บทที่ 1. พลังงานฟอสซิล ความหมาย มูลค่าของพลังงานฟอสซิล ได้แก่ ถ่านหิน, ก๊าซ, น้ำมัน, ทรายน้ำมัน และหินน้ำมัน กับสาเหตุความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มทุนสามานย์ ปัญหามลพิษจากถ่านหิน
คดีถ่านหินเหมืองแม่เมาะ, คดีลอบฆ่านายเจริญ วัดอักษร แกนนำชาวบ้านบ่อนอก ประจวบคีรีขันธ์ หรือกรณีล่าสุด 28 กรกฎาคม 2554 คดีลอบฆ่านายทองนาค เสวกจินดา ชาวบ้านต้านนายทุนถ่านหิน สมุทรสาคร
บทที่ 2. ธรกิจข้ามชาติ ปล้นข้ามประเทศ
ธุรกิจน้ำมันบันดาลความร่ำรวยมหาศาลให้บางคน เช่น นายจอห์น พอล เก็ตตี้, ร็อกกี้ เฟลเลอร์ แต่เบื้องหลังความร่ำรวยนั้นมาจากยุทธศาสตร์ความมั่นคงของมหาอำนาจ คือ รุกราน แทรกแซงเจ้าของประเทศที่มีขุมพลังงานด้วยกำลังและเล่ห์กล
น้ำมันเป็นสาเหตุสงคราม เช่น สงครามคลองสุเอซ(อียิปต์) ค.ศ.1956 (พ.ศ.2499) อังกฤษ,ฝรั่งเศส จับมือกระชับอำนาจคุมช่องทางลำเลียงน้ำมันจากอ่าวเปอร์เซีย ตามมาอีกหลายระลอกด้วยน้ำมืออเมริกัน
ยุคต้นๆ แหล่งปิโตรเลียมจำนวนมากของกลุ่มตะวันออกกลางและแอฟริกา ถูกครอบงำผ่านบริษัทพลังงาน ในนามเรียกขาน “เซเว่น ซิสเตอร์” (Seven Sisters) ยักษ์ใหญ่ทรงอิทธิพล ปัจจุบันควบรวมในชื่อ 4 บริษัท คือ
1.Exxon Mobil 2.Chevron Texaco 3.BP และ 4.Shell
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กลุ่มประเทศเคยถูกครอบงำ รวมตัวตั้ง “โอเปก”องค์กรปกป้องผู้ผลิตน้ำมันส่งออก
แต่สหรัฐอเมริกาก็พลิกโฉมหน้าทุนนิยมโลกด้วยการปั้มกระดาษดอลลาร์(พ.ศ.2514) ออกมาซื้อพลังงาน ควบรวมบริษัทพลังงานและครอบงำแหล่งปิโตรเลียมด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง
หลังสงครามโลก และหลังสงครามเย็น สหภาพโซเวียตล่มสลาย ค.ศ.1991(พ.ศ.2534) สหรัฐฯก็เป็นมหาอำนาจเพียงผู้เดียว ตั้งตัวเป็นตำรวจโลก สอยผู้นำประเทศที่ขัดใจหลายคนร่วง จับกุมขึ้นศาลอีกหลายคน ล่าสุด หนุนโค่น กัดดาฟี ผู้นำลิเบียตายอนาถ ก็มีแหล่งพลังงานสำรองรายใหญ่
จอร์จ เอ็ช ดับเบิลยู บุช (บุชผู้พ่อ) ประกาศระเบียบโลกใหม่ (New World Order) แผ่แสนยานุภาพทางทหารครอบครองดินแดนยุทธศาสตร์ทั่วโลก สหรัฐฯสถาปนาฐานทัพและความสัมพันธ์ยุทธศาสตร์กับรัฐริมทะเล ตั้งแต่ ยุโรปตะวันตก(ผ่านตุรกี, ) รัฐแถบอ่าวเปอร์เซีย (ผ่านฐานทัพดิเอโก การเซีย มหาสมุทรอินเดีย) วกขึ้นเหนือ ผ่านไต้หวัน ญี่ปุ่น และคาบสมุทรเกาหลี เพื่อโอบล้อมทอนกำลังโซเวียต และจีน
