเดิมแบรนด์แรกจากทั้งสาม Neobank รายใหญ่ของสหราชอาณาจักร
“ผู้คนไม่เชื่อว่าผู้หญิงชาวจากเวลส์ผู้นี้จะสามารถทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนได้” โบเดน ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีเมื่อ พ.ค. 2023 ตอนที่เธอตัดสินใจลงจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของ Starling
สถิติที่สำคัญซึ่งมีส่วนช่วยให้ Starling ทำกำไรมหาศาลในปีงบประมาณล่าสุด นอกจากตัวเลขผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นจาก 2.8 เป็น 3.6 ล้านคน ยังมี สัดส่วนต้นทุนต่อรายได้ (Cost-to-income Ratio) ที่ปรับลดลงมาจาก 77.3% เป็น 50.7% หรือแปลว่าบริษัทสามารถบริการต้นทุนให้ถูกลงได้
อีกทั้งสัดส่วนสินเชื่อต่อยอดเงินฝาก (Loan-to-Deposit Ratio) ยังเพิ่มขึ้นเป็น 46.2% จากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 36.4% ส่งผลให้ ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) เพิ่มขึ้นเป็น 2.72% จาก 1.27%
ขณะที่ Monzo ซึ่งถือกำเนิดขึ้น 10 เดือนให้หลังจากที่อดีตผู้อำนวยการบริหารด้านเทคโนโลยีของ Starling อย่าง ทอม บลอมฟิลด์ (Tom Blomfield) ลาออกจากตำแหน่งหลังเกิด “ความตึงเครียด” กับ แอน โบเดน ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากที่สุดจากทั้ง 3 ธนาคารไร้สาขา ด้วยตัวเลข 7.4 ล้านคน ยังคงไม่เห็นผลกำไรของบริษัทนับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา โดยตัวเลขขาดทุนสุทธิในปีงบประมาณล่าสุด 2023 อยู่ที่ 116 ล้านปอนด์ (ราว 5,341 ล้านบาท) ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 119 ล้านปอนด์ (ราว 5,480 ล้านบาท)
เมื่อไปดูงบการเงินของ Monzo จะพบความน่าสนใจว่า มีหลายตัวเลขจากปีงบประมาณล่าสุดที่นับว่าเติบโตได้อย่างดี อาทิ กำไรสุทธิจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 88% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า คือเพิ่มจาก 114 ล้านปอนด์ (ราว 5,249 ล้านบาท) เป็น 214.5 ล้านปอนด์ (ราว 9,878 ล้านบาท) เช่นเดียวกับตัวเลขการปล่อยกู้ที่เพิ่มขึ้นถึง 167% รวมถึงค่าเฉลี่ยรายได้ต่อผู้ใช้งานหนึ่งคนซึ่งนับรวมทั้งบัญชีผู้ใช้งานทั่วไปและลูกค้าธุรกิจที่เพิ่มขึ้น 70%
ปัจจัยที่ฉุดตัวเลขกำไรโดยรวมของบริษัทมาจาก 3 ส่วนสำคัญคือ
ผลขาดทุนด้านเครดิต (Credit loss expenses) หรือการตั้งเงินสำรองจากการพิจารณามูลค่าหนี้ที่ธนาคารมองว่าจะไม่ได้คืน ซึ่งเพิ่มขึ้นมาเป็น 1 แสนล้านปอนด์ (ราว 4.6 ล้านล้านบาท) จากตัวเลขของปี 2022 ที่อยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านปอนด์ ซึ่งผลลัพธ์นี้ก็มาจากการที่ Monzo ปล่อยกู้เพิ่มขึ้นจาก 500 ล้านปอนด์ (ราว 2.3 หมื่นล้านบาท) เป็น 759.7 ล้านปอนด์ (ราว 3.49 หมื่นล้านบาท)
ค่าใช้จ่ายกับบุคลากรที่สูงขึ้นถึง 35% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นงบประมาณที่บริษัทจ่ายเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับพนักงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 40,000 ปอนด์/ปี (ราว 184,000 บาท) กับอีกส่วนมาจากการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เพิ่นขึ้นถึง 56% โดยในจำนวนนี้ยังมีส่วนที่บริษัทชดเชยให้กับเหยื่อที่ถูกหลอกลวง เป็นเงินสูงถึง 18.4 ล้านปอนด์ (ราว 847 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ตัวเลขอยู่ที่ 2.3 ล้านปอนด์ (ราว 106 ล้านบาท)
เว็บไซต์ Business of App รายงานว่าอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Monzo ยังไม่กำไรสักปีเดียวนับตั้งแต่ก่อตั้งมา แม้จะเป็นสตาร์ทอัพระดับ “ยูนิคอร์น” ที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านปอนด์ (ราว 4.6 หมื่นล้านบาท) เป็นเพราะผู้ใช้งานจำนวนมากยังใช้ Monzo เป็นธนาคารลำดับที่ 2 มากกว่าการเป็นธนาคารหลัก และมีเพียง 30% ของผู้ฝากเงินเท่านั้น ที่ฝากเงินเกิน 1,000 ปอนด์/เดือน (ราว 46,000 บาท)
