นโยบายแจกเงินดิจิทัล เริ่มชัด "พรรคเพื่อไทย" เผยออกเป็น Utility Token เตรียมถก ธปท. หวังแก้ประกาศให้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ มั่นใจช่วยปลุกเศรษฐกิจฟื้น ต่อยอดสู่นโยบายอื่นๆ
หลังจากที่สร้างความสงสัยอยู่นานเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท
ว่าจะแจก อย่างไร ผ่านช่องทางไหน และใช้จ่ายอย่างไร ล่าสุดมีความชัดเจนออกมาแล้วจากพรรคเพื่อไทยว่า จะเป็นการแจกผ่าน Token ในรูปของ Utility Token ประเภทที่ 1 นั่นหมายความว่า Token นี้จะสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งขัดต่อกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ดังนั้นรัฐบาลใหม่ จึงต้องหารือร่วมกับ ธปท. เพื่อแก้ไขข้อจำกัด เหล่านี้
ส่วนเงื่อนไขและหลักของนโยบายนี้จะเป็นการสร้างและเติมเงินในดิจิทัลวอเลท มูลค่า 1 หมื่นบาท ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน สามารถใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตร อาจปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมในกรณีที่ถิ่นที่อยู่ไม่มีร้านค้าให้สามารถใช้จ่ายได้
สามารถใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคได้ โดยผู้รับเงินสามารถลงทะเบียนในฐานะ ผู้ค้าขาย ผู้ค้าสามารถนำเงินที่ได้รับไปแลกคืนเป็นเงินสดได้ แต่จะต้องเป็นผู้ที่จดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่สามารถนำเงินไปใช้หนี้ได้ และต้องใช้จ่ายให้หมดภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่เริ่มโครงการ
แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า เงินดิจิทัลที่นำมาใช้ในโครงการดังกล่าวจะเป็นในรูปของ Token ซึ่งเป็น Utility Token ประเภทที่ 1 ภายใต้พระราชกำหนด การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ซึ่งสามารถดำเนินการได้หากประสานกับ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) โดยการนิยามเพิ่มและออกประกาศใช้โดย ก.ล.ต. ซึ่งไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายอื่นใดเพิ่มเติม
สำหรับการนำเงินดิจิทัลไปใช้จ่าย จะเข้าข่ายการเป็นสื่อกลางในการชำระ ค่าสินค้าและบริการ(Means of Payment) ซึ่งยังเป็นข้อห้ามของ ธปท. ดังนั้นหาก ธปท. ให้ความร่วมมือ การออกประกาศของ ธปท. จะปลดล็อกข้อห้ามนี้ได้
ส่วนการออกแบบสถาปัตยกรรมด้าน Blockchain มีความจำเป็นและต้องใช้เวลาและบุคลากรจำนวนมาก และหากยังไม่ได้เตรียมการแผนแม่บทและอัตรากำลังคน ก็เป็น การยากที่รัฐจะทำให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า โครงการนี้จำเป็นต้องมีการทำ KYC ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญในการทำธุรกรรมการเงินยุคปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันการทำ KYC สามารถทำได้ทั้งใน Bank และ Non-Bank เช่น 7-11 แต่อย่างไรก็ตาม KYC มีต้นทุนที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการทำเฉลี่ยประมาณ 100 บาทต่อรายการ และมีขั้นตอนในการยืนยันตัวตน
สำหรับข้อดีของการทำ KYC คือ เป็นการสร้างฐานข้อมูลประชากรไทยขนาดใหญ่ ของประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานของการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในอนาคตตามที่พรรคเพื่อไทยออกแบบวางแผนไว้
นอกจากนี้ กฎเกณฑ์หรือข้อตกลงที่ต้องดำเนินการในการใช้เงินดิจิทัลในโครงการนี้ ผู้ได้รับเงินดิจิทัลจะต้องยินยอมและตกลงในเงื่อนไข PDPA และรัฐจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข อย่างไรก็ตามรัฐควรสามารถใช้ฐานข้อมูลในระบบ Data Analytics เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของการใช้จ่ายและนำไปกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป ซึ่งควรถูกรวมไปในข้อตกลงการใช้งานนี้ด้วย