รัสเซียนั้น ทำได้เพียงปกป้องฐานที่มั่นของตัวเองไว้ให้ได้
ปัจจุบัน สหรัฐฯ เล็งและร่ำๆ จะเล่นงาน “อิหร่าน” (เหมือนอิรัก สังหารซัดดัม ฮุสเซน) และตึงเครียดถึงขนาดฆ่าสายลับของแต่ละฝ่าย ฮึ่มๆ จะเดือดอีกไม่นาน
ปัญหาความขัดแย้งในโลกนี้ อธิบายได้อย่างดีเยี่ยมด้วยภาพยนตร์สารคดี “Fahrenheit 9/11” โดย ไมเคิล มัวร์ เผยให้เห็นการแทรกแซงตะวันออกกลาง สายสัมพันธ์ตระกูลบุชกับราชวงศ์และชนชั้นนำซาอุดิอารเบีย และเป็นผู้ให้กำเนิด “บิล ลาเดน”
ไมเคิล มัวร์ ยังระบุถึง คาร์ลไลล์ กรุ๊ป (Carlyle Group) กลุ่มคนชั้นนำที่มีหรือเคยมีอำนาจรัฐของสหรัฐอเมริกา ลงขันระดมทุนดึงคนดังหรืออดีตผู้นำหลายประเทศมาเป็นสมาชิก อาศัยอินไซเดอร์ในแต่ละประเทศ เก็งกำไรค่าเงิน เข้าถือหุ้น ปั่นราคาแล้วทุบหุ้นในทุกภูมิภาคของโลก
จอร์จ บุช จูเนียร์(ผู้ลูก) ก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย โดยเฉพาะ เจมส์ เอ. เบเกอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ผู้ร่วมก่อตั้ง กับมีชื่อ ทักษิณ ชินวัตร อยู่ด้วย(ช่วงเป็นรัฐมนตรี) แล้วลาออกเพื่อรับตำแหนงนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยคนที่ 23
วิกฤติต้มยำกุ้ง เครือข่ายบริษัทชินวัตร กลับมีกำไรจากการถือดอลลาร์สหรัฐฯ มหาศาล แต่คนจำนวนมากสิ้นเนื้อประดาตัว และถึงขั้นฆ่าตัวเอง
ตระกูลบุชทำธุรกิจน้ำมัน เกี่ยวข้องกับ “เชฟรอน” มั้ย? เชฟรอน ได้สัมปทานน้ำมันในไทยทั้งในทะเลและบนบก รวมถึงในกัมพูชา เชฟรอน บริษัทลูกของ “สแตนดาร์ด ออยล์” ส่วนยูโนแคล(ก็บริษัทลูก) ได้สัมปทานในพม่า และสร้างวีรเวรคดีโยนทารกกับแม่เข้ากองเพลิง สาธุ โลกได้รู้ความอำมหิตนี้ คดีขึ้นศาลลอสแองเจลิส สั่งแพ้คดีทั้งชั้นต้นและอุทธรณ์ ยูโนแคลเจรจายอมความ จ่ายค่าเสียหาย ค่าปรับไหม 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ยังมีคดีฮั้วราคาธรุกิจน้ำมันและปิโตรเคมี ขัดกฎหมายห้ามผูกขาดตลาดการค้าหรือกรรมวิธีในทางการค้า (Anti-Trust Law) โดนสั่งปรับชดใช้ค่าเสียหายอีกบาน
โซนกลุ่มอาเซียน ทำไม ฮุน เซน อยากได้บริเวณเขาพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตร และอ้างสิทธิในทะเลอ่าวไทยล้ำเกินมหาศาล
แต่นักการเมืองไทยทุกรัฐบาลกลับ แบะ แบะ แหะ แหะ
