ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบล่าสุด มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.50% ต่อปี สูงสุดในรอบ 10 ปี เป็นการขึ้นดอกเบี้ย 9 ครั้งติดต่อกัน พร้อมส่งสัญญาณว่า "ดอกเบี้ยอยู่ในระดับเหมาะสม" แล้ว
นอกจากนี้ กนง.ได้ปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2566 นี้ลงเหลือ 2.8% จากเดิมคาด 3.6% ส่วนปี 2567 ปรับขึ้นเป็น 4.4% จากเดิมคาด 3.8% เนื่องจากมองว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจจะทำงานเต็มสูบมากขึ้น
# ฟันธงจบรอบดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว
โดย "ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล" กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ระบุว่า หลัง กนง.ขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้ "อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว" แปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่า "จบรอบแล้ว ??"
เช่นเดียวกับ "ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย" หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า กนง.ส่งสัญญาณชัดเจนว่า จบรอบดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า กนง.ไม่ควรขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ด้วยซ้ำ ควรจะหยุดเพื่อรอดูสถานการณ์ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อก็ลดลงแล้ว ความจำเป็นในการปรับขึ้นก็มีน้อยลง ตัวเลขเศรษฐกิจก็ไม่ได้ดีมาก เห็นได้จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ปรับอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ลง ส่วนการที่ปรับจีดีพีปีหน้าขึ้นไป 4.4% มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลตเป็นหลัก
# แบงก์ขยับขึ้นดอกกู้ตาม
นอกจากนี้ รอบที่แล้ว กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็ไม่มีธนาคารไหนปรับขึ้นตาม มาถึงรอบนี้แบงก์ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ตามแน่ เพราะต้นทุนขึ้นไปแล้ว
"แบงก์เอง ก็กังวลเหมือนกันว่า ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ลูกค้าจะทำอย่างไร จะรับไหวหรือไม่ แต่รอบนี้ก็คงต้องขึ้น เพราะทำอะไรไม่ได้ ถึงแบงก์จะห่วงลูกค้า แต่ว่าดอกเบี้ย กนง.ที่ขึ้น ก็ทำให้ต้นทุนการเงินของแบงก์ขึ้น ก็ต้องปรับดอกเบี้ยเงินกู้ตาม
ทั้งนี้ จริง ๆ แล้วผมคิดว่า ถ้าไม่มีเรื่องที่รัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจแรง ๆ รอบนี้แบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) อาจจะถอนแล้ว แต่ที่ขึ้นรอบนี้ ก็เพราะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าตัดออกนี่ ภาพก็เห็นชัดว่าตัวเลขเศรษฐกิจมันแผ่ว"
# กนง.ตั้งการ์ดสูงรับ "แจกเงิน"
ทั้งนี้ การขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ มองว่าน่าจะเป็นการทำเผื่อเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อรองรับการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจโตร้อนแรง จนทำให้เงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้นอีก แต่จากภาวะในปัจจุบันเมืองไทยไม่ได้มีเงินเฟ้อที่สูง แต่เงินเฟ้อต่ำด้วยซ้ำ โดยเงินเฟ้อพื้นฐานตอนนี้อยู่ต่ำกว่า 1% เนื่องจากภาพเศรษฐกิจไม่ได้ดีมาก จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปป้องกันเงินเฟ้อล่วงหน้า
"จริง ๆ แล้ว ธปท.หยุดขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ไว้ก่อนก็ได้ แล้วไปรอดูว่า ถ้ามีความเสี่ยงว่าเงินเฟ้อจะขึ้นสูง ค่อยไปปรับอีกทีก็ได้ เพราะตอนนี้ความไม่แน่นอนยังมีค่อนข้างมาก"
