ภาคส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด ย้อนกลับไป 20 ปีก่อน ในช่วงปี 2544-2554 การส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวเฉลี่ยปีละ 7% และมีน้ำหนักต่อการเติบโตของ GDP กว่า 80% ขณะที่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาพกลับต่างออกไป
การส่งออกของไทยเติบโตลดลงเหลือเพียง 1.2% และมีบทบาทต่อการเติบโตของ GDP ไม่ถึง 30% ในช่วงปี 2555-2566
บทความนี้จึงอยากพาผู้อ่านย้อนกลับไปวิเคราะห์ว่า ภาคส่งออกของไทยเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และในอนาคตเศรษฐกิจไทยจะยังพึ่งพาภาคส่งออกได้หรือไม่ หรือถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับปรุงนโยบายการค้าการลงทุนเพื่อก้าวข้ามปัญหานี้
การส่งออกของไทยเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างและความเสี่ยงสำคัญ สรุปได้ 5 ข้อ
1.สินค้าส่งออกของไทยยังติดอยู่กับโลกเก่าซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกน้อยลง ที่ชัดเจน เช่น Hard Disk Drive (HDD) ที่ความต้องการของโลกลดลง เพราะถูกแทนที่ด้วยหน่วยความจำอย่าง Solid State Drive (SSD) โดยมูลค่าส่งออก HDD ของโลกลดลง จาก 0.5% ในปี 2555 มาอยู่ที่ 0.2% ในปี 2565
แต่ไทยกลับยังส่งออกสินค้านี้เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และแม้ว่าสินค้านี้ยังพอพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานของกลุ่มธุรกิจได้ เช่น cloud computing และ data center แต่ก็ไม่สามารถชดเชยมูลค่าที่ลดลงจากการเข้ามาแทนที่ของ SSD ในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปได้
2.สินค้าส่งออกของไทยเชื่อมโยงกับการค้าโลกน้อยลง จากบทบาทของไทยที่มีจำกัดในห่วงโซ่การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ไทยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์น้อยมาก เพียงช่วงปลายน้ำที่มีความซับซ้อนในการผลิตต่ำและสร้างมูลค่าเพิ่มได้จำกัด (ดังภาพ)
จึงได้รับผลบวกน้อยกว่าประเทศที่อยู่ต้นน้ำและกลางน้ำ ขณะที่ประเทศคู่แข่งพัฒนาอุตสาหกรรมและมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า อาทิ เวียดนามที่มีบริษัทระดับโลกเข้าไปลงทุนผลิตและส่งออกโทรศัพท์มือถือ
สถานการณ์ข้างหน้ายิ่งน่าเป็นห่วง เมื่อสินค้าในกระแสโลกใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเป็นที่ต้องการและมีแนวโน้มเติบโตดี แต่ไทยไม่ได้มีส่วนร่วมในการผลิตสินค้านี้เลย
3.เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญอย่างจีนอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนนโยบายด้านเศรษฐกิจและการค้าเพื่อเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้าง เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ปี 2563 ที่จีนดำเนินยุทธศาสตร์ Dual Circulation เพื่อเพิ่มอุปสงค์ในประเทศและลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ รวมถึงเพิ่มบทบาทของสินค้าส่งออกของจีนในตลาดโลก
ไทยจึงได้รับผลกระทบทั้งทางตรงจากความต้องการนำเข้าวัตถุดิบของจีนที่ลดลง และผลกระทบทางอ้อมผ่านการแข่งขันด้านการค้า โดยเฉพาะปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ที่สัดส่วนการส่งออกของไทยไปจีนลดลงเกือบ 10% ในปี 2566 จากเดิมที่ 27% ในปี 2563
รวมถึงการที่จีนร่วมกับตะวันออกกลางเข้าไปลงทุนผลิตในภูมิภาคอาเซียน อาทิ มาเลเซีย ทำให้การส่งออกสินค้านี้ของไทยไปยังอาเซียนแข่งขันได้ยากขึ้น
ล่าสุดยังต้องจับตาปัญหา overcapacity ของจีน ซึ่งก่อให้เกิดการไหลทะลักของสินค้าจีนเข้าสู่ตลาดโลก และกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยเพิ่มเติมในสินค้ากลุ่มเสี่ยง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์
4.ความท้าทายจากปัญหา climate change และภูมิรัฐศาสตร์ แม้การส่งออกไทยในปีนี้น่าจะฟื้นตัวและกลับมาเป็นบวกได้ เพราะยังพอมีสินค้าที่ไทยรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ เช่น สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร แต่ไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากผลผลิตการเกษตรที่แย่ลงจากปัญหา climate change และต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น
รวมถึงความต่อเนื่องในการเติบโตของการส่งออกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสาร ที่แม้ปัจจุบันภูมิภาคอาเซียนรวมถึงไทยได้รับอานิสงส์จากการย้ายห่วงโซ่การผลิตออกจากจีน เพื่อรับมือกับแรงกดดันด้านภูมิรัฐศาสตร์ แต่ผลบวกนี้จะยั่งยืนแค่ไหนก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป
5.นโยบายสนับสนุนการลงทุนและการส่งออกที่ไม่สอดคล้องกับบริบทโลกยุคใหม่ ปัญหาในภาคส่งออกของไทยส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจาก
(1) การชะลอตัวของการลงทุนจากต่างประเทศ เม็ดเงิน FDI ไหลเข้าของไทยมีทิศทางลดลงต่อเนื่องและอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค โดยในปี 2566 ไทยมี FDI เพียง 10 พันล้านดอลลาร์ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอาเซียนที่ 36.2 พันล้านดอลลาร์
(2) ข้อจำกัดด้านทักษะแรงงาน ถึงแม้ไทยจะมีสัดส่วนจำนวนแรงงานทักษะสูงคิดเป็น 40% ของแรงงานทั้งหมด แต่ทักษะที่มียังไม่ตรงกับความต้องการของโลกในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
(3) การใช้สิทธิประโยชน์และการขยายความร่วมมือทางการค้าที่ยังทำได้จำกัด สะท้อนจากจำนวนประเทศ ที่ไทยทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงมีสัดส่วนการใช้ประโยชน์จาก FTA เพียง 64% ต่อการค้ากับโลก ขณะที่ค่าเฉลี่ยของอาเซียนอยู่ที่ 75%
โดยสรุป ภาคส่งออกของไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งจากความสามารถในการแข่งขันของไทย การเปลี่ยนแปลงอุปสงค์และห่วงโซ่การผลิตของโลก รวมถึงปัจจัยเชิงนโยบายของประเทศคู่ค้าในระยะข้างหน้า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแรงสนับสนุนเชิงนโยบายเพื่อช่วยปลดล็อกให้ภาคส่งออกของไทยก้าวข้ามปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างน้อย 3 ประเด็น คือ
(1) พัฒนาศักยภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
(2) ทบทวนการให้สิทธิประโยชน์จาก FTA ที่ตรงความต้องการ รวมถึงขยายความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น และ
(3) เพิ่มประสิทธิภาพแรงงานและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากต่างประเทศ เพื่อให้ไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตสินค้าสำคัญของโลก
คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย
ธนาคารแห่งประเทศไทย
แพรวไพลิน วงษ์สินธุวิเศษ
อรุณ ธนกิจโกฏินนทน์
อภิชญา ผู้อุตส่าห์
(บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่สังกัด)
Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you