บิตคอยน์จ่อซ้ำ ฟองสบู่ดอทคอม

หลังจากที่เพิ่งปิดตัวเลขรอบครึ่งปี ไปหมาดๆ ดูเหมือนจะไม่ได้มีแค่การลงทุนในหุ้นของกลุ่มตลาดเกิดใหม่เท่านั้นที่ย่ำแย่ แต่ยังมีการลงทุน อีกด้านที่เลวร้ายกว่าและดิ่งลงไปไกลกว่าภาวะตลาดหมีแล้ว เพราะ "บิตคอยน์"

กำลังมาถึงจุดที่นักวิเคราะห์จับตาว่าอาจซ้ำรอยกับวิกฤต "ฟองสบู่ดอทคอม" หลังปี 2000 จากที่เคยทำราคาสูงสุดทุบสถิติใหม่ที่ 19,783 ดอลลาร์สหรัฐ/บิตคอยน์เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ราคาบิตคอยน์ กลับร่วงลงอย่างฮวบฮาบถึงขั้นหลุด 6,000 ไปอยู่ที่ 5,845 ดอลลาร์/บิตคอยน์เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา หรือ ลดลงไปแล้วราว 70% จากราคาสูงสุดในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี

แม้ว่าการดิ่งลงครั้งนี้จะยังไม่ เลวร้ายเหมือนในช่วงปลายปี 2013-ต้นปี 2015 ที่ราคาบิตคอยน์ดิ่งลงไปถึงราว 85% แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันมากนัก หลายฝ่ายจับตาว่า บิตคอยน์อาจซ้ำรอยเมื่อครั้งที่ดัชนี แนสแด็ก คอมโพสิต ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลงถึง 78% หลังฟองสบู่หุ้นไอทีแตกครั้งใหญ่ในวิกฤตฟองสบู่ดอทคอม และมีโอกาสที่บิตคอยน์รวมถึงเงินคริปโทอื่นๆ จะยังเลือดไหลต่อไปอีกระยะ

เพราะหลายฝ่ายมองตรงกันว่าราคาบิตคอยน์ที่ทะยานไปเกือบแตะ 2 หมื่นดอลลาร์ เมื่อปลายปีที่แล้วนั้นเป็นเรื่องของการปั่นราคามากกว่า หลังจากที่ราคาขึ้นไปเกือบ 20 เท่า จากระดับราว 1,000 ดอลลาร์/บิตคอยน์เมื่อต้นปีเดียวกัน จึงไม่แปลกหากจะมีฟองสบู่แตกในเวลาตามมา นอกจากนี้ตลาดเงินคริปโทในปีนี้ก็ยังเต็มไปด้วยข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี เช่น การแฮ็กตลาดแลกเปลี่ยนคริปโทหลายแห่งและการที่รัฐบาลหลายประเทศจับตาคุมเข้ม ทั้งเงินคริปโทไปจนถึงการระดมทุนเสนอขายเงินดิจิทัลให้นักลงทุน ครั้งแรก (ICO)

ข่าวการแฮ็กเจาะตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินคริปโทหลายต่อหลายครั้งในปีนี้ นับว่ากระทบต่อความ เชื่อมั่นของนักลงทุนรายย่อยและหน้าใหม่ที่จะเข้าสู่วงการไม่น้อย เพราะสะท้อนถึงภัยไซเบอร์ที่ควบคุมความเสี่ยงเองได้ยาก

ช่วงต้นปีในเดือน ม.ค. เว็บไซต์คอยน์เช็คในประเทศญี่ปุ่น เป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินคริปโทขนาดใหญ่รายแรกของปีนี้ที่ถูกแฮ็กเกอร์เจาะระบบ โดยถูกขโมยเงินคริปโทคิดเป็นมูลค่า 530 ล้านดอลลาร์ (เกือบ 1.75 หมื่นล้านบาท) ซึ่งถือเป็นเคสใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมาในทำนองนี้ และถือเป็น

สัญญาณเตือนให้รัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาเพิ่มการตรวจสอบและอุดช่องความปลอดภัยให้มากขึ้น และฉุดให้ราคา บิตคอยน์ร่วงลงไปถึงเกือบ 9% หลังจากนั้น

ทว่าหลังจากเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่น ก็ยังคงมีข่าวเว็บตลาดซื้อขาย แลกเปลี่ยนรายอื่นๆ ที่ถูกเจาะระบบขโมยเงินไปเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดเงินคริปโทรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ของโลก มีบริษัทใหญ่ 2 รายที่ถูกแฮ็กไปแล้ว คือ บิตฮัมบ์ ซึ่งถูกแฮ็กไปรวมมูลค่า 30 ล้านดอลลาร์ (ราว 990 ล้านบาท) และรายล่าสุด คือ คอยน์เรล เพิ่งถูกแฮ็กไปหมาดๆ รวมความเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 40 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,320 ล้านบาท)

