ช่วงเวลาที่เหลือไม่ถึง 5 เดือนปีนี้ "ตลาดหุ้นญี่ปุ่น" มาแรงไม่หยุด แต่จากความไม่แน่นอนของมหาอำนาจโลก ยิ่งทำให้นักลงทุนมองหาตลาดที่มีเสถียรภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น “ตลาดหุ้นญี่ปุ่น”จึงเป็นตัวเลือกหลักของนักลงทุนทั่วโลกในช่วงเวลานี้
Key Points:
ไตรมาส 2 เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตดี BOJ ปรับท่าที เน้นลดเสี่ยง เศรษฐกิจไปต่อ
"ตลาดหุ้นญี่ปุ่น" มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและเงินเยนมีเสถียรภาพมากขึ้น
"หุ้นกลุ่มธนาคาร" ได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น และหากเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตต่อเนื่อง ผลประกอบการของบริษัทในญี่ปุ่น เติบโตดีตามไปด้วย
บริษัทจดทะเบียนของญี่ปุ่น มีเงินสดมากกว่าหนี้สิน ยิ่งทำให้ ROE ดียิ่งขึ้น
นักลงทุนยังต้องคอยทำการบ้านตรวจพอร์ตอย่างสม่ำเสมอ
แต่หลายคนอาจสงสัย"ตลาดหุ้นญี่ปุ่น"จะเพิ่งทำสถิติสูงสุดรอบ 33 ปีไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา จะยังดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกได้อีกหรือไม่
"ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์" CEO Jitta Wealth ชี้ให้เห็นว่า " เพราะญี่ปุ่นเริ่มมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญๆ เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง และมองว่าเป็นทิศทางที่ดีในระยะข้างหน้า"
ไตรมาส 2 เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตดี BOJ ปรับท่าที เน้นลดเสี่ยง เศรษฐกิจไปต่อ
ไตรมาส 2 เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัว 3.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งต่อเนื่องติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 หลังจากที่ไตรมาสแรกปีนี้ GDP โต 2.7% บ่งชี้สัญญาณเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังขับเคลื่อนไปข้างหน้า แม้ว่าปีนี้ ญี่ปุ่นจะคาดการณ์ GDP ทั้งปีเติบโต 1.3% และเงินเฟ้อคาดจะสูงขึ้น 2.66% สูงกว่ากรอบเป้าหมาย 2%
ตอกย้ำด้วยความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รอบประชุมล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้แสดงความกล้าประกาศผ่อนคลายการควบคุมอัตราดอกเบี้ย โดย BOJ ได้เริ่มปรับเปลี่ยนมาตรการกระตุ้นทางการเงินที่ทำมาอย่างยาวนาน ด้วยการปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างอิสระมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ BOJ ได้ปรับนโยบายการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือมาตรการ Yield Curve Control (YCC) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและคลายการป้องกันอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในระยะยาว โดย BOJ จะเสนอซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีที่ 1.0% ในอัตราคงที่ แทนที่จะเป็นอัตราเดิมที่ 0.5%
นับป็นการส่งสัญญาณว่า ขณะนี้เพดานการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทน 10 ปี ขยายมากถึง 1.0% แล้ว ซึ่งการปรับแผนนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ตอบสนองต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเช่น แรงกดดันด้านราคาหรืออัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ในขณะที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษที่ -0.1% และเน้นการสนับสนุนเศรษฐกิจ
> ตลาดมองว่า การดำเนินการของ BOJ สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น กับความจำเป็นในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่งเกิดขึ้น โดย BOJ มีเป้าหมายเพื่อลดการบิดเบือนของราคาพันธบัตรและให้กลไกตลาดมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปัจจัยบวกดันตลาดหุ้นญี่ปุ่นไปต่อ แม้จะเพิ่งทำนิวไฮรอบ 33 ปี
แน่นอนว่า ความเคลื่อนไหวนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางการตลาดที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา โดยผลตอบแทนพันธบัตรของญี่ปุ่นแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น และหุ้นธนาคารพาณิชย์ของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี
ผลกระทบของการปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าวต่อตลาดหุ้น แน่นอนว่า ในระยะสั้นอาจมีความผันผวนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มขึ้น จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น กดดันกำไรบริษัทญี่ปุ่นในบางส่วน
ประกอบกับเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าได้น้อยลง อาจจะไปกดดันความสามารถด้านการแข่งขันผลกำไรหรือขาดทุนจากค่าเงินของบริษัทได้ แต่ถ้ามองในระยะข้างหน้า
> "ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็มีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและเงินเยนมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งหุ้นในกลุ่มธนาคารที่จะได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น และหากเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตต่อเนื่อง ผลประกอบการของบริษัทในญี่ปุ่น ย่อมเติบโตดีตามไปด้วย"
อีกทั้ง การตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายของ BOJ ในครั้งนี้ อาจทำให้คุณเปลี่ยนภาพจำที่เคยคิดว่า ญี่ปุ่นไม่โตหรืออิ่มตัวแล้ว มาเป็นตลาดที่คึกคักและน่าจับตามองก็ได้
สำหรับปัจจัยบวกที่สนับสนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นเติบโตในระยะข้างหน้า ได้แก่ การฟื้นตัวของผลประกอบการบริษัท หรือกำไร (Earning) ของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากโมเมนตัมเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสสองที่ผ่านมา และยังมีแรงส่งจากการเปิดประเทศและค่าเงินเยนที่ไม่แข็งมากนักมีความผันผวนต่ำ
> ขณะที่บริษัทจดทะเบียนของญี่ปุ่น ส่วนใหญ่มีเงินสดมากกว่าหนี้สิน ทำให้มีแนวโน้มจะเห็นการเข้ามาซื้อหุ้นคืนของบริษัทเหล่านี้ ซึ่งจะยิ่งทำให้ ROE ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ญี่ปุ่นจะมีการเปิดประชุมสภารอบพิเศษในราวเดือนกันยายนหรือตุลาคมนี้ ซึ่งคาดจะประกาศยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น จึงคาดว่า ในการประชุมของ BOJ จะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในช่วงปีนี้
อีกหนึ่งแรงหนุนสำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่น คือ การที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะเริ่มโครงการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีสำหรับชาวญี่ปุ่นในปี 2567 อาจทำให้เงินลงทุนเพิ่มจาก 14 ล้านเยนต่อคนเป็น 18 ล้านเยนต่อคน ถือเป็นปัจจัยบวกในระยะยาวที่จะสนับสนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นและดัชนี TOPIX ยังมี Upside ได้อีก ขณะเดียวกันยังมีแผนการปฏิรูปตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้เน้นเรื่องธรรมาภิบาลมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้หุ้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเป็นผลดีในระยะยาว
หากคุณอ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยิ่งมีเสน่ห์น่าลงทุนในระยะยาวอยู่ใช่ไหม
กองทุนบำเหน็จบำนาญญี่ปุ่น ทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ตอนนี้จะพามาดูฝั่งดีมานด์หรือนักลงทุนว่า ต่างหลงเสน่ห์ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกันขนาดไหน
เมื่อเร็วๆ นี้ นักลงทุนสถาบันรายใหญ่อย่างกองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐบาลญี่ปุ่น (GPIF) โชว์ผลงานในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ด้วยกำไรที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 18.98 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 133,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผลตอบแทนส่วนใหญ่มาจากการลงทุนหุ้นในประเทศและพันธบัตรต่างประเทศ โดยในระหว่างไตรมาส มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุน GPIF นี้ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 9.5% สู่ระดับ 219.17 ล้านล้านเยน หุ้นในประเทศเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดโดยเพิ่มขึ้น 14.4% เนื่องจากสัญญาณของอัตราเงินเฟ้อเริ่มทรงตัว
และเมื่อต้นปีนี้ กระแสโลกโฟกัสไปที่นักลงทุนระดับตำนานของโลกอย่าง ‘Warren Buffett’ ที่ได้เพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเชื่อมั่นในการเติบโตของบริษัทญี่ปุ่น ตอกย้ำถึงหลักการลงทุนระยะยาวที่ได้วางแผนเอาไว้ในหุ้นญี่ปุ่นอย่างชัดเจน
ตามมาด้วยเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติ หลั่งไหลเข้าลงทุนหุ้นญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นแนวโน้มการเติบโตและโอกาสการลงทุนที่มากขึ้น ผลักดันให้ดัชนี TOPIX สูงสุดในรอบ 33 ปีในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้
> ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ดัชนีหุ้นทั่วโลกของดัชนี MSCI เพิ่มขึ้น 5.6% ในขณะที่ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 8.3% และดัชนีหุ้นญี่ปุ่น TOPIX เพิ่มขึ้น 14% ผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 0.37% และพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 0.075% ค่าเงินเยนยังคงลดลงเป็นอัตราใกล้เคียง 8% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
การปรับตัวขึ้นของตลาดญี่ปุ่นในปี 2566 จะเป็นข้อพิสูจน์ที่ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ญี่ปุ่นยังมีดีที่จะเป็นหนึ่งในประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก
วันนี้ "ตลาดหุ้นญี่ปุ่น" เป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่รอคุณอยู่ ถ้าคุณมองเห็นเสน่ห์ ความลุ่มลึกการบริหารนโยบายการเงินของ BOJ ที่ต้องการปรับสมดุลด้านผลตอบแทนพันธบัตรให้กลับสู่ภาวะปกติเมื่อเทียบกับตลาดโลก และยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตภายใต้ดอกเบี้ยต่ำ ค่อยๆ ให้ภาคธุรกิจปรับตัว และยังสามารถสร้างผลประกอบการให้เติบโตต่อไปได้ ภาพใหม่ในวันนี้ ญี่ปุ่นไม่ได้เป็นตลาดที่หยุดเติบโตอย่างที่หลายคนพูดกันในอดีตแล้ว
นักวิเคราะห์คาดตลาดหุ้นญี่ปุ่นอาจโตแซงช่วง ‘ฟองสบู่’
ส่วนที่ว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นขึ้นมาเยอะแล้วจะไม่มีความเสี่ยงจริงหรือ "ตราวุทธิ์" กล่ววว่า ส่วนตัวก็ไม่สามารถบอกได้ว่าข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ยอมรับว่า ปีนี้เป็นปีที่เหนือคาดสำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่นจริงๆ
ความเสี่ยงมีไหม เราลองมาดูกัน
เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2566 ดัชนี Nikkei 225 ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 30,000 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 33 ปี แต่ยังคงต่ำกว่าระดับสูงสุดตลอดการที่ 38,915 จุด เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2532 ก่อนจะเกิดวิกฤตฟองสบู่ช่วงเวลานั้น แต่ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปัจจุบัน ยังคงห่างไกลความเสี่ยงที่จะเกิดฟองสบู่อย่างในอดีต
> นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ปัจจุบัน ราคาอสังหาริมทรัพย์ในโตเกียวพุ่งสูงขึ้น ไม่ใช่ปรากฏการณ์ทั่วประเทศ แต่เห็นได้ในบางพื้นที่ในโตเกียวเท่านั้น และเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบหลายทศวรรษเกิดจากต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นจากเงินเยนที่อ่อนค่า และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูง ซึ่งไม่สามารถเรียกว่าภาวะฟองสบู่ได้
และหลังจากการระบาดของ Covid-19 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง การปรับตัวทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2558 มีบริษัทที่มีศักยภาพเติบโตสูง และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่แข็งแกร่ง ทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาสนใจตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น ยิ่งเงินเยนอ่อนค่า ‘นักลงทุนต่างชาติ’ ยิ่งตาเป็นมัน เพราะจะทำให้ต้นทุนการเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นถูกลง และช่วยดันตลาดให้โตอย่างแข็งแกร่งได้อย่างชัดเจน
แต่ที่ละสายตาไม่ได้คือนโยบายทางการเงินของ BOJ และทิศทางค่าเงินเยนที่ยังคงเป็นเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดทิศทางของตลาดหุ้นญี่ปุ่น แต่หากญี่ปุ่นสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อได้อย่างยั่งยืน อาจจะทำให้ญี่ปุ่นยืนกลับมาเป็นคู่แข่งกับจีนได้อีกครั้งในรอบทศวรรษ นี่ก็เป็นอีกเป้าหมายระยะยาวที่ต้องดูกันไป
ท้ายสุดแล้ว ธรรมชาติของตลาดหุ้นย่อมมีปัจจัยรอบด้าน คอยสร้างความผันผวนอยู่แล้ว "ตราวุทธิ์" ย้ำว่า
> นักลงทุนยังต้องคอยทำการบ้านตรวจพอร์ตอย่างสม่ำเสมอ
หากเกิดสถานการณ์ตลาดผันผวน นักลงทุนต้องไปดูตัวเลขต่างๆ ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือธุรกิจนั้นๆ ยังสามารถดำเนินการได้อย่างแข็งแกร่งอยู่หรือไม่
เพราะตัวเลขนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ยืนยันว่า แม้ราคาหุ้นจะปรับลงมาบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าพื้นฐานธุรกิจจะมีแนวโน้มแย่ลงตามราคาหรือหากเกิดในทางตรงกันข้าม จะได้รับมือได้ถูกในสถานการณ์ลงทุนใดๆ ก็ตาม หากคุณมีความเข้าใจในตลาดมากเท่าไร จะช่วยให้คุณลงทุนได้อย่างมีสติ และช่วยให้จิตใจของคุณแข็งแกร่งบนเส้นทางการลงทุนระยะยาวนี้ นี่คือเสน่ห์ของการลงทุนระยะยาว
Source - กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you