นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน
ส่งผลให้การทำนโยบายการเงินของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไป สร้างความผันผวนในตลาดการเงินโลก ทั้งในด้านอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นสิ่งที่ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
พร้อมกันนี้ มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย แม้จะยังอยู่ในระดับที่ห่างจากดอกเบี้ยต่างประเทศถึงประมาณ 3% ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบให้เงินทุนไหลออก โดยพบว่าในช่วงไตรมาส 4 ของปี 65 ยังเป็นเงินทุนไหลเข้าสุทธิ
"ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่เป็นเหตุเป็นผล ทุนสำรองที่มั่นคง หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ โอกาสที่จะเกิดวิกฤติมีน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น" นายเมธี ระบุ
ในส่วนของเศรษฐกิจไทย คาดว่าปีนี้จะสามารถเติบโตได้ 3.7% ดีขึ้นจากปี 65 และคาดว่าในปี 67 จะเติบอย่างต่อเนื่องจากปีนี้เช่นกัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ น่าจะเริ่มชะลอตัวลงจากปีก่อน โดยอยู่ในระดับที่ทรงตัว แต่ก็ยังไม่เข้าเป้าหมายกรอบเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ที่ 1-3% แต่เชื่อว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในปี 67 ดังนั้น นโยบายการเงินจึงยังไม่สามารถผ่อนคลายได้โดยเร็วนัก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังไม่สามารถเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้
ทั้งนี้ ธปท. ได้วางนโยบายการเงินภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังผันผวน โดยชั่งน้ำหนัก 3 ปัจจัยสำคัญควบคู่กัน คือ การเติบโตของเศรษฐกิจ, อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเหมือนเช่นประเทศอื่น ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยในแต่ละครั้งที่ผ่านมา ธปท. คำนึงถึงภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ และประชาชน
ส่วนกรณีที่ภาคเอกชน เสนอให้ ธปท. ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเป็นการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจนั้น นายเมธี มองว่า กรณีนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้พิจารณาเป็นปกติอยู่แล้ว ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ยอมรับว่าอัตราดอกเบี้ยยังไม่ได้อยู่ในระดับปกติ และยังคงอยู่ในขั้นตอนของการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเข้าสู่ระดับปกติ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ยังไม่อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%
"ดอกเบี้ยปัจจุบันยังไม่ได้อยู่ในระดับปกติ และเงินเฟ้อยังไม่ได้เข้าเป้า ความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยยังมี หากแบงก์ชาติหยุดไม่ทำอะไร จะหมายความว่าเราพอใจกับเงินเฟ้อระดับนี้ เราโอเคหมดแล้วหรือไม่ การขึ้นดอกเบี้ย มันจะช่วยเรา หากมีช็อกในอนาคต เราจะมี policy space ถ้าหยุดแค่นี้ policy space ก็เหลือน้อย ทำอะไรไม่ได้ และเราจะไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยสูงจนชาวบ้านเดือดร้อน แต่เราต้องดูว่าผู้ฝากเงินได้รับประโยชน์ด้วย หากดอกเบี้ยต่ำนาน จะทำให้ต้องไปหาอะไรเสี่ยงๆ ที่แม้อาจได้ผลตอบแทนสูงขึ้น แต่ความเสี่ยงมากก็ขึ้นเยอะ" นายเมธี กล่าว
สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทนั้น ยอมรับว่า ยังต้องติดตามดู เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐที่ประกาศออกมา ยังสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะไม่ได้ลดดอกเบี้ยลงภายในสิ้นปี โดยอาจจะทยอยปรับขึ้นและหยุด จากนั้นคาดว่าจะเริ่มปรับลดได้ในปีหน้า ส่งผลให้อัตรา terminal funds rate อาจสูงกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อยเลยมีผลต่อค่าเงิน
แต่ทั้งนี้ มองว่าค่าเงินมีความอ่อนไหวกับตัวเลขเศรษฐกิจมากกว่าเดิม และการให้สัมภาษณ์ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์ผันผวนได้ง่าย และเมื่อค่าเงินดอลลาร์ผันผวนก็กระทบประเทศอื่น ขณะที่ค่าเงินบาทยอมรับว่าผันผวนพอสมควร แต่ยังอยู่ในระดับที่ธุรกิจรับได้
โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/รัชดา คงขุนเทียน
Source: สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you