การถกเถียงระหว่าง “แบงก์ชาติ” และ “รัฐบาล” เรื่องกรอบเงินเฟ้อยังไม่มีบทสรุป แถมยังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจรออยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ และที่แย่ที่สุดก็อาจเป็นเรื่องความเชื่อมั่นที่นักลงทุนต่างชาติมองเข้ามายังประเทศไทย
ยังคงมีข้อพิพาทต่อเนื่องระหว่าง “รัฐบาล” กับทาง “แบงก์ชาติ” ล่าสุดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายไปตกอยู่ในเรื่อง “กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ” ซึ่งรัฐบาลอยากให้แบงก์ชาติปรับกรอบเป้าหมายใหม่เพื่อความเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยยุคเงินเฟ้อต่ำ
แต่ดูเหมือนแบงก์ชาติมองว่า กรอบเป้าหมายในปัจจุบันเหมาะสมดีอยู่แล้ว บทสรุปหลังจากนี้จึงไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร จะกลายเป็นปมร้าวที่ลึกขึ้นระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติหรือไม่ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดู
แต่วันนี้กองบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจอยากชวนวิเคราะห์ถึง สถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งชัดเจนว่า “ย่ำแย่หนัก” พ่อค้าแม่ค้าบางคนถึงกับเอ่ยปากบอกว่า หนักพอๆ กับช่วงวิกฤติโควิด ช่วงนั้นยังมีมาตรการภาครัฐมาแบ่งเบาความเดือดร้อนได้บ้าง
แต่ปัจจุบันเราแทบไม่เห็นมาตรการอะไรออกมาเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเหล่านี้เลย จะมีก็เพียงความหวังว่า “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่รัฐบาลพยายามผลักดันออกมาจะช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆ ลงได้ แต่ดูเหมือนหนทางยังอีกไกล และมาตรการเหล่านี้ก็ยังมีคำถามจากเหล่านักเศรษฐศาสตร์ว่า จะได้คุ้มเสียหรือไม่
ปมเหตุหนึ่งที่รัฐบาลอยากให้ “แบงก์ชาติ” พิจารณากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ เพราะมองว่าถ้าแบงก์ชาติขยับกรอบเป้าหมายเพิ่มขึ้น จะเปิดรูมให้ทำนโยบายการเงินผ่อนคลายได้เพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันแบงก์ชาติใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อระยะกลางที่ 1-3% ซึ่งประเด็นนี้ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า เป็นกรอบเป้าหมายที่เหมาะสมดีแล้ว ไม่ควรไปเปลี่ยนเพราะจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ พร้อมกับย้ำว่าถ้าไปปรับ อาจจะทำให้เงินเฟ้อแท้จริงเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อดอกเบี้ยและการระดมทุนของรัฐบาลและเอกชนได้
ฝั่งของรัฐบาลโดย “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจว่า ปัญหาสำคัญมากกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในเวลานี้ คือ
ทำยังไงให้เงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย เพราะที่ผ่านมาแบงก์ชาติแทบจะไม่สามารถคุมให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายได้เลย อย่างปีนี้ล่าสุดแบงก์ชาติก็เป็นคนคาดการณ์เองว่า เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 0.6% ซึ่งก็ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย จึงมองว่าแบงก์ชาติควรเอาดอกเบี้ยลงมาเพื่อดึงเงินเฟ้อให้กลับสู่กรอบเป้าหมาย
เท่าที่ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่วิเคราะห์ไปในทิศทางที่คล้ายกันว่า กรอบเงินเฟ้อที่ระดับ 1-3% ยังเป็นระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
แต่ประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์เกือบทั้งหมดตั้งคำถามกลับมาก็คือ ภาพเศรษฐกิจไทยเวลานี้ย่ำแย่อย่างหนัก แต่ทำไมแบงก์ชาติจึงยังไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา ซึ่งถ้าให้เราสรุปความแบบเข้าใจง่ายๆ กรอบเงินเฟ้อในปัจจุบันอาจจะเหมาะกับเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว แต่ที่ดูจะยังไม่เหมาะน่าจะเป็นดอกเบี้ยนโยบาย
และที่แย่ไปกว่านั้น เวลานี้ต่างชาติเริ่มกังวลแล้วว่าเราจะถูกหั่นเรตติ้งลงมาหรือไม่ ถ้าไม่เชื่อลองไปถามแบงก์ที่กำลังจะออกดอลลาร์บอนด์ดูได้ เพราะช่วงโรดโชว์มีคำถามเรื่องนี้จากนักลงทุนเข้ามามากเหลือเกิน!!?
โดย บทบรรณาธิการ
Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you