เกิดอะไรขึ้นกับเยอรมัน จากประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแรงที่สุดในยุโรปสู่ประเทศที่เศรษฐกิจอ่อนแอภายในเวลาแค่ปีเดียว

เยอรมนีเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีบทบาททางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก โดยในปี 2023 เยอรมนีมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก (รองจากสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น) และเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป

รวมถึงยังเป็นประเทศผู้ส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก (รองจากจีนและสหรัฐอเมริกา)
แต่จากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ระบุว่าในปี 2023 เยอรมนีจะเป็นประเทศเดียวในกลุ่มเศรษฐกิจ G7 ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มจะหดตัวมากกว่าขยายตัว โดยเยอรมนีต้องเผชิญกับความยากลำบากในมิติของเศรษฐกิจ 3 ปัญหาหลัก ได้แก่
ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อที่เป็นผลมาจากราคาพลังงานที่ดีดตัวสูงขึ้นมา ส่งต่อผลกระทบมาจากความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ผ่านสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบในแง่ของตัวเลขเงินเฟ้อและต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้นมาทำให้สุขภาพเศรษฐกิจให้เยอรมันทรุดลงอย่างมาก
อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีวิศวกรรมโดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ที่เคยแข็งแกร่ง เริ่มอ่อนแอและยากที่จะต่อกรกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะผู้เล่นในแวดวงยานยนต์หน้าใหม่อย่างจีน
ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากประชากรวัยทำงานที่เริ่มมีอายุมากขึ้นทำให้ประเทศขาดแรงงานที่จะมานำพาให้เศรษฐกิจกลับมากระชุ่มกระชวยอีกครั้ง และที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นรัฐบาลเยอรมันดูเหมือนจะไม่ยังไม่มีแนวทางในการแก้ปัญหาเหล่านี้เลย เรื่องราวเชิงลึกจะเป็นอย่างไรติดตามได้จากบทความนี้
โครงสร้างเศรษฐกิจเยอรมัน
ระบบเศรษฐกิจของเยอรมนีเป็นแบบเศรษฐกิจผสม โดยมีทั้งส่วนของทุนนิยมและสังคมนิยมผสมผสานเข้าด้วยกัน และรัฐบาลก็ค่อนข้างมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนก็มีเสรีภาพในการดำเนินธุรกิจอยู่ไม่น้อย
ลักษณะสำคัญของระบบเศรษฐกิจของเยอรมัน ยกตัวอย่างเช่น
การมุ่งเน้นไปที่การส่งออก โดยเยอรมนีเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกเบอร์ต้นๆของโลก และการส่งออกก็เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ GDP เติบโต
แรงงานที่มีทักษะสูง เยอรมนีมีแรงงานที่มีการศึกษาดีและมีทักษะสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จทางเศรษฐกิจ
ความปลอดภัยทางสังคมสูง รัฐบาลเยอรมันจัดให้มีเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมที่ครอบคลุม ซึ่งพลเมืองทุกคนสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็น เช่น การดูแลสุขภาพและการศึกษาได้เป็นเรื่องพื้นฐาน
เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำในการปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อม และได้กำหนดเป้าหมายที่แน่วแน่ที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2030
นอกจากนี้เรายังสามารถแบ่งเครื่องจักรสำคัญทางเศรษฐกิจของเยอรมนีออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
ภาคอุตสาหกรรม คิดเป็น 29.1% ของจีดีพี เป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของเยอรมนี อุตสาหกรรมหลักของเยอรมนี ได้แก่ เครื่องจักรกล ยานยนต์ เคมี ยา ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์
ภาคการบริการ คิดเป็น 70% ของจีดีพี เป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ภาคการบริการของเยอรมนีครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ การค้าปลีก การท่องเที่ยว การเงิน ประกันภัย การศึกษา และสุขภาพ
ภาคเกษตรกรรม คิดเป็น 0.9% ของจีดีพี ถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่เล็กที่สุดของเยอรมนี โดยเยอรมนีมีการผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด น้ำตาล และผัก
เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง ดังนั้นเราจึงเห็นภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆมาช่วยยกระดับขีดความสามารถในการผลิต นอกจากนี้เยอรมันยังมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูงซึ่งส่งผลให้เยอรมันสามารถผลิตแรงงานที่มีทักษะและความรู้ความสามารถสูงเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ เยอรมันยังมีนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการค้าเสรีและการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้เยอรมนีเป็นประเทศที่มีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสูง ด้วยความเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป (EU) และองค์การการค้าโลก (WTO) ช่วยให้เยอรมนีสามารถเข้าถึงตลาดการค้าและการลงทุนในระดับโลกได้
