ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (1 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากความคืบหน้าในการผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ในสภาคองเกรส รวมทั้งการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,061.57 จุด เพิ่มขึ้น 153.30 จุด หรือ +0.47%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,221.02 จุด เพิ่มขึ้น 41.19 จุด หรือ +0.99% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,100.98 จุด เพิ่มขึ้น 165.70 จุด หรือ +1.28%
ตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวขึ้น หลังจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ซึ่งมีชื่อว่า "พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางการคลัง" (Fiscal Responsibility Act) และส่งต่อให้วุฒิสภาทำการพิจารณา โดยหากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว ก็จะส่งต่อให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะต้องเสร็จสิ้นก่อนเส้นตายวันที่ 5 มิ.ย. มิฉะนั้นสหรัฐจะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์
ตลาดยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ต้นทุนแรงงานต่อหน่วย (ULC) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 4.2% ในไตรมาส 1 ซึ่งชะลอตัวลงจากการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่ามีการขยายตัว 6.3%
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดบางคนได้ออกมาสนับสนุนการระงับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. ซึ่งรวมถึงนายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และนายฟิลิป เจฟเฟอร์สัน ว่าที่รองประธานเฟด โดยนายเจฟเฟอร์สันกล่าวว่า การระงับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.จะช่วยให้คณะกรรมการเฟดเห็นข้อมูลมากขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับขอบเขตการใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินต่อไป
อาร์ท โฮแกน นักวิเคราะห์จากบริษัท B. Riley Wealth กล่าวว่า "ข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ซึ่งรวมถึงการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างและดัชนีภาคการผลิต สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังอยู่ในทิศทางที่ดี คือไม่ร้อนแรงเกินไปจนทำให้เฟดมีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ และไม่ได้อ่อนแอเกินไปจนทำให้ตลาดวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างพุ่งขึ้น 1.2% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ขณะที่สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตลดลงสู่ระดับ 46.9 ในเดือนพ.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 47.0 จากระดับ 47.1 ในเดือนเม.ย.
ทางด้านออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 278,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 180,000 ตำแหน่ง ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 2,000 ราย สู่ระดับ 232,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 235,000 ราย
หุ้น 9 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้น 1.33% และดัชนีหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้น 1.26% ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคและกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลง 0.78% และ 0.09% ตามลำดับ
หุ้นอินวิเดีย (Nvidia) ซึ่งเป็นบริษัทเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของสหรัฐ พุ่งขึ้น 5.12% โดยราคาหุ้นของบริษัทยังคงได้ปัจจัยหนุนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งในเดือนก.พ.-เม.ย. ซึ่งเป็นไตรมาส 1 ของปีงบการเงิน 2567
หุ้นโกลด์แมน แซคส์ ร่วงลง 2.32% หลังจากบริษัทประกาศแผนปลดพนักงานรอบที่ 3
หุ้นเซลส์ฟอร์ซ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ของสหรัฐ ร่วงลง 4.69% หลังจากบริษัทเปิดเผยรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราต่ำสุดในรอบ 13 ปี เนื่องจากบริษัทต่างๆ พากันปรับลดงบรายจ่ายซอฟต์แวร์ที่อิงบนระบบคลาวด์
หุ้นเมซีส์ ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ของสหรัฐ ดีดตัวขึ้น 1.1% หลังบริษัทเปิดเผยกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 1 อยู่ที่ 0.56 ดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.45 ดอลลาร์
นักลงทุนจับตาสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 253,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. และคาดว่าอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.5% ในเดือนพ.ค. จากระดับ 3.4% ในเดือนเม.ย.
โดย รัตนา พงศ์ทวิช
Source: IQ สำนักข่าวอินโฟเควสท์
เพิ่มเติม
- Senate prepares to vote on debt ceiling bill within hours :
Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you