ข้อมูลการคำนวณเมื่อปี 2536 หลุมพลังงานในอ่าวไทย มูลค่า 5 ล้านล้านบาท มาถึงปัจจุบันเป็น 10 ล้านล้านบาท แล้วใครต้องการนอนกินยาวๆ มีเงินเล่นการเมือง
ประเทศมีพลังงานขายส่งออก คนในประเทศใช้ถูก แถมรัฐสร้างสวัสดิการให้ครบครัน
แต่ประเทศไทยมีน้ำมัน มีก๊าซ ส่งขายเช่นกัน ทำไมคนไทยต้องจ่ายแพง
ปิโตรเลียม ธุรกิจอิงความมั่นคงของรัฐ จากตรา “สามทหาร” มาเป็น ปตท. ลูกผีลูกคน เอาความเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อได้เปรียบทางการค้า แต่เมื่อได้กำไรกลับแบ่งใส่กระเป๋าเอกชนผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งหลายปรีดิ์เปรมเกษมกระสัน
เงินภาษีประชาชนลงทุนไปก่อนหลายสิบปี ต้องถูกปล้นด้านๆ ไม่ได้ลงทุนเลย ยิ่งกว่าเสือนอนกิน
ดูตัวเลขมูลค่าทรัพย์สิน และตัวเลขปั่นหุ้นทำกำไรได้ในบทนี้...ไม่งั้น ปตท.จะมีเงินเป็นพันล้านบาทจ้างโฆษณาชวนเชื่อตัวเองได้อย่างไร
บทที่ ๓. ปตท.พลังไทย เพื่อใครกันแน่?
เมื่อ 1 ตุลาคม 2544 เริ่มแปลงสภาพ ปตท.ไปเป็นบริษัทมหาชน ภายใต้ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ทำการซื้อขายวันแรก 6 ธันวาคม 2544 ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อมา ณ 19 กันยายน 2549 หุ้น ปตท.หรือ PTT พุ่งขึ้นหุ้นละ 218 บาท!
จะเป็นเรื่องดีมากถ้าคนไทยจำนวนมาก ๆ ได้ถือหุ้น ปตท. แล้วได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ทว่า ความจริง ณ วันแรก 15 พฤศจิกายน 2544 ที่อ้างว่าเปิดให้คนทั่วไปจองหุ้น เหลือเชื่อ! เกลี้ยงชั่วพริบตา
ก่อนหน้านั้น นักวิชาการสายสังคมนิยม ภาคประชาชน คัดค้านการแปรรูปสาธารณูปโภคจำเป็นต่อความมั่นคงของประเทศ ให้กลายเป็นเครื่องมือแสวงหากำไรไม่สิ้นสุดของกลุ่มธุรกิจการเมือง แต่ไม่อาจต้านทาน “ทักษิโณมิกส์”
ประชาชนพยายามฟ้องศาลปกครอง สั่งให้ ปตท.แก้ผิดเป็นถูก รัฐบาลและกระทรวงคลังก็หน้ามึนเมินเฉย (ฟ้อง 31 ส.ค.49 ศาลตัดสินยกฟ้อง 14 ธ.ค.2550)
ล่าสุด ภาคประชาชนฟ้องต่อศาลปกครองใหม่ (2 ต.ค.2554) ศาลรับไว้พิจารณา( 7 ต.ค.2554) แต่ประชาชนจะมีโอกาสเห็นเหมือนศาลลอสแองเจลิส ตัดสินหรือไม่? หรือจะตอกย้ำ ทรราชพลังงาน (The Tyranny of Oil) และปิโตรธิปไตย (Petrocracy)
เพราะล่าสุด รัฐบาลนี้ยังโยนหินถามทาง จะขายหุ้นกระทรวงคลังถืออยู่ประมาณ 51 เปอร์เซ็นต์ออกไป เพื่อหนีการเป็นรัฐวิสาหกิจ หนีการตรวจสอบ และเอากำไรเต็มเหยียด ไม่รู้จักอิ่ม