อะไรทำให้เศรษฐกิจเยอรมันอ่อนแอ
ปี 2023 เป็นปีที่เศรษฐกิจของประเทศเยอรมนีต้องเผชิญกับความท้าทายและปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเงินเฟ้อสูงที่มาจากราคาพลังงาน เรื่องของอุตสาหกรรมการผลิตและเครื่องจักรหนักที่เคยเป็นตัวชูโรงของประเทศก็เริ่มถูกประเทศจีนเร่งเครื่องแซง และอย่างสุดท้ายคือปัญหาด้านแรงงาน เราจะพาคุณผู้อ่านไปเจาะรายละเอียดแต่ละประเด็นที่กำลังทำให้สุขภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ได้ชื่อว่าเคยมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรป ต้องกลายเป็นเหมือนชายที่กำลังป่วย อยู่ในขณะนี้
ปัญหาด้านพลังงาน
ต้องท้าวความว่า พลังงานส่วนใหญ่ที่ใช้ในประเทศเยอรมันล้วนนำเข้ามาจากรัสเซีย โดยในช่วงก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน(ปี 2022) เยอรมนีนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วน 35% ของปริมาณการนำเข้าน้ำมันทั้งหมด ถ่านหินจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วน 45% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด และนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วน 55% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เยอรมนีในฐานะสมาชิก NATO จึงถูกบังคับทางอ้อมให้ลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียลง เยอรมนีได้ดำเนินมาตรการลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย โดยในเดือนมีนาคม 2022 เยอรมนีประกาศว่าจะลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียลงครึ่งหนึ่งภายในเดือนมิถุนายน 2022 และยุติการนำเข้าถ่านหินจากรัสเซียทั้งหมดภายในฤดูใบไม้ร่วง(กันยา-ตุลา) ปี 2023 นี้ นอกจากนี้ยังมีแผนจะลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียให้ได้เกือบหมดภายในช่วงกลางปี 2024
ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกเลยที่ราคาพลังงานในเยอรมนีเพิ่มขึ้นอย่างมากนับจากช่วงก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% และราคาไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 30%
อย่างราคาน้ำมันเบนซินในเยอรมนีอยู่ที่ประมาณ 1.70 ยูโรต่อลิตรในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2.30 ยูโรต่อลิตรในเดือนกรกฎาคม 2023 ราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 8 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 25 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในเดือนกรกฎาคม 2023 และค่าไฟฟ้าในภาคครัวเรือนจากเดิมอยู่ที่ประมาณ 30 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 40 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในเดือนกรกฎาคม 2023
การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเยอรมนีอย่างมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว
ปัญหาอัตราเงินเฟ้อ
เมื่อการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ข้าวของในเยอรมันแพงขึ้น นั่นก็ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในเยอรมนีพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่า 40 ปี โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีอยู่ที่ 7.6% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางเยอรมนีที่ตั้งไว้ที่ 2%
ปัญหาด้านพลังงานและอัตราเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเยอรมนีในหลายด้าน เช่นทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ภาคธุรกิจประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เมื่อต้นทุนปัจจัยการผลิตสูงขึ้น ผลิตไปแล้วไม่คุ้มก็ทำให้การลงทุนภาคเอกชนลดลง
ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์
ด้วยความที่เยอรมนีตั้งอยู่ในใจกลางของทวีปยุโรป และมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 9 ประเทศ ทำให้เยอรมนีมีบทบาทสำคัญในภาคพื้นทวีปยุโรปมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของเยอรมนีก็ทำให้เยอรมันเผชิญกับปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์หลายประการ อย่างเช่น
การพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย เยอรมนีนำเข้าพลังงานจากรัสเซียในสัดส่วนที่สูงมากอย่างที่ได้อธิบายไปในหัวข้อที่แล้ว การพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียทำให้เยอรมนีตกอยู่ในสภาวะเปราะบาง เพราะจากรัสเซียสามารถใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือในการกดดันเยอรมนีทางการเมืองได้ ตัวอย่างเช่น รัสเซียได้ระงับการส่งก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรปเป็นระยะเวลาหนึ่งในช่วงต้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเยอรมนีและยุโรปโดยรวม
