เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - พญามังกรสยายปีกซื้อกิจการในต่างประเทศสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก แม้จะพบการยกเลิกดีลบ่อยครั้งมากขึ้นก็ตาม
ดีลโลจิก (Dealogic) ผู้รวบรวมข้อมูลด้านการทำข้อตกลงทางธุรกิจระดับโลกเผยว่าในช่วงเก้าเดือนแรกของปีนี้ บริษัทจีนได้ดำเนินการควบรวมและครอบครองกิจการในต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่ารวม 173,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 68 เมื่อเทียบปีต่อปี
จีนได้ไล่ทันสหรัฐฯ ในสนามแข่งขันทางธุรกิจนี้เป็นครั้งแรก หลังจากพยายามกวาดซื้อกิจการทั่วโลกโดยได้แรงผลักดันจากการเติบโตทางเศรษฐกิจกว่าสามทศวรรษของประเทศ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลปักกิ่งที่ต้องการกระตุ้นบรรดาบริษัทจีนให้เข้าซื้อสินทรัพย์และเทคโนโลยีในต่างประเทศ
นักธุรกิจจีนได้ปิดการเจรจาข้อตกลงฯ ไปทั้งหมด 601 ฉบับในช่วงเก้าเดือนแรก เพิ่มขึ้นจาก 441 ฉบับในช่วงเวลาเดียวกันของปีกลาย โดยการควบรวมกิจการฯ ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาของจีนคือ กรณีเคมไชน่า (ChemChina) เข้าซื้อกิจการซินเจนตา (Syngenta) มูลค่า 46,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเดือนก.พ.
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกข้อตกลงที่จีนจะคว้ามาได้ เนื่องจากต้องเผชิญกับความไม่ไว้วางใจจากประเทศที่ตั้งของบริษัทเป้าหมายที่กังวลเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ
รายงานข่าวกล่าวว่า ข้อตกลงทางธุรกิจในภาคเทคโนโลยี มูลค่ากว่า 10,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของผู้ประมูลชาวจีนร่วมสิบราย ถูกเพิกถอน ปฏิเสธ หรือหมดอายุการเจรจาในช่วงเก้าเดือนแรกที่ผ่านมา
“เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมกฎในต่างประเทศเข้มงวดมากขึ้นในการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ ไล่ตั้งแต่สิทธิครอบครองที่ดินและอุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครองในออสเตรเลียไปจนถึงประเด็นความมั่นคงในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา” คีท พอคสัน หุ้นส่วนอาวุโสของอีวาย เอเชีย-แปซิฟิก (EY Asia-Pacific) กล่าว “เราจะยังพบเรื่องแบบได้อีกขณะจีนทุ่มลงทุนนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจุบันที่อยู่ในฤดูเกมการเมือง”
ทั้งนี้ มีข้อตกลงการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศของจีน จำนวน 42 ฉบับ มูลค่ารวม 35,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกเพิกถอนในช่วงเก้าเดือนแรก ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา
การเพิกถอนข้อตกลงฯ สองฉบับ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุด ได้แก่ การซื้อหุ้นมูลค่า 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเวสเทิร์น ดิจิตัล ของยูนิสเปลนเดอร์ บริษัทด้านเทคโนโลยีของจีน และการซื้อหุ้นมูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากแฟร์ชายด์ เซมิคอนดักเตอร์ ผู้ผลิตชิพสัญชาติสหรัฐฯ ของไชน่า รีซอร์สเซส แอนด์ หวา แคปปิตอล
บริษัทเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงทั้งสองฉบับข้างต้นกล่าวอ้างเหตุผลของการยุติการเจรจาว่ามาจากกฎระเบียบที่ตรวจสอบโดยคณะกรรมการว่าด้วยการลงทุนของต่างประเทศในสหรัฐฯ (ซีเอฟไอยูเอส) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่ทำหน้าที่ประเมินผลกระทบด้านความมั่นคงของชาติ
ข้อมูลจากดีลโลจิกเผยอีกว่า รายได้ของวาณิชธนกิจแดนมังกรยังทำสถิติสูงสุดที่ 6,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเก้าเดือนแรก ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยเป็นผลจากกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทจีนในตลาดทุน
Cr.manager.co.th
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman