เจาะลึกดอกเบี้ยเขย่าแบงก์ชาติ

นี่เป็นครั้งแรกที่อาณาจักรซึ่งเรียกตัวเองว่า องค์กรอิสระ ที่ครอบไว้ด้วยรั้วทองแดงกำแพงเหล็ก อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ถูกสั่นคลอนด้วยคำถามที่มีเนื้อหาง่ายๆ จากนักคิดนักเขียน และนักหนังสือพิมพ์สามัญชนธรรมดาๆอย่าง สรกล อดุลยานนท์ “หนุ่มเมืองจันท์”

ที่มองเข้าไปด้วย ความฉงนสนเท่ห์ว่า เหตุใดแบงก์ชาติจึงปล่อยให้แบงก์พาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงานในปี 2566 สูงถึง 220,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบ 20%
ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตเพียง 2.4% ของ GDP และคนไทยอยู่ในสภาวะลำบากยากจนจากผลของมาตรการปิดประเทศ เพื่อป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดการปิดกิจการ เลิกจ้าง ผู้คนตกงานจำนวนมาก หลายล้านคนเดิน ทางกลับถิ่นฐานภูมิลำเนา สามีและลูกชายจำนวนไม่น้อยต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการเพื่อเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ ในขณะที่รัฐบาลเก่าแทบไม่ทำอะไรเลยเพื่อช่วยเหลือคนเหล่านั้น
นั่นทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยช้ากว่าประเทศอื่นๆ ซ้ำยังอยู่ในลำดับต่ำสุดของภูมิภาคด้วย
ที่เป็นประเด็นทำให้ผู้คนจำนวนมากเห็นด้วยกับสรกล ก็คือกำไรจำนวนมหาศาลของแบงก์พาณิชย์เหล่านี้ ส่วนใหญ่ได้รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติในแต่ละไตรมาสนี่เอง
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยข้ออ้างว่า เพื่อป้องกันเงินทุนไหลกลับไปฝากยังสถาบันการเงินในสหรัฐฯที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงถึง 5.50% จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งประกาศจะจัดการกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงถึง 8-9% ให้ลงมาอยู่ในอัตราที่ต้องการให้ได้นั้น
ในความเป็นจริง การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติไม่เคยสอดรับกับสถานการณ์ทางการเงินในตลาดโลกอยู่แล้ว ซ้ำร้ายยังไม่สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่มีการปิดงาน เลิกจ้าง และผู้คนตกงานกันเป็นจำนวนมากด้วย
ตลอดช่วง 2 ปีหลังการจากไปของโควิด-19 แบงก์ชาติทำสถิติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไป 8 ครั้ง จากอัตราต่ำสุดที่แช่เอาไว้นานเกินไปที่ระดับ 0.50% สู่ระดับ 2.50% ในปัจจุบัน ด้วยเหตุผลเพื่อควบคุมเงินเฟ้อและป้องกันการไหลออกของเงิน
เหตุผลครั้งหลังสุดเมื่อเดือน ก.ย. ปี 2566 ซึ่งแบงก์ชาติประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ก็เพราะอ้างว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.8% ใกล้จะชนอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ระดับ 1-3% แล้ว
แต่เมื่อหลายฝ่ายเข้าไปดูอัตราเงินเฟ้อที่แท้จริง ตัวเลขที่ปรากฏกลับอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% และผลสุดท้ายเมื่อปิดบัญชีปี 2566 กระทรวงพาณิชย์ก็แถลงตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.66 ว่า อยู่ในระดับต่ำเพียง 0.83% เท่านั้น
ข้อมูลนี้ทำให้ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เศรษฐา ทวีสิน ถึงกับออกปากว่า เขาไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้นแล้วว่า แบงก์ชาติประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำไม ในเมื่อรัฐบาล โดยเฉพาะตัวเขามีความเห็นว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ และรัฐบาลประสงค์จะให้ความช่วยเหลือประชาชนคนไทยในหลายมาตรการเร่งด่วน เพื่อบรรเทาภาวะความเดือดร้อน