ความขัดแย้งกับรัสเซีย เยอรมนีและรัสเซียมีความขัดแย้งกันมานานหลายปี โดยความขัดแย้งส่วนใหญ่เกิดจากความกังวลของเยอรมนีเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศของรัสเซีย ตัวอย่างเช่น เยอรมนีไม่เห็นด้วยกับการผนวกไครเมียของรัสเซียในปี 2014 และไม่เห็นด้วยกับการรุกรานยูเครนของรัสเซียในปี 2022
ความขัดแย้งกับรัสเซียเป็นปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญสำหรับเยอรมนี เนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญของเยอรมนี และเยอรมนีเองมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงที่ทับซ้อนกับรัสเซียเสียด้วย
การแข่งขันกับจีน เยอรมนีและจีนเป็นสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ทั้งสองประเทศมีการแข่งขันกันในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะ การค้าการส่งออก การลงทุน และเทคโนโลยี
การแข่งขันกับจีนเป็นปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญสำหรับเยอรมนี เนื่องจากอำนาจด้านการค้าการลงทุนของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เยอรมนีต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านการค้าและการลงทุนจากที่มาจากจีน โดยเฉพาะในอตุสาหกรรมยานยนต์ที่เยอรมันได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตยานยนต์ที่มีคุณภาพอันดับ 1 ของโลก
แต่คู่แข่งหน้าใหม่ไฟแรงอย่าง จีน ยังนับเป็นภัยคุกคามต่อผู้ผลิตรถยนต์เยอรมันไม่น้อย แบรนด์เก่าแก่และมีชื่อเสียงของเยอรมนี อย่าง BMW, Mercedes, Porsche และ Volkswagen ต่างมีความเสี่ยงที่จะถูกจดจำในฐานะ “อดีต” เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเพราะราคาถูกกว่าแบรนด์เยอรมัน เนื่องจากจีนมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ทั้งยังมีคุณภาพรวมถึงดีไซน์ที่ทันสมัยทำให้จีนเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมาก
ถ้านับแค่ปี 2022 จีนส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศได้ถึง 2.7 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2015 ที่อยู่ที่เพียง 4 แสนคันเท่านั้น ซึ่ง 2 ใน 5 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือไฮบริด และจากจำนวนสองล้านกว่าคันนี้ส่วนหนึ่งจีนรับเป็นผู้ผลิตให้แบรนด์รถยนต์ชื่อดังด้วย
ไม่เพียงแต่จีนเท่านั้น แต่แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของอเมริกาอย่าง Tesla ก็ได้มีแผนการที่จะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ของตนเองใกล้กับกรุงเบอร์ลิน และวางแผนที่จะขยายเพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนีอีกด้วย
ปัญหาด้านแรงงาน
เยอรมนีกำลังเผชิญกับปัญหาด้านแรงงานหลายด้านด้วยกัน อย่างเช่น
การขาดแคลนแรงงาน เยอรมนีกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากมีจำนวนประชากรวัยทำงานที่เคยเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศเริ่มสูงวัยและเกษียณตัวเองออกไป ในขณะที่จำนวนประชากรวัยทำงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าและไม่ทันต่อความต้องการการขาดแคลนแรงงานส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเยอรมนี โดยทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว
การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ แรงงานที่มีทักษะถือเป็นจุดเด่นของแรงงานในประเทศเยอรมันและมีส่วนอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านภาคการผลิตและเทคโนโลยี เยอรมันต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงเพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนแรงงานที่มีทักษะสูงไม่เพียงพอ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและภาคบริการของเยอรมนี โดยอาจทำให้ประสิทธิภาพการผลิตลดลง และอาจทำให้คุณภาพสินค้าและบริการลดลงได้
การขาดแคลนแรงงานข้ามชาติ เยอรมนีเคยใช้วิธีการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานผ่านการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป แต่จากการที่ที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป ทำให้เยอรมนีสูญเสียแหล่งแรงงานข้ามชาติที่สำคัญไป
ด้านพลังงาน
เหตุอาจจะใช่ แต่ผลก็นับว่ายังไม่เข้าที เมื่อเยอรมันเล่นไม่เอารัสเซียชนิดสุดลิ่มแบบนี้ คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วเยอรมันจะสั่งน้ำมันดิบจากไหน? แล้วปัจจัยที่ใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าอย่าง ถ่านหิน และ ก๊าซธรรมชาติจะเอาจากที่ไหนอย่างไร?
คำตอบบางส่วนอยู่ตรงนี้!
