Update :IMF เตรียมปล่อยกู้ศรีลังกา2.9พันล้านดอลล์ การบรรลุข้อตกลงขั้นต้นจะช่วยแก้วิกฤติเศรษฐกิจในศรีลังกา

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ระบุว่า ได้บรรลุข้อตกลงขั้นต้นในการจัดหาเงินกู้ระยะเวลา 48 เดือน เป็นวงเงิน 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับรัฐบาลศรีลังกา เพื่อเป็นการช่วยฟื้นเสถียรภาพเศรษฐกิจให้กับประเทศศรีลังกาที่กำลังเผชิญวิกฤตอยู่ในขณะนี้

เงินกู้นี้จะดำเนินการภายใต้โครงการการอำนวยความสะดวกขยายกองทุน หรือ Extended Fund Facility ซึ่งช่วยหลาย ๆ ประเทศในการรับมือกับปัญหาดุลชำระเงิน หรือกระแสเงินสดหมุนเวียน โดยจะจ่ายเงินให้หลังจากมีการปรับโครงสร้างหนี้ที่น่าพอใจ ซึ่งรวมถึงข้อตกลงการผ่อนปรนหนี้ที่รัฐบาลศรีลังกาทำไว้กับประเทศเจ้าหนี้
โครงการเงินกู้นี้ยังรวมถึงการปฏิรูปประเทศศรีลังกาให้มีการทุจริตที่ลดลง และเพิ่มความโปร่งใสในระบบการเงิน
นายปีเตอร์ เบรเออร์ และ นายมาซาฮิโร่ โนแซค ตัวแทนของ IMF ซึ่งทำหน้าที่เจรจากับรัฐบาลศรีลังกาเรื่องเงินกู้ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า ศรีลังกากำลังเผชิญกับวิกฤตที่รุนแรง นอกจากนั้นแล้ว ความเปราะบางยังสูงขึ้นจากแรงสนับสนุนภายนอกที่ไม่เพียงพอ และพลวัตหนี้สาธารณะที่ไม่ยั่งยืน
การพักชำระหนี้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา นำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ของศรีลังกาจากภาระผูกพันภายนอก และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำในระดับวิกฤต ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการนำเข้าสินค้าจำเป็น ซึ่งรวมไปถึงน้ำมันที่ยิ่งฉุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจลง
ทั้งนี้ IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจศรีลังกาจะติดลบ 8.7% ในปีนี้ และอัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงกว่า 60% โดยผลกระทบนั้นกระจายไปยังกลุ่มผู้ยากจน และกลุ่มเปราะบางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่ง ปีเตอร์ เบรเออร์ และ นายมาซาฮิโร่ โนแซค กล่าวว่า IMF เล็งที่จะช่วยสร้างสมดุลในเศรษฐกิจของศรีลังกา การปกป้องความเป็นอยู่ของประชากร สร้างฐานสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเติบโตแบบยั่งยืน และครอบคลุม
อย่างไรก็ตาม IMF ระบุว่า เงินกู้ก้อนใหม่นี้ยังต้องผ่านการอนุมัติจากฝ่ายบริหารของกองทุนก่อน และจะยังไม่สามารถให้กู้ได้หากรัฐบาลศรีลังกายังไม่ทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งรวมถึงการขอผ่อนปรนหนี้กับเจ้าหนี้ในต่างประเทศด้วย
ข้อมูลจากธนาคารกลางศรีลังกาแสดงให้เห็นว่า ขณะนี้ศรีลังกามีหนี้ต่างประเทศเป็นวงเงินสูงกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยค้างชำระประเทศใหญ่ ๆ อย่างญี่ปุ่น และจีน รวมถึง ธนาคารโลก (World Bank) ด้วยเช่นกัน
ปีเตอร์ เบรเออร์ กล่าวในการแถลงข่าวว่า การทำข้อตกลงขั้นต้นนี้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลศรีลังกาในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะถูกเฝ้าดูโดย IMF พร้อมกันนั้นยังผลักดันให้เจ้าหนี้ต่าง ๆ ให้ความร่วมมือกับศรีลังกาในการเจรจา ซึ่งความล่าช้าจะชะลอการจ่ายเงินของ IMF และยิ่งทำให้วิกฤตในประเทศหนักขึ้น
ทั้งนี้ หากได้รับการอนุมัติจาก IMF เงินกู้ก้อนแรกจะถูกจ่ายให้กับศรีลังกาในวันเดียวกับการอนุมัติ และงวดถัด ๆ ไปจะจ่ายภายใต้โครงการ Extended Fund Facility แล้วจะมีการประเมินในแต่ละรอบการจ่ายเงิน
IMF ตั้งเป้าไว้ โดยคาดว่าการช่วยเหลือศรีลังกาในครั้งนี้จะทำให้งบประมาณกลับมาอยู่ในแดนบวกได้ที่ 2.3% ของ GDP ในปี 2024 จากการคาดการณ์ว่าจะขาดงบดุล 9.8% ของ GDP ในปี 2565 และจะยังช่วยเสริมเสถียรภาพด้านราคา หลังเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นแตะ 64.3% ในเดือนที่ผ่านมา