“เหตุผลที่ผมเห็นว่าประเทศไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤติก็เพราะตลอดระยะเวลา 10 ปีติดต่อกันมานี้ เศรษฐกิจประเทศไทยขยายตัวได้เพียง 1.8% ของ GDP เท่านั้น ใครจะบอกว่า ไม่ใช่วิกฤติ แต่สำหรับผม ผมเห็นว่านี่เป็นวิกฤติ” นายกฯ และ รมว.คลัง เคยกล่าวไว้ก่อนจะประกาศมาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือประชาชนออกมา
หนึ่งในมาตรการเหล่านั้นก็คือ การพักหนี้ ลดหนี้ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ไม่เป็นธรรมลง แต่แบงก์ชาติกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับนโยบายรัฐบาลด้วยการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซะงั้น
“ข้ออ้างของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา บิดเบี้ยวไปตามแต่สถานการณ์จะพาไป เช่น เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ เพื่อป้องกันการไหลออกของเงินทุน และสุดท้ายอ้างว่าขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ก็เพื่อดักเงินเฟ้อล่วงหน้าที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท จากกระเป๋าเงินดิจิทัลของรัฐบาล” รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลกล่าว
ยังมีข้อสงสัยว่า ทำไมแบงก์ชาติไม่กลับมาดูว่ากำไร 220,000 ล้านบาทของแบงก์พาณิชย์ที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาตินั้นกลับไปสร้างผลกระทบต่อผู้ฝากเงินและผู้กู้ยืมเงินอย่างไรบ้าง
โดยเฉพาะความถ่างที่มีมากขึ้นระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ ทั้งที่อัตราดอกเบี้ยทั้งสองขาควรจะได้รับการปรับขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน
แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากกลับต่ำเตี้ยเรี่ยดินเพียง 1.60-1.80% ต่อปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีหรือลูกค้ารายใหญ่อยู่ที่ 1-3.0% แต่สินเชื่อหรือเงินกู้ของบุคคลธรรมดาดันขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 7.50% ถ้าเป็นพวกวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง (SMEs) ดอกเบี้ยเงินกู้อาจปรับขึ้นไปสูงโด่งเกินกว่า 10-20%ต่อปีได้ ตามดุลพินิจของผู้ให้กู้ (จะกล่าวต่อไปในตอนท้าย)
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมความสามารถในการชำระหนี้ของคนไทยลดลง เห็นได้จากตัวเลขที่สรกลให้ดูว่า ช่วง 11 เดือนของปีก่อน มีรถยนต์ถูกยึดคืนเดือนละ 27,000 คัน เนื่องจากผ่อนไม่ไหว ในเวลาเดียวกันก็มี SMEs เลิกกิจการไปมากถึง 17,858 ราย หรือปิดกิจการเพิ่มขึ้นสูงถึง 11%
สุดท้ายหลังจากกระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของปีที่ผ่านมาว่าอยู่ในระดับ 1.23% แล้ว แบงก์ชาติก็ตามออกมาประกาศปรับลด GDP ปี 2566 ลง จากประมาณการณ์เดือน ม.ค.66 ที่ 3.6% เหลือ 2.6%
ถ้อยแถลงของแบงก์ชาติคราวนี้ไม่ได้มีการยืนยันเสียงแข็งเหมือนเดิมว่า เศรษฐกิจประเทศไทยดีหรือสร้างความสับสนให้ผู้คนเห็นว่า ไม่มีวิกฤติที่ต้องแก้ไขปัญหาถึงขั้นต้องไปออก พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อแจกเงินดิจิทัลในวงเงิน 500,000 ล้านบาท ที่สำคัญก็คือไม่ต้องทำอะไรมากมาย ตัวเลขเศรษฐกิจของปี 2567 ก็น่าจะพุ่งขึ้นไปเกินกว่า 4% จนอาจจะเกิดเงินเฟ้อได้แล้ว
“พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งทำเพื่อจะเอาไว้แจกเงิน 10,000 บาท จากกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้คนไทย 50 ล้านคนนี้ ได้รับคำแนะนำจากผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ว่า ควรออกเป็น พ.ร.บ. พร้อมรับปากจะดูแลหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น 1-3% หรือรวมๆกันคิดเป็น 61-63% ของ GDP ให้ ด้วยเหตุที่เห็นว่าไม่ได้เพิ่มมากมายอะไร...