นับจนถึงปัจจุบัน เยอรมนีสามารถลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียลงได้แล้วในระดับหนึ่ง โดยปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียลดลงมาอยู่ที่ระดับ 12% จากระดับ 35% ก่อนหน้านี้ ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าถ่านหินจากรัสเซียลดลงจาก 45% เหลือ 8% อย่างไรก็ตาม เยอรมนียังคงพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในระดับสูงถึง 35% ซึ่งลดลงจากระดับ 55% ในช่วงก่อนที่จะเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน
แล้วถ้าเยอรมนีเลิกนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย เยอรมันจะนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศอื่น ๆ มากขึ้น โดยประเทศที่มีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่สำคัญสำหรับเยอรมนี ได้แก่
สหรัฐอเมริกา
แคนาดา
ซาอุดีอาระเบีย
กาตาร์
อิรัก
คูเวต
บาห์เรน
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เวเนซุเอลา
โดยเยอรมนีได้เริ่มเข้าเจรจากับประเทศเหล่านี้เพื่อเพิ่มการนำเข้าน้ำมันดิบแล้ว โดยในปี 2022 เยอรมนีนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็น 27% จากระดับ 14% ก่อนหน้านี้ และนำเข้าน้ำมันดิบจากแคนาดาเพิ่มขึ้นเป็น 15% จากระดับ 6% ก่อนหน้านี้
นอกจากการนำเข้าน้ำมันดิบจากแหล่งอื่น ๆ แล้ว เยอรมนียังพยายามจะเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบภายในประเทศอีกด้วย โดยรัฐบาลเยอรมนีได้อนุมัติแผนเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบในประเทศเป็นสองเท่าภายในปี 2030
การเลิกนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียของเยอรมนีจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของเยอรมนีและยุโรปโดยรวม โดยอาจทำให้ต้นทุนพลังงานสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบางประเภท อย่างไรก็ตาม เยอรมนีเชื่อว่าการลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในอนาคต
การลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียของเยอรมนีถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ เนื่องจากรัสเซียเป็นคู่ค้าพลังงานรายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเยอรมนีได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เช่น การเพิ่มการนำเข้าพลังงานจากแหล่งอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และตะวันออกกลาง การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
ส่วนในระยะสั้นสิ่งที่รัฐบาลเยอรมันทำก็คือ การยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือภาคเอกชนเพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุนและทำให้ราคาสินค้าลดลงทางอ้อม โดยที่รัฐอัดฉีดเงินช่วยเหลือเป็นจำนวนกว่า 30,000 ล้านยูโร (33 พันล้านดอลลาร์คิดเป็น 0.7% ของ GDP) เพื่ออุดหนุนค่าไฟสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต
ด้านการค้าการลงทุน
ตอนนี้ปัญหาเรื่องที่จีนกำลังพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ขึ้นมาทัดเทียมกับเยอรมันและประเทศที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กำลังเป็นประเด็นที่ผู้นำหลายประเทศแสดงความกังวลกับการขึ้นมาอย่างรวดเร็วของจีน ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นทางเยอรมันจึงมีแผนที่จะรับมือกับปัยหาด้านการค้าได้แก้
ส่งเสริมเขตพื้นที่การค้าเสรี เยอรมนีเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีใน 27 ประเทศ เยอรมนียังมีส่วนร่วมในข้อตกลงการค้าเสรีอื่นๆ อีกหลายฉบับ เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และความร่วมมือภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ทำให้เยอรมันเข้าถึงการค้ากับภูมิภาคอื่นๆของโลก
ปกป้องผลประโยชน์ เยอรมนีประสบความสำเร็จในการปกป้องผลประโยชน์ในการเจรจาการค้า โดยเยอรมันได้รับการยกเว้นภาษีบางรายการในข้อตกลง TPP นอกจากนี้ยังได้รับสัมปทานอื่นๆ ในการเจรจาการค้า เช่น การปรับปรุงการเข้าถึงตลาดสำหรับการส่งออก
การบังคับใช้กฎการค้า เยอรมนีเป็นผู้สนับสนุนหลักขององค์การการค้าโลก (WTO) และทำงานร่วมกับประเทศอื่นที่อยู่ใน WTO เพื่อบังคับใช้กฎบางอย่าง เช่น การห้ามการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เพื่อป้องกันปัญหาอย่างการการทุ่มตลาด
เพิ่มการลงทุนในประเทศ เยอรมนีลงทุนอย่างมากในระบบเศรษฐกิจของตัวเอง โดยเฉพาะการใช้เงินจำนวนมากในการวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้เยอรมันยังมีโครงการมากมายที่จะช่วยให้ธุรกิจเริ่มต้นและเติบโตทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
