ทุนใหม่ดิ้นหนี"เมียนมา"ผวาสหรัฐคว่ำบาตรรอบใหม่

ทุนไทยจับตา “สหรัฐ” เพิ่มมาตรการคว่ำบาตร 2 แบงก์ของเมียนมา ทำให้บริษัทต่างชาติทำธุรกรรมการเงินยากขึ้น ห่วงลามถึงธนาคารไทย บริษัทขนาดกลาง-เล็กแห่ขนเงินออก บริษัทใหญ่ยังปักหลักต่อ แต่พับแผนลงทุนใหม่ “ทูตพาณิชย์” เผย ธนาคารใหญ่ของเมียนมา 3 แห่ง ยังไม่มีรายชื่อคว่ำบาตร

Key Points
- สหรัฐเตรียมออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมกับธนาคารของเมียน 2 แห่ง ภายในสัปดาห์นี้
- การคว่ำบาตรเพิ่มเติมจะทำให้บริษัทต่างชาติทำธุกรรมการเงินยากลำบากมากขึ้น
- บริษัทไทยในเมียนมาได้วางแผนรับมือ โดยบริษัทขนาดกลางและเล็กเริ่มโอนเงินออกตั้งแต่รัฐประหาร
- มีความกังวลว่าถ้าสหรัฐยกระดับการคว่ำบาตรอีกอาจครอบคลุมถึงธนาคารพาณิชย์ต่างชาติรวมถึงธนาคารไทย
สหรัฐกำลังที่จะยกระดับการคว่ำบาตรเมียนมาขึ้น หลังจากที่ผ่านมาหลายชาติออกมาตรการคว่ำบาตรมาต่อเนื่องนับตั้งแต่มีรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 โดยล่าสุดในเดือน มิ.ย.2566 สหรัฐมีแผนที่จะคว่ำบาตรธนาคารการค้าต่างประเทศเมียนมา (Myanmar Foreign Trade Bank) และธนาคารลงทุนและพาณิชย์เมียนมา (Myanmar Investment and Commercial Bank)
การคว่ำบาตรดังกล่าวเป็นการจำกัดการเข้าถึงการเงินของรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลลดความสามารถในการปราบปรามประชาชนและทำสงครามในประเทศ
ในช่วงที่ผ่านมาภาคธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในเมียนมาได้มีการปรับแผนธุรกิจภายหลังการเกิดรัฐประหาร เนื่องจากการทำธุรกิจมีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ในช่วงเปิดประเทศหลังการปฏิรูปประเทศเมื่อปี 2551 ได้มีการแก้ไขกฎหมายการลงทุนและทำให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปเมียนมาจำนวนมาก
ที่ผ่านมาบริษัทไทยทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอีเข้าไปลงทุนในเมียนมา โดยรายใหญ่ที่เข้าไปลงทุน เช่น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.เข้าไปลงทุนสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติ , SCG ลงทุนธุรกิจขายวัสดุก่อสร้างและโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ , เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ลงทุนธุรกิจอาหาร
นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวาย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ในเครือบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การที่สหรัฐจะออกมาตรการคว่ำบาตรเมียนมารอบใหม่ โดยพุ่งเป้าที่ Myanmar Foreign Trade Bank และ Myanmar Investment and Commercial Bank ซึ่งมองว่ามีความเป็นไปได้เพราะสหรัฐพยายามยกระดับการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมา จากเดิมที่คว่ำบาตรธนาคารกลางเมียนมา ซึ่งดำเนินการตามหลักการคว่ำบาตรทั่วไปที่ธนาคารกลางชาติจะถูกคว่ำบาตรก่อนเพื่อเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจที่ใช้กดดันก่อนยกระดับคว่ำบาตรเพิ่ม
