เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ในหลายประเทศต่างประกาศนโยบายการเงินที่แตกต่างกันออกไป โดยมีทั้งการขึ้น ลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการคงดอกเบี้ยในรูปแบบที่ยังส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะยังขึ้นต่ออีกได้
ธนาคารกลางยุโรปปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา พร้อมกันนั้นยังสร้างความตกใจให้กับตลาดด้วยการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงย่ำแย่ในอนาคต ส่งผลให้นักลงทุนยิ่งเพิ่มความคาดหวังสำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปมากยิ่งขึ้น
นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปนั้นมีขึ้นหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในช่วง 5-5.25% ในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเช่นกัน และก่อนหน้านั้น ธนาคารกลางจีนก็ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปี ลง 0.10% สู่ระดับ 2.65% จากระดับ 2.75% เพื่อเป็นกากระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นนั้นก็ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบผ่อนคลายไว้อยู่ในแดนลบ แม้ว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าเป้าหมายก็ตาม
Carsten Brezeski หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์มหภาคจาก ING ที่เยอรมนีกล่าวกับซีเอ็นบีซีผ่านอีเมล ว่า นโยบายการเงินในหลาย ๆ รูปแบบที่เกิดขึ้นนั้นชี้ให้เห็นว่าเริ่มมีแนวทางนโยบายการเงินที่แตกต่างกันออกไปสำหรับการรับมือเศรษฐกิจของธนาคารกลางหลายประเทศ และยังมีวัฏจักรดอกเบี้ยที่ไม่เหมือนกัน
อัตราเงินเฟ้อในสหภาพยุโรปเริ่มเห็นการอ่อนตัวลง แม้จะยังคงสูงกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรปก็ตาม ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสหราชอาณาจักรที่ตลาดมองว่าธนาคารกลางอังกฤษจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกรอบในการประชุมวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้หลังข้อมูลตัวเลขชี้ให้เห็นว่าตลาดแรงงานนั้นยังคงร้อนแรงอยู่
ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐที่เริ่มวัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนธนาคารกลางยุโรปตัดสินใจพักการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ยังส่งสัญญาณว่าจะมีการขึ้นอีกสองครั้งภายในปีนี้ ซึ่งหมายความว่าถึงแม้จะมีการหยุดการขึ้นดอกเบี้ยไป แต่วัฏจักรขาขึ้นนั้นยังไม่สิ้นสุด
เมื่อมองมายังประเทศในเอเชีย จะเห็นว่าเริ่มมีนโยบายที่แตกต่างกันออกไปจากชาติตะวันตก โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนเห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มจะช้าลง รวมไปถึงอุปสงค์ทั้งจากในประเทศและนอกประเทศที่ลดลง ส่งผลให้ผู้กำกับนโยบายการเงินต้องใช้มาตรการส่งเสริมเพื่อดึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับมา รวมถึงการหั่นดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น และกลางด้วย
ในส่วนของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญกับสภาวะเงินฝืดมานานหลายปีก็ออกมาคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงในปีนี้ โดยที่ยังจะไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินใด ๆ ในตอนนี้
หลังจากที่มีการประกาศนโยบายการเงินออกมาก็เกิดการตอบรับในตลาดทุนที่ต่างกันออกไป โดยค่าเงินยูโรแข็งค่าสู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปีเมื่อเทียบกับเงินเยนญี่ปุ่น และยังฝ่าแนวต้านที่ 1.09 ดอลลาร์สหรัฐไปได้ ในขณะเดียวกัน ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในเยอรมนีอายุ 2 ปี ก็ปรับตัวแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน โดยมีความหวังว่าธนาคารกลางยุโรปจะยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป
ทั้งนี้ นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปกล่าวในการประชุม เมื่อถูกถามถึงการตัดสินใจของธนาคารกลางยุโรปเมื่อเทียบกับเฟดที่ตัดสินใจหยุดการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนนี้ โดยลาการ์ดระบุว่า ธนาคารกลางยุโรปนั้นไม่มีความคิดที่จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ย และขณะนี้ยังดำเนินมาไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่มองไว้ ก่อนจะส่งสัญญาณว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อยหนึ่งครั้งในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้
ด้านนักเศรษฐศาสตร์จากบางสำนักมองว่าอีกไม่นานธนาคารกลางยุโรปก็จะเข้าไปอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับที่เฟดเคยประสบ โดยชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั้นนำหน้ายุโรปอยู่ราว ๆ หนึ่งไตรมาส และจะใช้เวลาถึงราวเดือนกันยายนก่อนที่ธนาคารกลางยุโรปจะเริ่มพิจารณาหยุดขึ้นดอกเบี้ย
Source: ข่าวหุ้น
เพิ่มเติม
- Rate cuts, hikes and pauses: The world’s central banks just made very different decisions :
Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you