ประเทศไทยเดินหน้าผลักดันการเข้าร่วมกลุ่มบริคส์ (BRICS) ซึ่งเป็นการรวมตัวของประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่าการร่วมกลุ่มของไทยอาจมีนัยสำคัญเชิงสัญลักษณ์มากกว่าผลประโยชน์ที่แท้จริง พร้อมตั้งคำถามว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือไม่
กลุ่ม BRICS เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2006 โดยมีสมาชิกชุดแรก คือ บราซิล รัสเซีย จีน อินเดีย และมีอาฟริกาใต้เพิ่มขึ้นมาในปี 2010 ก่อนที่เมื่อต้นปีนี้จะมีสมาชิกเพิ่มอีก 4 ประเทศ คือ อิหร่าน อียิปต์ เอธิโอเปีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
กลุ่ม BRICS รวมตัวกันเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ของสถาบันการเงินระหว่างประเทศและสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีการจัดตั้งองค์กรทางการเงินขึ้นมาใหม่ อย่างเช่น New Development Bank ซึ่งถูกมองว่าเป็นคู่แข่งโดยตรงของธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund)
คณะรัฐมนตรีของไทยรับรองการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการผลักดันให้ไทยเข้าร่วมกลุ่มนี้โดยเร็ว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย มาริษ เสงี่ยมพงษ์ ร่วมประชุมกลุ่ม BRICS เมื่อสัปดาห์ก่อนที่เมืองนิซห์นีย์ นอฟโกรอด ในรัสเซีย และได้ร่วมหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเกี่ยวกับเรื่องการเข้ารว่มเป็นสมาชิกกลุ่มนี้ด้วย
แถลงการณ์ของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย นิกรเดช พลางกูร ระบุว่า "ที่การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม BRICS รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการต่อเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหพันธรัฐรัสเซีย ในฐานะที่เป็นประธานกลุ่ม BRICS ในปัจจุบัน เพื่อขอเข้าร่วมกลุ่มและเพื่อให้ทางกลุ่มพิจารณา ซึ่งเชื่อว่าทางกลุ่ม BRICS จะทบทวนคำขอของไทยตามกระบวนการ"
โฆษกนิกรเดช ระบุด้วยว่า "ไทยมองว่ากลุ่ม BRICS มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งในระบบพหุภาคีและเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในซีกโลกทางใต้ ซึ่งสอดคล้องกับผลประโยชน์ของไทย" และว่า "สำหรับประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองนั้น การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS จะช่วยสนับสนุนบทบาทของไทยบนเวทีโลก และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้า การลงทุน ตลอดจนความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน"
ผู้แทนของประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมถ่ายรูประหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม BRICS ที่รัสเซีย เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2024
ผู้แทนของประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมถ่ายรูประหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม BRICS ที่รัสเซีย เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2024
สมาชิกกลุ่ม BRICS ในปัจจุบันซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกัน 28 ล้านล้านดอลลาร์ วิจารณ์ชาติตะวันตกว่าเป็นผู้ครอบครองสถาบันการเงินระหว่างประเทศไว้เกือบทั้งหมด ในขณะเดียวกันประเทศเหล่านี้ก็เริ่มลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์มากขึ้น โดยเฉพาะจีนกับรัสเซีย สืบเนื่องจากความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ด้านภูมิศาสตร์การเมืองโลก
ศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับวีโอเอว่า กลุ่ม BRICS ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้จุดประสงค์ทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ ได้กลายเป็นองค์กรการเมืองที่มีเป้าหมายต่อต้านชาติตะวันตกมากขึ้นเรื่อย ๆ
ศ.ฐิตินันท์ เชื่อด้วยว่า ไทยกำลังถูก "ชี้นำผิด ๆ" ให้เข้าร่วมกลุ่ม BRICS เพื่อผลประโยชน์ของสมาชิกสำคัญบางประเทศ โดยเฉพาะจีนกับรัสเซีย ทั้งที่ไทยต้องการสร้างสมดุลและความเป็นกลางมากกว่า
ระเบียบโลกใหม่
ประเทศไทยคาดหวังว่า การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มนี้จะช่วยส่งเสริมนโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และ "สร้างระเบียบโลกใหม่" อ้างอิงจากการแถลงข่าวของโฆษกรัฐบาล ชัย วัชรงค์
ซูมีอา โบมิค แห่งสถาบัน Observer Research Foundation ในเมืองโกลกาตา อินเดีย กล่าวกับวีโอเอว่า ความพยายามของไทยในการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS สอดคล้องกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของจีนและรัสเซียที่ต้องการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจเข้าไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นักวิเคราะห์ผู้นี้ชี้ว่า "ในขณะที่ BRICS สร้างแรงกระเพื่อมสำคัญด้านพลวัตการค้าโลก แต่ความแตกต่างหลากหลายในหมู่สมาชิกของกลุ่มนี้ก็สร้างความท้าทายต่อผลประโยชน์และการบรรลุเป้าหมายร่วมกัน นอกจากนี้การขาดข้อตกลงการค้าและการลงทุนอย่างเป็นทางการก็ยิ่งเป็นอุปสรรคต่อประสิทธิภาพของกลุ่มนี้มากขึ้นด้วย"
ความสำคัญเชิงสัญลักษณ์
ฮัง ตราน นักวิชาการแห่ง Atlantic Council ชี้ว่า กลุ่ม BRICS อาจมิได้ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งทั้งกับสมาชิกของกลุ่มเองและชาติต่าง ๆ ในอาเซียน นอกเหนือจากการเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่แสดงให้เห็นว่า ไทยเปิดรับชาติมหาอำนาจทุกประเทศและทุกกลุ่ม ซึ่งเป็นจุดยืนเดียวกับชาติอื่น ๆ ในอาเซียน
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า จีนคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไทยตัดสินใจเข้าร่วมกับกลุ่ม BRICS โดยที่ผ่านมา จีนคือคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ด้วยมูลค่าการค้าระหว่างกัน 135,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว และนักท่องท่องเที่ยวจีนยังถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของการท่องเที่ยวไทย
เอียน ชอง นักรัฐศาสตร์จากสิงคโปร์ กล่าวกับวีโอเอว่า ไทยต้องการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS เพราะรัฐบาลชุดนี้เชื่อว่าจะช่วยกระจายความสัมพันธ์ทางการเงินและห่วงโซ่อุปทานได้ รวมทั้งโอกาสที่จะมีกระแสเงินสดสนับสนุนในยามที่เกิดวิกฤติ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากมุมมองว่าเศรษฐกิจของไทยในอนาคตยังต้องพึ่งพาจีนเป็นหลัก
สำหรับท่าทีของประเทศอื่นในอาเซียนนั้น เอริชิกา พันกาจ ผอ.องค์กรเพื่อการวิจัยด้านจีนและเอเชีย (Organization for Research on China and Asia) ในกรุงนิวเดลี เชื่อว่า การที่ไทยเข้าร่วมกับ BRICS จะยังไม่ทำให้ชาติอื่นในอาเซียนหันมาเข้าร่วมด้วยในทันทีแม้ว่าจะมีแรงจูงใจจากกรณีของไทยก็ตาม เนื่องจากชาติเหล่านั้นยังคงใช้ความระมัดระวังต่อการรักษาสมดุลระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
เมื่อปีที่แล้ว อินโดนีเซียปฏิเสธการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ซึ่งนักวิเคราะหืเชื่อว่าเป็นเพราะอินโดนีเซียต้องการยึดมั่นตามนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ขณะที่ ศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ เชื่อว่า อินโดนีเซียยังไม่มั่นใจในทิศทางของกลุ่มนี้
Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you