ลำพังเงินคริปโทนั้นก็ถือเป็นเงินเสมือน หรือ Virtual Currency ที่ไม่ได้มีรูปลักษณ์ให้จับต้องได้จริง อยู่แล้ว ยิ่งเกิดการแฮ็กระบบหลาย ต่อหลายครั้ง จึงยิ่งเขย่าความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขณะที่รัฐบาลเองก็ สบช่องเข้าตรวจสอบคริปโทหนักขึ้น โดยมีรายงานจากวอลสตรีทเจอร์นัลว่า หน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐกำลัง เรียกร้องให้ตลาดแลกเปลี่ยนเงิน คริปโทขนาดใหญ่ 4 แห่ง ให้ข้อมูลการซื้อขายกับทางการ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนสอบสวนว่ามีการปั่นราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส) หรือไม่ หลังพบว่ามีการเทขายเกิดขึ้นอย่างหนักเมื่อช่วงต้นเดือนนี้

ขณะเดียวกันอีกปัจจัยหนึ่งที่ฉุด บิตคอยน์และเงินคริปโทอื่นๆ ยังเป็นผลมาจากความล้มเหลวของไอซีโอหลายตัวในปีนี้ ซึ่งยิ่งฉุดภาพลักษณ์ของเงินคริปโทและการระดมทุนแบบไอซีโอให้เป็นแง่ลบที่เต็มไปด้วยฟองสบู่และการฉ้อฉลหลอกลวง โดยสตาร์ทอัพจำนวนมากหันมาระดมทุนแบบ ไอซีโอและทำให้เกิดเงินคริปโทหน้าใหม่ชื่อแปลกจำนวนมากเกิดขึ้น เช่น คริปโทเมธ ดรอปเพล็กซ์ และรูเล็ตคอยน์ ซึ่งน้อยรายที่จะทำได้ในระดับพันล้านเหมือนบริษัท เทเลแกรม

แอรอน บราวน์ นักลงทุนและ คอลัมนิสต์เศรษฐกิจของบลูมเบิร์กระบุว่าตลาดไอซีโอกำลังเต็มไปด้วยปัญหาการหลอกลวงเพิ่มขึ้นมาก อาจเรียกได้ว่า ไอซีโอมากถึง 80% ในวันนี้ล้วนเป็นเรื่องหลอกลวง ส่วนอีก 10% ขาดสารัตถะมากพอและล้มเหลวลงหลังจากระดมทุนได้ไม่นาน และอีก 10% ที่เหลือนั้นส่วนใหญ่ก็มักจะล้มเหลวเช่นกัน

จากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาไอซีโอซาทิส กรุ๊ป ระบุว่า มีไอซีโอเพียงไม่ถึง 4% ในปีนี้ที่สามารถระดมทุนในระดับ 50-100 ล้านดอลลาร์ (ราว 1,650-3,300 ล้านบาท) ได้สำเร็จ หลายบริษัทเปิดระดมทุนไอซีโอทั้งที่ไม่มีทีมงาน ที่มีประสบการณ์มากพอ หรือไม่มี ผลิตภัณฑ์จริงๆ ด้วยซ้ำ มีเพียงแค่เอกสารรายละเอียดของไอซีโอนั้นๆ และคำมั่นสัญญา ซึ่งไม่เพียงพอในโลกธุรกิจและการระดมทุนที่เป็นเงินจริงๆ

รอยเตอร์สรายงานอ้างหน่วยกลยุทธ์ของไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส และสมาคมคริปโท วัลเลย์ ในสวิตเซอร์แลนด์ ว่า ภายในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีการเทขาย เงินดิจิทัลทั่วโลกไปแล้วถึง 1.37 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 4.51 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หรือมีปริมาณเกือบ 2 เท่า จากเงินดิจิทัลทั้งหมดที่ระดมทุนได้ ในปีที่แล้ว และในบรรดาไอซีโอ 3,470 ราย จากในปี 2013 มีเพียง 30% เท่านั้นที่ใกล้เสร็จสมบูรณ์ตามแผนที่วางไว้ ส่วนใหญ่จะไม่เป็นไปตามระยะเวลาตามเป้าหมายหรือขาดโมเมนตัมไปดื้อๆ

แม้ว่าล่าสุด ราคาบิตคอยน์จะตีตื้นกลับมาเหนือ 6,000 อยู่ที่ 6,338.22 ดอลลาร์/บิตคอยน์ ได้แล้ว เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาบนเว็บบิตสแมป แต่ภายใต้ปัจจัยลบที่ยังไม่มีข่าวดีมากพอมากระตุ้นแรงซื้อได้ ตลาดบิตคอยน์อาจเป็นไปตามวัฏจักรที่ฟองสบู่ต้องแตกใหญ่ลงสักครั้ง ก่อนที่จะมีกระแสนักลงทุนกลับไปเสี่ยงช็อปของถูกกันอีกครั้ง

โดย นันทิยา วรเพชรายุทธ

Source: Posttoday

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students

บทความสนับสนุนโดย FXPro
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b  
Line ID:@fxhanuman

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"