ทั้งนี้ หากมีการแทรกแซงธนาคาร 2 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนของเมียนมา จะมีเป้าหมายให้การทำธุรกรรมของคู่ค้าทำได้ยากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการนำเข้า การส่งออกและการลงทุน โดยบริษัทต่างชาติจะทำธุกรรมทางตรงและทางอ้อมยากขึ้น โดยจะกระทบเอกชนไทยที่นำเข้า ส่งออก และลงทุน ซึ่งมีหลายประเทศเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมาจะได้รับผลกระทบ เช่น สิงคโปร์ จีน ไทย อินเดีย
ห่วงธนาคารไทยโดนด้วย
นอกจากนี้ ต้องจับตาว่าการเข้ามาแทรกแซงภาคธนาคารครั้งนี้ จะนำไปสู่ผลกระทบถึงธนาคารไทยที่เข้าไปตั้งสำนักงานในเมียนมา เพื่อรองรับการทำธุกรรมของบริษัทไทยหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายธนาคารของไทยเปิดสาขาหรือได้ใบอนุญาตทำธุรกรรมการเงินในเมียนมา
“การแทรกแซงธนาคารที่เกี่ยวกับการค้าต่างประเทศและการลงทุน เป็นการยกระดับการคว่ำบาตรจากเดิมที่คว่ำบาตรธนาคารกลางอย่าเดียว เรียกว่าปิดทุกรูหายใจของรัฐบาลเมียนมาให้ภายนอกทำธุรกรรมกับเมียนมายากมากขึ้น"
รวมทั้งภาคธนาคารถือเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจโดยตรง โดยหากภาคการเงินถูกคว่ำบาตรหมดอาจส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย การกำหนดสัดส่วนการลงทุนจากต่างประเทศ การกำหนดสัดส่วนการใช้เงินสกุลในท้องถิ่นในประเทศ หรือการกำหนดให้ใช้สกุลเงินต่างประเทศในการทำธุรกรรม
สำหรับกรณีที่นายดอน ปรมัติวินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จัดประชุมประเทศในอาเซียนและนอกอาเซียนเพื่อหารือประเด็นเมียนมา ซึ่งเข้าใจถึงความเร่งด่วนที่รัฐบาลปัจจุบันที่ต้องเร่งหาทางแก้ไข เพราะมีประเด็นที่ไทยได้รับผลกระทบมาก โดเฉพาะการสู้รบชายแดน การอพยพข้ามชายแดนของชนกลุ่มน้อย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องที่รัฐบาลปัจจุบันต้องแก้ปัญหา ขณะที่รัฐบาลต่อไปก็ต้องเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหานี้เช่นกัน
3 ธนาคารใหญ่ยังไม่มีชื่อคว่ำบาตร
นายธนวุฒิ นัยโกวิท ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา กล่าวว่า ถึงแม้ว่าสหรัฐจะมีแผนคว่ำบาตรธนาคารเมียนมา 2 แห่งแต่ธนาคารใหญ่ในเมียนมายังเปิดทำธุรกรรมทางการเงินเป็นปกติ เช่น ธนาคาร KBZ ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ใหญ่สุดของเมียนมา รวมถึงธนาคาร CB และธนาคาร AYA ซึ่ง 3 ธนาคารใหญ่นี้ยังไม่ถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐ และยังไม่กระทบจากมาตรการแซงชั่นของสหรัฐนัก แต่ถือเป็นสัญญาณเตือนเท่านั้นไม่ได้มีเป้าหมายที่จะเป็นแรงกระเพื่อมใหญ่ในตลาดการเงิน เพียงแต่เป็นแรงกดดันต่อธนาคารที่สหรัฐมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้านการเงินของรัฐบาลทหารเมียนมา
“การคว่ำบาตรธนาคารไม่ใช่รอบแรก เกิดมาตั้งแต่สถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งนักธุรกิจ นักลงทุนไทย และต่างประเทศทราบถึงข้อจำกัดด้านธุรกรรมการเงินและความเสี่ยง จึงมีความพร้อมและปรับตัวได้พอสมควร”นายธนวุฒิ กล่าว
นอกจากนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เงินจ๊าดอ่อนค่าลง 3-5 % แต่ธนาคารกลางเมียนมาประกาศปรับอัตราอ้างอิงระหว่างเงินจ๊าดและเงินดอลลาร์ เพื่อไม่ให้มีการลอยตัวค่าเงิน โดยยึดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 2,100 จ๊าดต่อ 1 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นอัตราสำหรับการทำธุรกรรมการเงิน อย่างไรก็ตามเมียนมาจะมีตลาดการเงินรอง โดยล่าสุดอัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าดต่อดอลลาร์ขยับขึ้นเป็น 2,960 จ๊าดต่อ 1 ดอลลาร์ เพิ่มจากเดิม 2,800 ต่อดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 3-5 % และร้านแลกเปลี่ยนเงินในเมียนมาขณะนี้ประกาศหยุดแลกเปลี่ยนเงินชั่วคราว
บริษัทขนาดกลางทยอยขนเงินออก
แหล่งข่าวจากนักลงทุนไทยในเมียนมา กล่าวว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ.2564 ทำให้บริษัทไทยในเมียนมาได้ปรับแผนธุรกิจ โดยเฉพาะในการทำธุรกรรมทางการเงินที่แบ่งได้ 2 ระดับ คือ
1.บริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่เข้ามาลงทุนในเมียนมานานและมีวงเงินสูงทำให้ต้องเดินหน้าโอเปอเรทธุรกิจต่อ ส่วนการลงทุนใหม่ได้ชะลอไว้ ในขณะที่การทำธุรกิจกรรมทางการเงินยังดำเนินการผ่านสถาบันการเงิน
2.บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก เช่น ธุรกิจนำเข้าส่งออก ธุรกิจโลจิสติกส์ บางส่วนยังคงสถานะบริษัทในเมียนมาไว้ แต่มีการถอนเงินกลับไทย โดยการจำกัดการโอนเงินผ่านธนาคารทำให้ต้องโอนเงินนอกระบบธนาคาร เช่น โพยก๊วน
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาของบริษัทประเทศอื่น พบว่ามีบริษัทสัญชาติสิงคโปร์บางแห่งใช้วิธีการโอนเงินผ่านบริษัทตัวแทนที่ไม่ได้จดทะเบียนในสิงคโปร์ หลังจากนั้นจึงโอนเงินจากบริษัทตัวแทนไปที่สิงคโปร์
แหล่งข่าว กล่าวว่า มาตรการคว่ำบาตรที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้บริษัทต่างชาติหลายรายพิจารณาถอนการลงทุนจากเมียนมา เช่น ญี่ปุ่น โดยการถอนการลงทุนที่ส่งผลต่อบริษัทไทย คือ กรณีที่บริษัท Mitsui Oil Exploration Company Limited (MOECO) ผู้ร่วมทุนในโครงการเมียนมาเอ็ม 3 ในสัดส่วน 20% ร่วมกับ ปตท.สผ.ในสัดส่วน 80% ได้ยุติการลงทุนตามสัญญาร่วมทุน
ทั้งนี้ ปตท.สผ.ยังคงเดินหน้าโครงการต่อทำให้ ปตท.สผ.มีสัดส่วนการลงทุนเพิ่มเป็น 100% และได้รับอนุมัติโครงการจากรัฐบาลเมียนมาไปแล้วเมื่อเดือน พ.ย.2565
“การลงทุนของกลุ่ม ปตท.เป็นการลงทุนในลักษณะรัฐต่อรัฐ (G to G) ซึ่งอาจทำให้จำเป็นต้องมีการเจรจาของภาครัฐ 2 ฝ่าย เมื่อมีปัญหาที่อาจกระทบการลงทุน รวมทั้งบริษัทขนาดใหญ่ของไทยหลายแห่งคงเตรียมแผนไว้แล้วหากมีการคว่ำบาตรเพิ่ม เพราะช่วงที่ผ่านมาได้ลงทุนเป็นวงเงินสูง” แหล่งข่าว กล่าว
สหรัฐหวังตัดท่อน้ำเลี้ยงเมียนมา
สำนักข่าวรอยเตอร์ตรวจสอบแหล่งข่าววงใน 2 รายถึงรายงานข่าวที่กรุงเทพธุรกิจรายงานก่อนหน้านี้ว่าสหรัฐจะออกมาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมารอบใหม่พุ่งเป้าไปที่ธนาคาร 2 แห่ง เร็วสุดวันพุธ (21 มิ.ย.) เพื่อจำกัดการเข้าถึงการเงินของรัฐบาลทหารเมียนมา
แหล่งข่าวยืนยันกับรอยเตอร์ว่า รายงานข่าวดังกล่าวถูกต้อง ขณะเดียวกันสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยแถลงว่า สหรัฐ "เดินหน้าหาทางทำให้ผู้ที่ทำรัฐประหารและความรุนแรงที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ เช่น พยายามตัดท่อน้ำเลี้ยงของรัฐบาลทหาร
