เงินบาทกำลัง (ถูก) ด้อยค่า? คนไทยฝากเงินต่างประเทศเพิ่ม 4 แสนล้านบาท

เมื่อปลายปี 2022 ค่าเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าไปแตะระดับ 38.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 16 ปี แม้ช่วงต้นปี 2023 จะมีจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วกลับไปสู่ 32.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังจากนั้นเงินบาทก็ค่อยๆ อ่อนค่าลงเรื่อยๆ จนกลับมาอยู่ที่เกือบ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทำไมเงินบาทถึงอ่อนค่าต่อเนื่อง?
ตามทฤษฎีแล้ว การอ่อนค่าหรือแข็งค่าของสกุลเงินใดๆ เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราดอกเบี้ย ภาวะเศรษฐกิจ นโยบายของรัฐบาล เป็นต้น
ซึ่งการอ่อนค่าของเงินบาทตั้งแต่ปี 2022 เป็นเพราะหนึ่งในสาเหตุสำคัญคือ การเร่งขึ้นดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) จากระดับ 0.25-0.50% จนขึ้นมาแตะ 5.25-5.50% ภายในเวลา 15 เดือน
แม้ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขึ้นดอกเบี้ยตามเทรนด์ดอกเบี้ยของโลก แต่ช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯ ก็ขยับเพิ่มขึ้นเป็นที่เรียบร้อย โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.50%
ช่องว่าง 3% ของอัตราดอกเบี้ย ทำให้เงินทุนบางส่วนที่เคยอยู่ในประเทศไหลกลับไปยังสหรัฐฯ ซึ่งไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้น แต่เราเห็นเทรนด์นี้เกิดขึ้นเกือบจะทั่วทั้งโลกในช่วงที่ผ่านมา
การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐไม่เพียงแค่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากไทยกลับไป แต่ยังดูดเงินลงทุนมากถึง 1 ใน 3 ของทั่วโลก จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการพูดถึงบทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐที่อาจจะลดลงในบริบทโลก โดยเฉพาะในฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
ข้อมูลจาก IMF ระบุว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลกลดลงจาก 65% เมื่อปี 2016 มาเหลือ 58.4% ในปี 2023 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนเงินหยวนมาเป็น 2.3%
สัดส่วนของเงินดอลลาร์สหรัฐที่ลดลงเป็นเพราะการลดลงของ 4 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย รัสเซีย และตุรกี แต่หากมองโดยภาพรวมในเชิงจำนวนของประเทศที่เพิ่มสัดส่วนการถือครองดอลลาร์สหรัฐระหว่างปี 2015-2021 พบว่า มีถึง 31 จาก 55 ประเทศ ที่มีข้อมูล
จากสถานะในปัจจุบันเชื่อว่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะยังคงมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ยังคงสูงเช่นนี้ ยิ่งเพิ่มแรงจูงใจในการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐ
คนไทยฝากเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้น 4 แสนล้านบาท
เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Fed ส่งสัญญาณว่าจะเลื่อนการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง
ทำให้เม็ดเงินลงทุนทั่วโลกไหลเข้าสู่กองทุนประเภท Money Market ของสหรัฐฯ ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นมูลค่ารวม 6.08 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์ในไทย ที่เห็นเม็ดเงินของคนไทยไหลออกไปฝากอยู่บนบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit: FCD) เพิ่มขึ้นเป็น 8.20 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 4 แสนล้านบาทจาก 4 ปีก่อน
เงินของคนไทยที่อยู่ในบัญชี FCD มาจากทั้งธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ผู้ลงทุนที่ออกไปลงทุนต่างประเทศ หรือผู้ที่ตั้งใจนำเงินไปฝากต่างประเทศโดยตรง เพื่อรับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเก็บภาษีจากการลงทุนต่างประเทศ ทำให้ผู้ลงทุนไม่อยากจะดึงเงินกลับเข้าประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวายด้านภาษี
ณัฐชาตเชื่อว่า “เม็ดเงินในบัญชี FCD ของไทยยังมีแนวโน้มจะสูงขึ้นต่อไปเรื่อยๆ จนกว่า Fed จะเริ่มลดดอกเบี้ย”
ส่วนคำถามที่ว่า Fed จะเริ่มลดดอกเบี้ยเมื่อไร ณัฐชาตเชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 4 ทำให้ในช่วงอย่างน้อยอีก 3 เดือนถัดจากนี้ สถานการณ์น่าจะยังไม่เปลี่ยนไปจากปัจจุบัน
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังส่งผลอะไร?
การเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินในบัญชี FCD กำลังส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ ซึ่งเราเห็นความต้องการซื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และสะท้อนออกมาผ่านบอนด์ยีลด์ของไทยที่ไม่ได้ลดลงล้อไปกับบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ขณะเดียวกันมูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยก็ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง
“หากสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยจริงช่วงไตรมาส 4 เราน่าจะได้เห็นสภาพคล่องไหลกลับเข้ามาในประเทศอีกครั้ง”
ส่วนการนำเงินออกไปฝากต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ เพื่อรับดอกเบี้ย 5% หากเป็นช่วง 3 เดือนข้างหน้าอาจจะยังน่าสนใจ แต่ถ้ามองในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าอาจจะไม่น่าสนใจ เพราะเมื่อดอกเบี้ยสหรัฐฯ ลดลง ดอกเบี้ยที่ได้รับจะลดลง และยังมีความเสี่ยงจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อาจจะกลับมาอ่อนค่าสวนทางกับเงินบาท
ทั้งนี้ณัฐชาตมองว่าเงินบาทในปัจจุบันไม่น่าจะอ่อนค่าเกิน 37-38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากสัญญาณล่าสุดที่เห็นจากการที่ ธปท. เข้ามาแทรกแซงค่าเงินมากขึ้น ผ่านการขายเงินดอลลาร์สหรัฐและซื้อเงินบาท
แม้ว่าการอ่อนค่าของเงินบาทในปัจจุบันจะสะท้อนถึงปัจจัยด้านดอกเบี้ยเป็นหลัก และอาจจะไม่ได้บ่งชี้ถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยโดยตรง แต่แนวโน้มการที่คนไทยหันไปถือครองเงินตราต่างประเทศมากขึ้นก็เป็นสัญญาณที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะอาจจะสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของค่าเงินบาทที่ลดลง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้
โดย สกุลชัย เก่งอนันตานนท์

คลิก

 

Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"