ฉายภาพการสูบทรัพยากรไม่จบสิ้น ข้อมูล เชฟรอน ผลิตน้ำมันดิบได้ 66% และก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย 68% ของจำนวนผลิตทั้งหมดในไทย ยังไม่นับรวมผลิตก๊าซจากพม่า(ราว 27% ที่ไทยใช้)
เอกสาร เชฟรอน ระบุตั้งแต่ 2505 ถึง 2550 (45 ปี) จ่ายค่าภาคหลวง 157,153 ล้านบาท โดยลงทุนไปทั้งสิ้น 515,235 ล้านบาท
เอกสารไม่บอกรายได้และกำไรเท่าใด แต่ก็คำนวนจากค่าภาคหลวงร้อยละ 12.6 ของรายได้ ก็ประมาณ 1.247 ล้านล้านบาท หักค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม แล้ว มีกำไรประมาณ 3.9 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 77 ของเงินลงทุน
กำไรงามขนาดนี้ เป็นคำตอบได้ ทำไมนักการเมืองจึงให้สัมปทานล่วงหน้ากันนานๆ
แสบ ลดหย่อนค่าภาคหลวง
Energy Information Administration (EIA) หน่วยงานของสหรัฐฯ จัดไทยติดกลุ่ม 30 ประเทศผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ (จาก 224 ประเทศ) ในปี 2551 ไทยอยู่อันดับ 27 ผลิตเกิน 1 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปี สูงกว่าสมาชิกโอเปกหลายประเทศ สูงกว่าแหล่งอลาสก้าของสหรัฐฯ ผลิตได้ 28 ล้านลิตรต่อวัน
แสบ ลดหย่อนค่าภาคหลวง
Energy Information Administration (EIA) หน่วยงานของสหรัฐฯ จัดไทยติดกลุ่ม 30 ประเทศผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ (จาก 224 ประเทศ) ในปี 2551 ไทยอยู่อันดับ 27 ผลิตเกิน 1 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปี สูงกว่าสมาชิกโอเปกหลายประเทศ สูงกว่าแหล่งอลาสก้าของสหรัฐฯ ผลิตได้ 28 ล้านลิตรต่อวัน
แสบ อัฐยาย อิงสิงคโปร์
น้ำมันในไทยแพง ไม่เกี่ยวกับตลาดโลกผลิตลดหรือเพิ่มขึ้น สาเหตุแท้จริง น้ำมันแพงเพราะ ปตท.ตั้งสูตรขึ้นมาดังนี้
น้ำมันกลั่นสำเร็จรูปในประเทศ + ค่าขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์ + ค่าสูญเสียระหว่างขนส่ง + ค่าปรับปรุงมาตรฐานสิงคโปร์มาเป็นมาตรฐานไทย + ค่าประกันภัยจากสิงคโปร์มาไทย = ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในไทย
แต่ทั้งหมดนี้ ไม่เกิดขึ้นจริง เพราะเป็นน้ำมันดิบในไทย เข้าโรงกลั่นไทย ย่อมเป็นมาตรฐานไทยอยู่แล้ว
แต่กลับบวกโสหุ้ยเทียม 2 บาทต่อลิตร แต่ละปีคนไทยใช้น้ำมันสำเร็จรูป 4 หมื่นล้านลิตร เท่ากับคนไทยต้องจ่าย 8 หมื่นล้านบาทต่อปี หลายสิบปีผ่านมา ใครเขมือบ?