สำหรับ Revolut แม้ยังไม่มีสถานะเทียบเท่ากับ Starling และ Monzo แต่นับว่ามีขนาดใหญ่กว่ามาก เนื่องจาก Revolut ทำธุรกิจในหลายประเทศ และมีผู้ใช้งานรวมถึง 30 ล้านคน โดยมีสัดส่วนสูงที่สุดในสหราชอาณาจักรที่ 6.8 ล้านคน
ในการระดมทุนครั้งล่าสุดในปี 2021 ที่มีนักลงทุนรายสำคัญอย่าง SoftBank และ Tiger Global บริษัทมีมูลค่าสูงถึง 2.4 หมื่นล้านปอนด์ (ราว 1.1 ล้านล้านบาท) นับเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในสหราชอาณาจักรในขณะนั้น
อย่างไรก็ดี หนึ่งในผู้ลงทุนของ Revolut เพิ่งปรับลดประมาณมูลค่าของบริษัทลงถึง 40% หรือลดลงมาเป็น 1.56 หมื่นล้านปอนด์เท่านั้น (ราว 7.1 แสนล้านบาท) หลังจากที่บริษัทไม่สามารถได้ใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจธนาคารอย่าง Starling หรือ Monzo ได้สักทีเป็นเวลาถึง 2 ปี
ความไม่โปร่งใสด้านการเงินเป็นปัจจัยสำคัญ เมื่อมีรายงานการตรวจสอบบัญชีโดยบริษัท BDO ในปี 2021 ที่ระบุว่า ผู้ตรวจสอบ “ไม่สามารถรับรอง” งบการเงินได้ โดยได้ชี้เป้าไปที่เม็ดเงิน 477 ล้านปอนด์ (ราว 2.2 หมื่นล้านบาท) ที่อ้างว่าเป็นรายได้ นอกจากนี้ Revolut ยังมีประวัติส่งงบการเงินช้าเช่นเดียวกัน
สำหรับตัวเลขกำไรขาดทุนตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมาจนถึงปี 2022 พบว่าบริษัทขาดทุนมาตลอด จนกระทั้งปี 2021 ที่มีตัวเลขกำไร 26 ล้านปอนด์ (ราว 1,197 ล้านบาท) และปี 2022 ที่มีกำไร 5.8 ล้านปอนด์ (ราว 267 ล้านบาท)
อะไรคือ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
มารูอาน บักห์ทาร์ (Marouane Bakhtar) กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษาธุรกิจการเงินจาก Synpulse เขียนถึงรูปแบบธุรกิจโดยรวมของธนาคารไร้สาขาไว้เมื่อ ม.ค. 2023 ว่า แม้หลายแบรนด์จะมีมูลค่าบริษัทมหาศาล แต่มีแค่ราว 5% เท่านั้นที่ไม่ขาดทุน สิ่งนี้เป็นเพราะรูปแบบธุรกิจของธนาคารไร้สาขาเหล่านี้พึ่งเงินลงทุนมหาศาล ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ได้คึกคื้นมากนัก นักลงทุนจึงชะลอการใช้จ่ายเงิน
นอกจากนี้ แผนธุรกิจที่หารายรับจากการจ่ายค่าสมาชิกก็ยังดูไม่แข็งแกร่งมากนัก โดยบริการหลักที่ธนาคารไร้สาขาเหล่านี้มอบให้กับผู้บริโภคคือ แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์และบัตรเดบิต อย่างไรก็ดี การจะทำเงินจริง ๆ คือ การพยายามให้ข้อเสนอผู้ใช้งานให้สมัครสมาชิกแบบพรีเมียมเพื่อเข้าถึงบริการเพิ่มเติม เช่น ประกัน คริปโตเคอเรนซี หรือบริการสินเชื่อ
ทว่า บักห์ทาร์ ชี้ว่า มีลูกค้าเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเลือกยกระดับสมัครสมาชิกและเสียค่าใช้จ่ายจริง ๆ และต้องไม่ลืมว่า ฝั่งธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมก็เดินหน้าเข้ามาธุรกิจให้บริการทางการเงินออนไลน์เช่นเดียวกัน
เขายกตัวอย่างกรณีศึกษาของธนาคารไร้สาขาที่ประสบความเร็จอย่าง แอนท์ ไฟแนนซ์เชียล (Ant Financial) ในจีนว่า สิ่งที่ทำให้บริษัทสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสนามการเงินของจีน เป็นเพราะการผสมผสานทั้งความเป็นโซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซ และระบบจ่ายเงินเข้าไว้ด้วยกัน การเป็นทุกอย่างเช่นนี้ทำให้ แอนท์ ไฟแนนซ์เชียลอยู่ในจุดยืนที่แตกต่าง
แม้จะยังไม่เห็นโฉมหน้าทั้งหมดของผู้เล่นในประเทศไทย แต่จากที่อธิบายไปข้างต้นเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนของธรรมชาติของผู้เล่นที่เป็นรายใหญ่ของไทยลงตลาดมาเล่นเอง ขณะที่สามธนาคารผู้เล่นในตลาดของสหราชอาณาจักรที่ล้วนมีธรรมชาติของการเริ่มต้นจากการเป็น "สตาร์ทอัพ"
ปณิศา เอมโอชา
Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
Source: BBC Thai

คลิก

Cr.Bank’s Scholarship Students

-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"