อังกฤษ ส่งออกหด 16 เดือนติด Brexit ทำสูญเสียลูกค้า บั่นทอนความสามารถในการแข่งขัน

ตัวเลขส่งออกของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16 ส่วนกิจกรรมภาคการผลิตหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ทั้งภาคธุรกิจ นักเศรษฐศาสตร์ ไปจนถึงอดีตรัฐมนตรีคลังของสหรัฐ ล้วนชี้ไปที่ Brexit หรือการออกจากสหภาพยุโรปว่าเป็นต้นเหตุให้อังกฤษสูญเสียลูกค้า

และบั่นทอนความสามารถในการแข่งขัน
ก่อนหน้านี้ มีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากการที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) มาให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องออกของสหราชอาณาจักร (เรียกแบบที่คนไทยคุ้นปากว่าอังกฤษ) และล่าสุดก็มีข้อมูลเรื่องนี้อีกแล้ว
สำนักข่าว The Guardian รายงานเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ว่า การส่งออกของอังกฤษในเดือนพฤษภาคม 2566 ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16 ซึ่งบรรดาโรงงานหรือธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมการผลิตกล่าวโทษว่าเป็นเพราะ Brexit ทำให้สูญเสียลูกค้าในสหภาพยุโรป เนื่องจากอุปสรรคทางการค้าหลังออกจากสหภาพยุโรปเป็นตัวบั่นทอนความสัมพันธ์ทางธุรกิจ และทำให้ภาคธุรกิจของอังกฤษสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
ข้อมูลการส่งออกนี้เปิดเผยในห้วงเวลาเดียวกันกับที่แลร์รี ซัมเมอร์ส (Larry Summers) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า Brexit จะถูกจดจำในฐานะ “ความผิดพลาดทางเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์” ที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรและผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้น
ในเดือนพฤษภาคม 2566 กิจกรรมภาคการผลิตหดตัวติดต่อกันมาเป็นเดือนที่ 10 ซึ่งถูกฉุดลงโดยการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 16 เดือนที่ผ่านมา อ้างอิงตามตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของสหราชอาณาจักรซึ่งจัดทำโดย S&P Global และ CIPS
ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของสหราชอาณาจักรในเดือนพฤษภาคม 2566 ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนที่ 47.1 จุด ลดลงจาก 47.8 จุด ในเดือนเมษายน ซึ่งตัวเลขที่สูงกว่า 50 จุดบ่งชี้ถึงการขยายตัว แต่ถ้าต่ำกว่า 50 หมายถึงการหดตัว
เหล่าผู้ส่งออกพากันตำหนิปัจจัยต่าง ๆ รวมถึงการสูญเสียคำสั่งจากสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปแผ่นดินใหญ่ และลูกค้าในสหภาพยุโรปเปลี่ยนไปใช้สินค้าในกลุ่มสหภาพยุโรปมากขึ้น เพื่อเลี่ยงอุปสรรคทางศุลกากร ความยุ่งยากของงานเอกสาร และความล่าช้าของการส่งออกสินค้าจากสหราชอาณาจักร
ร็อบ ด็อบสัน (Rob Dobson) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและโฆษกของ S&P Global กล่าวว่า ผู้ประกอบการโรงงานพบว่า ศักยภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานกำลังถูกลบล้างโดยสิ้นเชิงจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ การลดการสต็อกสินค้า (ของผู้ค้าขั้นกลางน้ำ) และการเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายโดยทั่วไปในสหราชอาณาจักรที่เปลี่ยนจากการใช้จ่ายกับสินค้าไปเป็นการใช้จ่ายไปกับการบริการ
“ปัจจัยเหล่านี้ยังผลักดันให้อุปสงค์จากต่างประเทศลดลงในวงกว้าง ท่ามกลางรายงานคำสั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปแผ่นดินใหญ่ที่หายไป ดีมานด์การส่งออกที่ลดลงยังถูกทำให้ทวีความรุนแรงขึ้นโดยลูกค้าในสหภาพยุโรปบางรายเปลี่ยนไปใช้การจัดหาสินค้าในท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากทางการค้าหลัง Brexit”
Make UK สมาคมภาคอุตสาหกรรมการผลิตของสหราชอาณาจักร กล่าวตำหนิรัฐบาลอยู่บ่อยครั้งว่า ภาคการผลิตและส่งออกขาดการสนับสนุนจากรัฐบาล
“ด้วยนโยบายการผลิตภายในประเทศที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปบังคับใช้ ผู้ผลิตสามารถเห็นได้ว่า ความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มการส่งออกไปยังคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของผู้ผลิตสินค้าในสหราชอาณาจักรนั้นน้อยลง” Make UK กล่าว
ก่อนหน้านี้ ในเดือนพฤษภาคม Make UK ก็ออกมาเตือนว่า กลุ่มธุรกิจสัญชาติอังกฤษมีความเสี่ยงที่จะพ่ายแพ้บริษัทจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เนื่องจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรขาดแผนระยะยาวสำหรับส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม
ความคิดเห็นของ Make UK เน้นย้ำสนับสนุนคำวิจารณ์จากแลร์รี ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาชี้จำเพาะเจาะจงว่า การที่สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนสินค้าของสหราชอาณาจักรสูงขึ้น และเขาวิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรว่า “มีข้อบกพร่องอย่างมากมาเป็นเวลาหลายปี”
ซัมเมอร์สกล่าวถึง Brexit ในรายการ Today ของ BBC Radio 4 ว่า “ลดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร กดดันค่าเงินปอนด์ และกดดันราคาสินค้าให้สูงขึ้น จำกัดการนำเข้าสินค้า และจำกัดการจัดหาแรงงานในบางวิธี”
“ทั้งหมดนี้มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น” เขากล่าวเสริม
ในการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรนั้น ซัมเมอร์สไม่ได้ละเว้น Bank of England ธนาคารกลางของสหราชอาณาจักร เขาตำหนิธนาคารกลางว่า ภาวะเงินเฟ้อสูงของสหราชอาณาจักรนั้นมีแรงหนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบขยายตัว (expansionary monetary policy) นานเกินไป ซึ่งเป็นนโยบายไม่เหมาะสมอย่างมาก
ทั้งนี้ ตามข้อมูลล่าสุด สหราชอาณาจักรมีอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสูงที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว
นอกจากนั้น มีรายงานที่จัดทำโดยนักวิจัยจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics: LSE) ที่เปิดเผยล่าสุด แสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่ Brexit ครัวเรือนในอังกฤษได้จ่ายเงินไปแล้วรวม 7,000 ล้านปอนด์ สำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกีดกันทางการค้าในการนำเข้าอาหารจากสหภาพยุโรป
นักวิจัยของ LSE คำนวณว่า ต้นทุนอาหารในสหราชอาณาจักรพุ่งขึ้นถึง 25% นับตั้งแต่ปี 2562 แต่ถ้าสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อจำกัดทางการค้า ราคาอาหารจะเพิ่มขึ้น 17%
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

 

คลิก

Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"