เป้าหมายที่ต้องทำสิ่งเหล่านี้คือเพื่อสกัดรัฐบาลไม่ให้เข้าถึงเงินดอลลาร์และทำให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบในฐานะที่ยังกระทำความรุนแรงน่าสะพึงกลัวอย่างต่อเนื่อง"
ที่ผ่านมาสหรัฐและชาติตะวันตกคว่ำบาตรผู้นำทหารเมียนมาไปแล้วหลายรอบ นับตั้งแต่รัฐประหารเดือน ก.พ.2564 โค่นรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งนำโดยนางอองซาน ซูจี และสังหารผู้ต่อต้านหลายพันคน
ด้านนายจ่อ มินทุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาเผยกับสถานีโทรทัศน์เอ็มดับเบิลยูดีของรัฐบาล เมื่อค่ำวันอังคาร (20 มิ.ย.) ว่า ไม่กังวลหากโดนคว่ำบาตรรอบใหม่ เพราะเคยโดนมาแล้วหลายรอบ ถ้ารอบนี้ทำกับธนาคารของรัฐก็จะไม่เสียหาย
การที่สหรัฐทำแบบนี้ “ก็แค่สร้างความยุ่งยากให้กับเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้เกิดความล่าช้าโดยไม่จำเป็น ขณะที่เราเดินหน้าสู่ระบบประชาธิปไตยหลายพรรค” โฆษกรัฐบาลเมียนมา กล่าว
ขณะที่สถานทูตสหรัฐกล่าวด้วยว่า ได้คุยกับรัฐบาลไทยเรื่องเมียนมาเสมอ รวมถึงวิธี “ลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรที่จะมีต่อประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ”
ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ (19 มิ.ย.) รัฐบาลรักษาการของไทยจัดหารือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในเมียนมาเป้าหมายเพื่อกลับไปข้องเกี่ยวกับทหารเมียนมาอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องหารือเพื่อพิทักษ์พรมแดนไทย-เมียนมา แม้ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศจากเพื่อนบ้านอาเซียนประเทศสำคัญไม่ร่วมประชุม
นักวิจารณ์กล่าวว่า การหารือที่พัฒนาบั่นทอนแนวทางการแก้วิกฤติเมียนมาของอาเซียน ซึ่งยึดแผนสันติภาพที่คณะทหารเมียนมาเห็นชอบด้วยเมื่อ 2 ปีก่อน แต่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยรัฐประหารในปี 2557 กล่าวว่า จำเป็นต้องเจรจากันโดยตรงเพื่อปกป้องประเทศไทย
คาดจีนอยู่เบื้องหลังจัดประชุม
แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียนรายหนึ่งเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่าการที่รัฐบาลไทยจัดประชุมโดยอ้างว่าเพื่อรับมือการถูกคว่ำบาตรเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น
“ถ้ากลัวคว่ำบาตร ต้องไปคุยกับสิงคโปร์เขามีธุรกิจในเมียนมามากกว่าไทยอีก การที่เราไปชักชวนเมียนมามานี่ กลายเป็นผู้สนับสนุนจะโดนคว่ำบาตรไปด้วย” แหล่งข่าวรายนี้มองว่า การจัดประชุมของไทยทั้งๆ ที่คาดการณ์ได้ว่าจะถูกวิจารณ์หนัก เป็นรูปแบบของ “การสร้างวงประชุมใหม่สำหรับพวก like-minded เป็นความริเริ่มและผลักดันของจีนที่ใช้ไทยออกหน้า” การกระทำดังกล่าวสร้างความแตกแยกให้กับอาเซียน ทำให้นางเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนโกรธมาก
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

คลิก

Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"