ส่วนแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในโครงการ จะมาจากงบประมาณปี 2567 ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ระหว่างรัฐบาลรักษาการซึ่งการทำงบประมาณปี 2567 ยังไม่สามารถดำเนินได้ ดังนั้นงบประมาณปี 2567 จะถูกจัดทำขึ้นใหม่จึงไม่เป็นที่น่ากังวลในส่วนของงบประมาณ หากแต่การจัดสรรงบประมาณอาจต้องสร้างความสมดุลในการใช้จ่ายเพื่อให้ไม่เกิดการขาดแคลนในโครงการจำเป็นและสำคัญต่างๆ ที่ยังคงมีความจำเป็นต้องได้รับการจัดสรร
หวังเป็นตัวจุดระเบิดเชื่อมสู่นโยบายอื่นๆ
แหล่งข่าว ระบุด้วยว่า โครงการเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทนี้ ถือเป็นนโยบายสำคัญและเป็นพื้นฐานหรือหัวเชื้อในการจุดระเบิด (Starter) ที่จะไปเชื่อมโยงกับนโยบายอื่นๆ เช่น นโยบาย 1 ครัวเรือน 1 Soft Power นโยบายประกันรายได้ขั้นต่ำ 2 หมื่นบาทต่อครัวเรือน เป็นต้น
ส่วนกลไกการกระตุ้นเศรษฐกิจของโครงการนี้ จะช่วยสร้างการเติบโตของรายได้ ประชาชาติ เนื่องจากการใส่เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เมื่อคำนวณ เป็นมูลค่าของเงินที่ใช้ในนโยบายนี้ คือ 5.6 แสนล้านบาท เงินก้อนนี้จะเท่ากับการเพิ่มปริมาณเงินตรงๆ และเงินจำนวนนี้ จะถูกกระจายไปทั่วพื้นที่ในประเทศไทย
เมื่อประชาชนได้รับเงิน ก็จะสามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการบริโภคโดยกำหนดรัศมีการใช้สอย 4 กิโลเมตร ซึ่งหมายความว่า เม็ดเงินที่ประชาชนได้รับ จะถูกบังคับให้ใช้ในภูมิลำเนาของตัวเอง เป็นการกำหนดให้เงินหมุนเวียนในพื้นที่ความเข้มข้นของปริมาณเงินและการหมุนเวียน จะแปรผันตามความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่นั้นๆ ถ้ามีประชากรมาก มีร้านค้ามาก เงินก็จะมีมากและ หมุนเวียนมาก เป็นตามสัดส่วนของประชากรในพื้นที่นั้นๆ โดยไม่ต้องกำหนดนโยบายอื่นใดในการกำกับ ซึ่งเป็นการสร้างการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างมีสัดส่วน
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า เมื่อเกิดการใช้จ่าย ผู้รับเงินหรือร้านค้าได้รับเงินดิจิทัล สามารถใช้เงินที่ได้อย่างน้อย 2 วิธี คือ หากตนเองขึ้นทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็สามารถนำเงินที่ได้รับไปเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ หรืออีกวิธี คือ นำเงินที่ได้ไปซื้อของเข้าร้านเพื่อค้าขายต่อไป หรือแม้แต่นำไปใช้เพื่ออุปโภคบริโภคต่อไป
โดยหากเมื่อผู้รับหรือร้านค้าได้รับเงินดิจิทัลดังกล่าวและยังไม่ครบกำหนด 6 เดือนของโครงการ สามารถนำไปใช้ต่อ ดังนั้นเงินดิจิทัลจะถูกหมุนไปอีก 1 รอบ และหากมีการหมุนต่ออีกหลายๆ รอบ ยิ่งหมุนหลายๆ รอบ เศรษฐกิจก็จะยิ่งเติบโตด้วยเงินก้อนเดียว ดังนั้นหากเงินสามารถหมุนได้ 2 รอบ ขนาดของเงินในระบบเศรษฐกิจจะเท่ากับ 1.12 ล้านล้านบาท ซึ่งถ้า 3 รอบ เงินในระบบก็จะเพิ่มเป็น 1.68 ล้านล้านบาท โดยที่ปริมาณเงินขนาดนี้จะทำให้เศรษฐกิจถูกปลุกขึ้นทันทีและขับเคลื่อนต่อไป
เร่งอุ้มลูกหนี้รหัส 21 จากพิษโควิด
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ยังได้หารือร่วมกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ธนาคารแห่งประเทศไทย หารือเกี่ยวกับการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด จนกลายเป็นหนี้เสียกลุ่มลูกหนี้รหัส 21 ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 5 ล้านราย วงเงินสินเชื่อ 4.3 แสนล้านบาท