ด้านเทคโนโลยี(โดยเฉพาะยานยนต์)
การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา(R&D) เยอรมนีมีการทุ่มงบลงทุนเป็นจำนวนมากในด้านการวิจัยและพัฒนาในภาคยานยนต์ โดยในปี 2021 เยอรมนีใช้เงิน 10,500 ล้านยูโรในการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆทั้งหมด ในยุโรป การลงทุนของเยอรมนีในด้านการวิจัยและพัฒนากำลังช่วยพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง รถยนต์ไร้คนขับและยานพาหนะไฟฟ้า
ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เยอรมนีกำลังทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ เพื่อแบ่งปันเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในภาคยานยนต์ ซึ่งรวมถึงความร่วมมือกับจีนด้วย ตัวอย่างเช่น เยอรมนีและจีนตกลงที่จะร่วมมือในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าร่วมกัน
การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา เยอรมนีกำลังดำเนินการทางกฎหมายเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาในภาคยานยนต์ อย่างการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการปลอมแปลงและการละเมิดสิทธิบัตร เยอรมนีเป็นประเทศที่เอาจริงเอาจังกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา
การส่งเสริมนวัตกรรม เยอรมนีสนับสนุนนวัตกรรมในภาคยานยนต์โดยการลดหย่อนภาษีและสิ่งจูงใจอื่นๆ ให้กับธุรกิจที่พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจต่างๆ นำเงินมาลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆมากขึ้น
เยอรมันมั่นใจว่าจะสามารถรักษาความเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยียานยนต์ได้ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากจีนก็ตาม อุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนีมีนวัตกรรมชั้นสูงและมีประวัติความสำเร็จที่มาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ เยอรมนียังลงทุนมหาศาลในด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะช่วยให้เยอรมนีนำหน้าประเทศอื่นในด้านเทคโนโลยียานยนต์อยู่เสมอ
ด้านแรงงาน
รัฐบาลเยอรมนีได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน อาทิเช่น
การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ในเดือนตุลาคม 2022 รัฐบาลเยอรมันมีมาตรการในการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจาก 9.60 ยูโรต่อชั่วโมง เป็น 12 ยูโรต่อชั่วโมง เพื่อดึงดูดแรงงานที่มีทักษะและแรงงานข้ามชาติให้มาทำงานในเยอรมัน
การปรับปรุงระบบการศึกษาและการฝึกอบรม รัฐบาลเยอรมัน ได้ลงทุนในระบบการศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนี้รัฐบาลได้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาและฝึกอบรม เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม
การออกมาตรการดึงดูดแรงงานข้ามชาติ รัฐบาลเยอรมนีได้ออกมาตรการดึงดูดแรงงานข้ามชาติ โดยการให้วีซ่าทำงานระยะยาวแก่แรงงานที่มีทักษะ และการให้สิทธิประโยชน์แก่แรงงานข้ามชาติ เช่น สิทธิ์ในการเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐและสิทธิ์ในการเข้าร่วมกองทุนบำเหน็จบำนาญของเยอรมัน
มาตรการเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาด้านแรงงานของเยอรมนีได้ในระยะยาว แต่ในระยะสั้น เยอรมนีอาจยังคงเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานอยู่บ้าง
นอกจากนี้ Hubertus Heil รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของเยอรมนีเดินทางไปบราซิลเพื่อเชิญชวนให้บุคลากรทางการแพทย์เดินทางเข้ามาทำงานในเยอรมันมากขึ้น กฎหมายด้านแรงงานที่มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2020 เปิดกว้างต้อนรับคนงานจากนอกสหภาพยุโรปจำนวนมากขึ้น และอาจจะต้องได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมในปีนี้เพื่อลดอุปสรรคในการเข้าประเทศหลังจากที่ไม่สามารถดึงดูดคนงานได้เพียงพอ
กล่าวโดยสรุปก็คือว่าปัญหาของเยอรมันไม่ได้อยู่ที่เรื่องมีหรือไม่มีเงิน แต่เป็นเรื่องของความสามารถของฝ่ายบริหารของเยอรมันเอง Olaf Scholz นายกรัฐมนตรีของเยอรมัน ดูจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องของการปฏิรูปการทำงานของภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และดูเหมือนให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ทางด้านการเงินของประเทศมากกว่าการนำพาประเทศไปออกจากวังวนของปัญหาและนำสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
Source: marketeeronline

คลิก

Cr.Bank’s Scholarship Students

-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"