ส่วนที่เขาไม่เห็นด้วยและไม่อยากให้แจกทั้งหมด คือให้แจกเฉพาะคนยากจนนั้น ผมถามว่าอะไรคือตัวชี้วัดความจนความรวยของคนไทย รบกวนช่วยกลับไปคิดมาแล้วตอบผมด้วย เพราะผมทำทุกอย่างตามคำแนะนำของคุณหมด แต่จะบอกว่าคนมีเงินเดือน 25,000 บาท คือคนรวย ผมไม่เห็นด้วย” นายกฯเศรษฐากล่าว
แต่เนื่องจากผู้ว่าฯแบงก์ชาติไม่ได้ตอบกลับมา นายกฯจึงให้คำนวณอัตราเหมาะสมที่จะไม่จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้แก่คนที่มีเงินเดือน 70,000 บาท และมีเงินฝากในบัญชี 500,000 บาท ถือเป็นอันจบข้อถกเถียง
ทีนี้ ถ้าจะมาดูเงินเดือนผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ตาม พ.ร.บ.แบงก์ชาติจะพบว่า ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มีรายได้ต่อปี 20.8 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินเดือน 13.3 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 1.1 ล้านบาท เบี้ยประชุม 4.72 ล้านบาท บำนาญ 2.34 ล้านบาท ดอกเบี้ยเงินฝาก 300,000 บาท และเงินปันผลประจำปี 100,000 บาท ถ้ารวมกับกรรมการอื่นด้วย คิดเป็นเงินสิริรวม 69 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรจากธุรกรรมการเงินต่างๆตลอดปี 190,000 ล้านบาท
เมื่อเทียบกับเงินเดือนนายกรัฐมนตรี แยกเป็นเงินเดือนประจำ 72,060 บาท เงินตำแหน่ง 41,500 บาท รวม 113,560 บาท ถ้าควบอีกตำแหน่งก็บวกเลขตามไป จะเห็นว่า เงินเดือนของผู้นำประเทศในฝ่ายบริหารนั้น เทียบกับเงินเดือน และรายได้ของผู้ว่าฯแบงก์ชาติ...เงินเดือนนายกรัฐมนตรีก็แค่ฝุ่น
อดีต รมว.กระทรวงการคลัง ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเงินธนาคารมานาน ให้ความเห็นว่า ผลประกอบการของแบงก์พาณิชย์ที่มีกำไรเพิ่มขึ้นมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ส่งผลให้แบงก์พาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ตาม
การปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ในทางบัญชีจะทำให้แบงก์พาณิชย์มีกำไรเพิ่มขึ้นทันที จากลูกค้าเงินกู้ที่ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทันที ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากจะเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด อาทิ เงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน หรือ 12 เดือน เมื่อฝากเงินครบแล้ว หากนำเงินไปฝากรอบใหม่จึงจะได้ดอกเบี้ยเงินฝากที่เพิ่มขึ้น
อีกปัจจัยมาจากมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิดของแบงก์ชาติที่ให้แบงก์พาณิชย์แบ่งเบาภาระให้กับลูกค้า ทั้งยืดระยะเวลาชำระหนี้ พักหนี้ ไม่ให้จัดชั้นเป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งมาตรการได้สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.66
แต่ที่เอื้อประโยชน์ให้แบงก์พาณิชย์เป็นอย่างมากก็เพราะแบงก์ยังคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นปกติ และสามารถบันทึกเป็นรายได้ เนื่องจากลูกค้าไม่ได้เป็นหนี้เอ็นพีแอล ซึ่งตามเกณฑ์ปกติ หากลูกค้าหยุดชำระหนี้หรือถูกจัดชั้นให้เป็นเอ็นพีแอล แบงก์พาณิชย์สามารถบันทึกรายได้จากดอกเบี้ยได้ 3 รอบบัญชี หรือ 3 เดือนทีเดียว