แหล่งข่าวจากแบงก์รัฐ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้เรียกแบงก์รัฐรวมถึง ธปท. หารือแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือกลุ่ม "รหัส21" ที่เป็นหนี้เสีย ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โควิดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องเร่งให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เนื่องจากกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ก่อนหน้าเป็นลูกหนี้ปกติ และไม่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้ หรือเป็นหนี้เสีย แต่จากสถานการณ์โควิด ทำให้กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบ และไม่สามารถชำระหนี้ได้
ดังนั้นเบื้องต้น พรรคเพื่อไทย มีแนวทางในการช่วยเหลือกลุ่มนี้ โดยอาศัยความร่วมมือจากแบงก์รัฐ แบงก์พาณิชย์ และ ธปท. เพื่อผ่อนปรนการชำระหนี้ และออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มนี้เป็นการเฉพาะ
อุ้มลูกหนี้ 5 ล้านบัญชี 4.3 แสนล้านบาท
โดยเฉพาะลูกหนี้ในกลุ่มบุคคลธรรมดา และลูกหนี้ เอสเอ็มอี ที่เป็นหนี้เสียจากโควิด-19 โดย สิ้นเดือน มิ.ย. 2566 บุคคลธรรมดา ที่อยู่ในกลุ่มรหัส 21 มีทั้งสิ้น 4.9 ล้านบัญชี คิดเป็นสินเชื่อรวมที่ราว 3.7 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นลูกหนี้ราว 3.4 ล้านคน โดยกลุ่มลูกหนี้บุคคลธรรมดา ในกลุ่มนี้ พบว่า เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบไตรมาสแรกที่ผ่านมา ที่เป็นหนี้เสียเพียง 4.4 ล้านบัญชี วงเงินสินเชื่อ 3.1 แสนล้านบาท และมีจำนวนคน 3.1 ล้านคน สะท้อนความสามารถชำระหนี้รายย่อย และเอสเอ็มอี ที่ยังไม่ปรับตัวดีขึ้นจากผลกระทบโควิด-19
นอกจากนี้ หากดูกลุ่มลูกหนี้เอสเอ็มอี ที่อยู่ในกลุ่มรหัส 21 เป็นหนี้เสียอยู่ทั้งสิ้น 23,086 บัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 6.1หมื่นล้านบาท หรือจำนวนเอสเอ็มอีที่ 12,898 เอสเอ็มอี ซึ่งหากรวมทั้งสองกลุ่ม พบว่า มีจำนวนลูกหนี้ รหัส 21 ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือทั้งสิ้นเกือบ 5 ล้านบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อที่ รวม 4.31 แสนล้านบาท
ชงพักหนี้ช่วย 'รายย่อย-เอสเอ็มอี'
ทั้งนี้ แนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มรหัส 21 เบื้องต้น จะเป็นมาตรการ "พักหนี้" หรือบางกลุ่ม อาจผ่อนชำระหนี้ในอัตราต่ำ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังไม่ฟื้นตัว ให้มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินชีวิตและธุรกิจ ในช่วงที่รายได้และธุรกิจยัง ไม่กลับมาเป็นปกติ
อย่างไรก็ตาม ในการหารือดังกล่าว จะมีการเสนอให้หยุดส่งข้อมูลลูกหนี้กลุ่มรหัส 21 (ปิดนิยามรหัสลูกหนี้ 21) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2567 เพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้ มีความชัดเจน ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และป้องกันลูกหนี้ ที่จงใจผิดนัดชำระหนี้และจงใจเป็นหนี้เสีย เพื่อขอเข้าสู่มาตรการช่วยเหลือครั้งนี้
"เบื้องต้น ต้องประกาศ หยุดรหัส 21 นี้ ทันทีเมื่อสิ้นปี 66 เพื่อให้ได้กลุ่มลูกหนี้ที่ชัดเจน ในการเข้าไปช่วยเหลือ แปลว่าหากเป็นหนี้ ม.ค. 67 เป็นต้นไป ลูกหนี้เหล่านี้จะเป็นลูกหนี้ปกติ ในรหัส 20 ไม่งั้นก็จะมีลูกหนี้ใหม่ๆ ที่จงใจเบี้ยวหนี้ หรือลูกหนี้ผี เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ดังนั้นต้องทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพื่อแยกแยะกลุ่มที่ต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน"
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you