สงครามค่าเงินปะทุ ศึกการค้าลากโลกติดกับดัก เศรษฐกิจเสี่ยงชะงักงัน

ผู้ว่าธปท.หวั่นเสี่ยงติดกับเศรษฐกิจโลกชะลอ เงินเฟ้อพุ่ง ดอกเบี้ยขึ้น เร่งเอสเอ็มอีรีบประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน กรุงไทยชี้ศึกจีน-สหรัฐฯไถลสู่สงครามค่าเงิน ทิสโก้-ทหารไทยมองบวกเชื่อไม่เลยเถิดจนเจ็บตัวทุกฝ่าย

ความขัดแย้งการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ล่าสุดขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กันไปมาเป็นมูลค่าฝ่ายละ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลายเป็นสงครามการค้าเต็มรูปแบบนั้นล่าสุดมีความกังวลว่าอาจลามเป็นสงครามค่าเงิน หลังจากที่จีนและอียูใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย สวนทางกับสหรัฐอเมริกา

เตือนระวังดอกเบี้ยขาขึ้น

ความขัดแย้งทางการค้าโลกนี้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เสี่ยงกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป แม้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลัก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น กำลังเติบโตร้อนแรง แต่ถ้านโยบายหลายอย่างทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกีดกันการค้า หรือเศรษฐกิจโลกร้อนแรง จะยิ่งเร่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ ที่อาจเกิดภาวะเงินไหลออกรุนแรงและส่งผลต่อค่าเงิน

สัญญาณเบี้ยวหนี้เริ่มโผล่

ความเสี่ยงอีกประการจากที่ดอกเบี่ยโลกอยู่ในระดับต่ำมานาน ทำให้เกิดหนี้เพิ่มสูงขึ้นทั้งโลกเป็นประวัติการณ์ ทั้งประเทศอุตสาหกรรมหลัก ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทั้งหนี้ภาครัฐ หนี้ของบริษัทเอกชน และหนี้ภาคครัวเรือนด้วย ถือเป็นจุดเปราะบาง หากอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มปรับสูงขึ้น หรือมาตรการกีดกันการค้าฉุดเศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัว ทำให้คนที่มีหนี้เยอะและประเมินความเสี่ยงโดยชะล่าใจได้รับผลกระทบ อย่างจีนมีหนี้อยู่ในระดับค่อนข้างสูง เริ่มเห็นการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูง จะส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลกและไทยต่อไปด้วย

ที่ผ่านมา ธปท.พยายามส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยตั้งวงเงินเป็นค่าธรรม เนียม แต่ปรากฏว่าผลตอบรับยังน้อย มาใช้บริการเพียง 2,000 ราย จากเป้าหมาย 1.7 หมื่นราย

ลามสู่สงครามค่าเงิน

ด้านนายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ความไม่ชัดเจนของนโยบายกีดกันการค้า มีโอกาสขยายวงต่อเป็นสงครามค่าเงิน ซึ่งต้องจับตาการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอียู -จีน ว่ามีแนวโน้มลดดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งสวนทางสหรัฐฯ ที่เข้มงวดการดำเนินนโยบายทางการเงิน

ยกเว้นกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ(นาฟต้า) ซึ่งมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจจากนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ทำให้แคนาดาและเม็กซิโก ทั้ง2 ประเทศตั้งรับเพื่อไม่ให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น โดยพยายามทำให้ค่าเงินไม่อ่อนค่ามากนัก

สำหรับจีนนั้นประสบภาวะเงินทุนไหลออกและเศรษฐกิจภายในชะลอลงด้วย โดยทางการจีนต้องกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแนวทางดำเนินนโยบายดังกล่าวหากมองผิวเผินตลาดอาจประเมินจีนทำสงครามค่าเงิน แต่ในความเป็นจริงจีนต้องการประคองเศรษฐกิจภายใน

มองบวกขัดแย้งจำกัดวง

ขณะที่นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ บริษัท ทิสโก้ ไฟแนนเชียลกรุ๊ปจำกัด(มหาชน) มองว่า ความขัดแย้งการค้าจีนสหรัฐฯ ไม่รุนแรงและเลยเถิดไปเป็นสงครามค่าเงิน เนื่องจากจีนค่อนข้างระมัดระวังตัว ไม่ตัดสินใจผลีผลาม และตัวแปรสำคัญอยู่ที่ประธานาธิบดี ทรัมป์ ที่ฟาดไปทั่ว ยังไม่ได้ชี้ไปที่จุดใดจุดหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่งคาดว่าสถานการณ์ ไม่น่าขยายวงกว้างหรือไม่น่าไปไกลมากกว่านี้แต่ถ้าทุกคนตอบโต้กลับจะทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง

"ครั้งนี้จีนเดินเกมได้ลุ่มลึกมาก ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ส่วนทรัมป์ตอนนี้ไม่ได้สนใจกติกา เพราะส่วนหนึ่งทรัมป์มีเรื่องทางการเมือง จึงต้องทำทุกอย่างที่สัญญาไว้ว่าสหรัฐฯ จะต้องมาที่หนึ่งเพื่ออย่างน้อยให้อยู่ได้ครบเทอม และรักษาฐานเสียงตัวเอง ดังนั้นมองว่าเหตุการณ์ไม่น่าจะลุกลามแต่ทุกคนหาทางออกรวมกันในระยะสั้นอาจมีแรงกระเพื่อมบ้าง แต่คงไม่ไกลไปมากกว่านี้"

เจ็บตัวทุกฝ่าย

นายพูน พานิชพิบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) หรือทีเอ็มบี ก็เห็นว่า สงครามการค้าเต็มรูปที่สหรัฐฯจะทำกับคู่ค้านั้นเป็นไปได้ยาก เพราะท้ายสุดเอกชนที่เป็นฐานเสียงของทรัมป์จะไม่เห็นด้วย และกลับมากดดันทรัมป์ในการเลือกตั้งปลายปีที่จะถึงเสียเอง ต้องมีการเจรจาเกิดขึ้น แม้หากเกิดสงครามการค้าขึ้นจริง ก็ไม่น่าจะไปไกลถึงสงครามค่าเงิน

ขณะเดียวกัน จีนมีทางเลือกเยอะมากในการตอบโต้หรือใช้ไม้ตาย เช่น ลดการลงทุนในสหรัฐฯหรือถอนการลงทุน พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจตัวเองเพิ่มเติม หรือลดการถือบอนด์สหรัฐฯ และถ้าหากจีนจะเล่นเรื่องค่าเงินจริงๆ อาจจะต้องผ่านธนาคารกลางอยู่ๆ จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือการลดอัตราดอกเบี้ยสู้ ซึ่งมองว่าไม่น่าจะใช้วิธีขนาดนั้น เพราะถ้าถึงขั้นต้องลดดอกเบี้ย แสดงว่าเศรษฐกิจแย่แล้ว ซึ่งจะเล่นเรื่องค่าเงินจะต้องแข่งกันชะลอขึ้นดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ย

"ผมคิดว่าถ้าเงินอ่อน อันนี้น่าจะช่วยส่งออกที่แย่จากสงคราม การค้าแบบยอดลด แต่เงินอ่อนค่า ก็ช่วยลดผลกระทบที่ยอดตกได้ แต่อย่าลืมว่าตัวทรัมป์เองที่เป็นคนทำให้ดอลลาร์ผันผวน เพราะจริง ๆ การตีความ สงครามค่าเงินมองได้หลายมุม แต่หากพูดเกี่ยวกับแนวโน้มนโยบายการเงินก็ได้เหมือนกันคือกลับไปที่เรื่องขึ้นดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ย"

กับดักศก.โลกโจทย์ยากเฟด

ดังนั้นประเด็นที่อาจจะน่าติดตาม คือ ถ้าสงครามการค้าเกิดขึ้นจริงๆ ธนาคารกลางจะประเมินการขึ้นดอกเบี้ยอย่างไร เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะขึ้นได้ตามเป้าหรือไม่ หรือยังจะขึ้นดอกเบี้ยต่อ เพราะน่าจะกระทบกับตลาดทุนพอสมควร แต่ถ้าหากเกิดทำจริงขึ้นมา จนถึงกีดกันกลุ่มยานยนต์ซึ่งอันนี้กระทบสหรัฐฯ เต็มๆ อาจจะเห็นเฟดไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเริ่มจัดการยาก เพราะสงครามการค้าน่าจะตามมาด้วยสภาวะของแพงขึ้น เงินเฟ้อก็ต้องมา แต่เศรษฐกิจดันชะลอตัว ซึ่งบอกยากว่าเฟดจะแก้เกมยังไง

"ถ้าสงครามการค้ามันหนัก แล้วเศรษฐกิจชะลอ แต่เงินเฟ้อมาเต็มเฟดจะทำงานยากขึ้น และหากดอกเบี้ยขึ้นต่อก็เร่งให้เศรษฐกิจแย่ เพราะดอกเบี้ยแพงขึ้น ทำให้การรีไฟแนนซ์ก็ลำบาก จะออกหุ้นกู้ใหม่มาโปะหนี้เก่าก็ยาก ผมว่าตัวกุญแจคือ ภาคยานยนต์นำเข้าสำคัญสุดของสหรัฐฯ"

Source: ฐานเศรษฐกิจ

Cr.ทวีสุข ธรรมศักดิ์

บทความสนับสนุนโดย FXPro
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"