Source: ข่าวหุ้น
********
เปิดเงื่อนไข IMF ให้ศรีลังกากู้ 1 แสนล้าน แก้มหาวิกฤตเศรษฐกิจ : IMF ให้ศรีลังกากู้ 2,900 ล้านดอลลาร์ หรือ 1 แสนล้านบาท มาพร้อมเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด
วันที่ 1 กันยายน 2565 สำนักข่าว เอเอฟพี รายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF แถลงเงื่อนไขการให้เงินกู้จำนวน 2,900 ล้านดอลลาร์ หรือราว 106,000 ล้านบาท แก่ ศรีลังกา ประเทศที่ประสบวิกฤตจนประเทศล้มละลาย ประชาชนเดือดร้อนไปทั่วทุกหัวระแหง เกิดการลุกฮือขับไล่ผู้นำตระกูลราชปักษาออกนอกประเทศ
“ศรีลังกาเผชิญวิกฤตร้ายแรง คนยากจนและกลุ่มเปราะบางต้องแบกรับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” ไอเอ็มเอฟระบุ หลังจากชาวศรีลังกาต้องอยู่ในสภาพขาดแคลนอาหาร ยา พลังงาน ไฟฟ้าดับนาน เงินเฟ้อที่พุ่งทะยาน ขาดแคลนเงินสำรองระหว่างประเทศจนไม่มีเงินซื้อสินค้ามานานหลายเดือนแล้ว
ข้อตกลงการให้เงินกู้ดังกล่าวผ่านการเจรจาระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับไอเอ็มเอฟ ที่กรุงโคลอมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา ต่อเนื่องมา 9 วัน และจากนี้จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากบอร์ดไอเอ็มเอฟ ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนดให้ศรีลังกาต้องปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศจำนวนมหาศาล 51,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.87 ล้านล้านบาท
แถลงการณ์ไอเอ็มเอฟระบุว่า วัตถุประสงค์ของโครงการให้เงินทุนสนับสนุนก้อนใหม่ คือการฟื้นฟูเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและความยั่งยืนของหนี้
สำหรับ ความยั่งยืนของหนี้ (debt sustainability) หมายถึง ผู้กู้สามารถจ่ายคืนเงินต้น ดอกเบี้ย หรือทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับผู้ให้กู้
“ความยั่งยืนของหนี้ และข้อตกลงที่มีเจตนาอันดีของผู้ให้กู้ยืม เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมี ก่อนที่ผู้ให้กู้ยืมจะส่งมอบความช่วยเหลือ” ไอเอ็มเอฟระบุ
สำหรับจีน ประเทศผู้ให้เงินศรีลังกากู้ยืมสูงสุด หรือราว 10% ของเงินกู้ยืมทั้งหมด ถึงตอนนี้ย้งไม่ได้ให้ข่าวว่าจะเปลี่ยนข้อเสนอใด ๆ หลังจากเสนอที่จะให้ศรีลังกากู้ยืม แทนที่จะตัดลดสินเชื่อที่มีอยู่
เบื้องต้นนี้ ไอเอ็มเอฟเผยว่า ศรีลังกาตกลงที่จะเพิ่มการหารายได้ ยกเลิกเงินอุดหนุน ปรับอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราให้ยืดหยุ่น รวมถึงเริ่มสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศขึ้นใหม่
ด้านนายรานิล วิกรามาสิงหะ ประธานาธิบดีศรีลังกา ประกาศเพิ่มการขึ้นภาษี เร่งการปฏิรูปอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ดึงหนี้มาอยู่ในการควบคุม โดยก่อนหน้านั้น รัฐบาลขึ้นราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า เลิกกองทุนอุดหนุนพลังงานไปก่อนที่จะตกลงกับไอเอ็มเอฟแล้ว
วิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกาเริ่มต้นมาจากเงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอ ไม่มีจะไปซื้อสินค้าที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่สะเทือนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างหนัก ส่วนแรงงานที่เคยไปทำงานต่างประเทศก็หยุดชะงัก
ช่วงที่ตระกูลราชปักษาครองอำนาจ ถูกวิจารณ์ว่าบริหารจัดการผิดพลาดร้ายแรง ไปตัดลดภาษี เพิ่มหนี้ให้รัฐ ยิ่งทำให้วิกฤตสาหัสกว่าเดิม
ตัวเลขเงินเฟ้อเมื่อเดือนสิงหาคมทะยานขึ้นไปจนราคาสินค้าต่าง ๆ เพิ่มเฉลี่น 64.3% ส่วนค่าเงินรูปีศรีลังกา อ่อนค่าจากปีก่อนหน้าแล้วมากกว่า 45%
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"