# แจกเงินหมื่นบาทปั๊มจีดีพีปีหน้า
"ดร.พิพัฒน์" กล่าวว่า KKP ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลงเหลือ 2.8% ส่วนปีหน้าเดิมคาดการณ์ว่าจะโต 3.3% ซึ่งยังไม่รวมนโยบายรัฐบาล เนื่องจากยังไม่ชัดเจนในเรื่องแหล่งเงินที่นำมาใช้ โดยหากสุดท้ายชัดเจนว่าเป็นการกู้มาทั้งหมด คือไม่ได้ไปตัดรายจ่ายจากงบประมาณอื่น ๆ ก็คาดว่าจะมีผลต่อจีดีพีประมาณ 1.2% ดังนั้น จีดีพีปี 2567 ก็น่าจะโตได้ 4.5%
# แบงก์ขึ้นดอกกู้ 0.20-0.25%
"กาญจนา โชคไพศาลศิลป์" ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์จะทยอยส่งผ่านนโยบายต้นทุนดอกเบี้ย หลังจากที่ กนง.รอบก่อนปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่แบงก์ไม่ได้ปรับขึ้นตาม
อย่างไรก็ดี รอบนี้น่าจะเห็นการปรับอัตราดอกเบี้ย แบบขยับขึ้นทั้ง 3 ประเภท (M Rate) แต่เชื่อว่าแบงก์จะพยายามให้กระทบลูกค้ารายย่อยน้อยที่สุด โดยจะปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยชั้นดี (MRR) น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่ชั้นดี (MLR) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเกินบัญชีแบบมีระยะเวลา (MOR)
ทั้งนี้ การปรับอัตราดอกเบี้ยของแบงก์รอบนี้ ประเมินว่าจะเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 0.20-0.25% ต่อปี ซึ่งแต่ละธนาคารจะพิจารณาจากพอร์ตสินเชื่อและเงินฝาก รวมถึงต้นทุนของตัวเองเป็นหลัก
"ครั้งก่อน ถึงแม้แบงก์จะไม่ได้มีการปรับดอกเบี้ยเงินกู้ที่เป็นดอกเบี้ยอ้างอิง แต่จะเห็นการขยับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากแคมเปญพิเศษ ซึ่งในเดือน ส.ค.จะเห็นแบงก์ออกแคมเปญเงินฝากใหม่ถึง 24 โปรดักต์ จากที่ครบกำหนดเพียง 9 โปรดักต์
รวมถึงก่อนหน้านั้น ช่วงเดือน ก.ค. ก็มีการออกแคมเปญใหม่ 16 โปรดักต์ จากที่ครบกำหนดเพียง 6 โปรดักต์ สะท้อนว่าแบงก์มีการออกแคมเปญเงินฝากค่อนข้างมาก ในช่วงที่ไม่ได้ขยับดอกเบี้ยอ้างอิง"
# แบงก์กรุงเทพนำร่อง
"สุวรรณ แทนสถิตย์" กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ธนาคารปรับดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพิ่มขึ้น มีผลตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 2566 โดยดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้น 0.10-0.25% สำหรับบุคคลธรรมดา
ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อปรับขึ้น 0.25% โดยดอกเบี้ย MLR หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลาเป็น 7.10% ต่อปี เอ็มโออาร์ (MOR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี เป็น 7.55% ต่อปี และเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี เป็น 7.30% ต่อปี
# คลังสั่งแบงก์รัฐตรึงดอกเบี้ยอุ้มลูกค้า
"กฤษฎา จีนะวิจารณะ" รมช.คลัง กล่าวว่า ได้ขอให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ตรึงดอกเบี้ยเอาไว้ก่อน เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้กับประชาชน ขณะที่ก่อนหน้านี้ที่ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยคราวที่แล้ว แบงก์พาณิชย์ก็ไม่ได้ขึ้นตาม ดังนั้น คงต้องดูสถานการณ์ก่อน
"เราขอให้แบงก์รัฐตรึงไว้ก่อน ซึ่งคราวที่แล้วแบงก์พาณิชย์ก็ไม่ได้ขึ้นตาม ก็ต้องดูสถานการณ์ก่อน เพราะมีผลต่อความสามารถในการชำระของลูกค้า" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าว
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you