แปลว่าการพักชำระหนี้ ซึ่งไม่ได้ทำให้เงินต้นที่ลูกค้ากู้ยืมลดลง กลับยิ่งสร้างรายได้ดอกเบี้ยให้แก่แบงก์พาณิชย์มากขึ้น
สำหรับส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยฝากและเงินกู้ที่ถ่างกันมาก และดำเนินมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี หลังวิกฤติต้มยำกุ้งนั้น ถึงเวลาแล้วที่แบงก์ชาติจะต้องเข้าไปดูแลไม่ให้เกิดการเอาเปรียบคนฝาก และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้กู้เงินกับผู้ฝากเงินลง ด้วยการเข้ามาดูแลผู้ฝากเงินให้มีรายได้ดอกเบี้ยเพียงพอกับค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพในสภาวะปัจจุบัน
“ช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจมีความจำเป็นต้องทำให้แบงก์พาณิชย์มั่นคง จึงมีการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลงต่ำมาก เมื่อกลับสู่ภาวะปกติดอกเบี้ยเงินฝากก็ยังต่ำมาก และลากระยะเวลามายาวนาน ที่สำคัญเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น แบงก์พาณิชย์ไม่ใช่เพิ่งมีกำไร แต่มีกำไรตลอด 20 ปี แม้แต่ในช่วงโควิด”
เริ่มจากในฝั่งของดอกเบี้ยเงินกู้ ถ้าเป็นลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารมีอำนาจการต่อรองสูง ธนาคารคิดดอกเบี้ยเงินกู้เพียง 2-3% โดยออกเป็นตั๋วแลกเงินระยะเวลาการกู้ยืม 3-6 เดือน และมีการต่ออายุตั๋วเมื่อครบอายุ
ขณะที่ดอกเบี้ยที่คิดกับผู้ประกอบการ SMEs และลูกค้าเงินกู้บุคคลธรรมดามีอำนาจการต่อรองต่ำ จึงถูกคิดดอกเบี้ยสูง และยังบวกค่าความเสี่ยงเช่น SMEs ลูกค้าชั้นดี ถูกคิดดอกเบี้ยเงินกู้ MLR 7.10% ต่อปี บางรายถูกบวกเสี่ยงอีก 2-3% ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยสูงถึง 9.10-10. 10% ต่อปี ส่วนผู้กู้เงินที่เป็นลูกค้ารายบุคคล หากเป็นสินเชื่อบ้านให้คิดดอกเบี้ยเงินกู้ MLR แต่หากเป็นสินเชื่อบุคคล คิดดอกเบี้ยเงินกู้ 12-21% ต่อปี
“ความเหลื่อมล้ำนี้ เมื่อนำรายได้ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ SMEs และบุคคลธรรมดามารวมกันจะมีรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ยแล้วไม่สูงมาก เนื่องจากลูกค้ารายใหญ่ที่มีสัดส่วน 40-60% ของพอร์ตสินเชื่อรวมเสียดอกเบี้ยต่ำมาก ขณะที่สัดส่วนลูกค้า SMEs อยู่ที่ 30% และบุคคลธรรมดาอยู่ที่ 10-20%”
ความถ่างของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงมากเช่นทุกวันนี้ ถึงเวลาที่แบงก์ชาติจะต้องเข้ามาดูแลแก้ไขเป็นการเร่ง “ด่วน” ได้แล้ว และปรับโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยที่เอาเปรียบผู้คนลง โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้าถึงเงินกู้ยาก กับกลุ่มผู้สูงวัยที่เกษียณจากการทำงาน จำเป็นต้องมีเงินเก็บที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากอย่างเป็นธรรม
ถึงเวลาที่แบงก์ชาติต้องตื่นรู้เสียทีว่าความยากจนนั้นกัดกร่อนสังคมไทยไปมากมายขนาดไหนแล้ว อย่ามัวแต่นอนอยู่บนก้อนเมฆแล้วแสวงหาความสุขเฉพาะพวกตนอยู่เลย.
ทีมเศรษฐกิจ
Source: ไทยรัฐออนไลน์

 

คลิก

Cr.Bank’s Scholarship Students

-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"