ขณะที่ หลายประเทศทั่วโลกการตัดสินใจด้านพลังงานของชาติเป็นอำนาจตรงของประชาชน ด้วยการลงประชามติหรือผ่านรัฐสภา แต่ประเทศไทย อนุมัติให้สัมปทาน สำรวจ กำหนดนโยบาย เป็นสิทธิ์ขาดรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน โดยคำแนะนำของ คณะกรรมการปิโตรเลียม กรณีจำเป็นเพียงขอความเห็นชอบจากครม. ก็พอ
ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลยังต่ออายุสัมปทานพลังงานในอ่าวไทยอีก 10 ปี ให้แก่ 2 บริษัท ขณะที่อายุสัมปทานยังเหลือ 5-6 ปี ได้แก่ 1)กลุ่มเชฟรอน 2)บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม
ประชาชนเสียหาย ทางตรง คือ ราคาค่าผ่านท่อสูงขึ้น ราคาก๊าซเพิ่มขึ้น ต้นทุนผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แล้วผลักภาระให้ประชาชน ทางอ้อม ต้นทุนผลิตสินค้าทุกประเภทเพิ่มขึ้น กระทบผู้บริโภค
เพิ่มค่าบริการส่งก๊าซ ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น สวนทางกับประเทศคู่แข่งที่แนวโน้มราคาลดลง และสวนทางกับความจริงที่ไทยผลิตได้เพิ่มขึ้นทุกปี
เงินยังรั่วไหลเข้ากระเป๋าคนน้อยนิดแบบลาภมิควรได้ กล่าวคือ พนักงานของรัฐระดับสูงชอบนั่งควบหลายเก้าอี้ในบริษัทเอกชนเครือ ปตท. เพราะค่าตอบแทนรายเดือน เบี้ยประชุม และเงินโบนัส สูงมาก
บริษัทในเครือปตท. จ่ายเบี้ยประชุม โบนัส ในรอบ 3 ปีรวม 118,712,187.11 บาท ถ้านับตั้งแต่กลายพันธุ์ 2544 - 2554 จะเป็นเท่าไหร่
แต่ประเทศอื่น เช่น คกก.บริษัทพลังงานแห่งชาติของนอร์เว ปี 2550 มียอดขายมากกว่าไทย 2 เท่า กำไรมากกว่า 3 เท่า แต่กรรมการน้อยกว่า ประชุมมากกว่า ค่าตอบแทนน้อยกว่าด้วยซ้ำ
ปตท.สผ.มีรายได้ปี 2544 ถึงกันยายน 2553 มีกำไรขั้นต้นรวม 566,419 ล้านบาท (ร้อยละ 78) และกำไรก่อนหักภาษีรวม 386,471 ล้านบาท เฉลี่ยร้อยละ 55 ต่อปี
กลลวง LPG, NGV
น่าประทับใจไหม ก่อนแปรรูป ปตท.เข้าตลาดหลักทรัพย์ รัฐบาลใช้นโยบายตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ถังละ 160 บาท หลังเข้าตลาดแล้ว ราคาพุ่งเป็นถังละ 290 - 300 บาท
แอลพีจี ขาดแคลนนับแต่ พ.ศ.2551 ส่งผลสืบเนื่องจนปัจจุบัน สาเหตุหนึ่ง ก๊าซแอลพีจีผลิตในประเทศพอต่อภาคครัวเรือนและยานยนต์ แต่ปริมาณใช้แบบก้าวกระโดดอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
แต่รัฐกลับนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไปชดเชยนำเข้าก๊าซแอลพีจี -กลุ่มปิโตรเคมี ซื้อต่ำกว่าราคาตลาดโลก แต่กลุ่มปิโตรเคมีไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันสักบาท (เพิ่งมีมติครม.ให้ส่งเร็วๆนี้) สาเหตุที่สอง ปตท. ล่าช้าสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติโรงที่หก (เพิ่งเสร็จปี 2554)
ความจริง คือ ก๊าซแอลพีจีผลิตในประเทศขาดแคลนเพราะภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้เพิ่มอย่างก้าวกระโดด สิ้นปี 2552 เกิดภาระหนี้ชดเชยก๊าซแอลพีจีนำเข้า 5,818 ล้านบาท ในปี 2553 เพิ่มเป็นกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มปิโตรเคมี ไม่รับผิดชอบภาระนี้เลย
ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก เช่น Henry Hub ลดลงจาก 14 ดอลลาร์ฯต่อล้านบีทีอยู่ พ.ศ.2551 สู่ระดับต่ำกว่า 5 ดอลลาร์ฯต่อล้านบีทียูในปัจจุบัน
ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักของก๊าซเอ็นจีวี ดังนั้น ที่ปตท.ขอขึ้นราคาปลีกจาก 8.50 บาท เป็น 10.20 บาทต่อกิโลกรัม อ้างต้นทุนอยู่ที่ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม จึงมิได้อิงกลไกตลาดเสรี ปตท.เคยเสนอให้ร่วมรับภาระ คือ ปตท.รับภาระ 2 บาทต่อกิโลกรัม กองทุนน้ำมันฯ 2 บาท และประชาชนแบกภาระ 2 บาทนั้นย่อมไม่เป็นธรรมกับประชาชน
2.ก๊าซแอลพีจี, เอ็นจีวี ก็เข้าทำนอง“อัฐยาย” คณะอนุกรรมาธิการฯ สรุปสาเหตุไว้ 2 ประการ
ประการที่ 1 แอลพีจี ผลิตได้พอเพียงต่อภาคครัวเรือนและยานยนต์ แต่ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมีใช้ปริมาณก้าวกระโดด กระทรวงพลังงาน ระบุไทยส่งออกขายแอลพีจี พ.ศ.2535 เป็นต้นมา กระทั่ง พ.ศ.2551 กลับต้องนำเข้าแอลพีจี 452,000 ตัน
เดิมที ปตท.อ้างว่าภาคยานยนต์ใช้สูงขึ้น แต่ตัวเลขจริงปี 2549 อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ใช้แอลพีจี 827,000 ตัน ปี 2551 เพิ่มเป็น 1,230,000 ตัน ในช่วงเดียวกัน ภาคยานยนต์ใช้เพิ่มขึ้น 317,000 ตัน ปี 2552 ภาคครัวเรือนและภาคยานยนต์ใช้แอลพีจี รวมกัน 666,000 ตัน (ลดลงจากปี 2551 ใช้ 766,000 ตัน) แต่ภาคปิโตรเคมีใช้เพิ่มเป็น 1,700,000 ตัน
ประการที่ 2 กบง.นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ชดเชยนำเข้าก๊าซแอลพีจี โดยกลุ่มปิโตรเคมีซื้อต่ำกว่าราคาตลาดโลก แถมไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯสักบาท
แสบ อัดก๊าซขยะผสมขาย
เมื่อปี 2552 ก๊าซดิบจากอ่าวไทยสูบได้ 3,146 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โรงแยกก๊าซ 5 โรง ได้เพียง 1,770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน(ก๊าซแอลพีจี ชนิดดี) เหลือก๊าซดิบ(ชนิดเลว) 1,376 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งปตท.นำออกขายเป็นก๊าซเอ็นจีวี (โรงแยกก๊าซที่ 6 เพิ่งสร้างเสร็จต้นปี 2554)
ตัวเลขผลประกอบการ 9 เดือนปี 2553 ของ บมจ.ปตท. สูบก๊าซจากอ่าวไทยได้ 3,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตวัน ถ้าโรงแยกก๊าซที่ 6 สร้างเสร็จแล้ว ก๊าซแอลพีจีย่อมเพียงพอและราคาต้องลดลง แต่เป็นช่วง 9 เดือน ที่ได้กำไรก่อนหักภาษีเงินได้ 104,697,982,549 กำไรสุทธิ 74,080,818,564
ปัญหาคือ สหพันธ์การขนส่งแห่งประเทศไทย คัดค้าน ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน กำหนดคุณภาพก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ พ.ศ.2552 (มิ.ย.2552 มีผลบังคับใช้ 1 ก.ย.2552) กำหนดค่าดัชนีพลังงานความร้อน(วอบบี้) ไม่เกินร้อยละ 42 และค่าคาร์บอนไดออกไซด์(Co2 ) ไม่สูงกว่าร้อยละ 18 โดยมีการอัด Co2 ผสมลงเอ็นจีวีด้วย
คณะอนุกรรมาธิการฯ ศึกษาตรวจสอบพบ ระหว่าง ส.ค.-ก.ย.2553 ปั้มก๊าซเอ็นจีวีติดตั้งเครื่องอัดก๊าซ Co2 จริงตามร้องเรียน อีกทั้ง มาตรฐานสากล กำหนด Co2ในก๊าซธรรมชาติไม่เกินร้อยละ 3 ซึ่งก๊าซแหล่งบนบก โดยเฉพาะแหล่งสิริกิติ์ กำแพงเพชร, แหล่งน้ำพอง ขอนแก่น บริสุทธิ์มาก Co2 เจือปนเพียงร้อยละ 1-2 ส่วนก๊าซอ่าวไทยและอันดามัน เจือปนร้อยละ 6.2 - 14.4 (ไม่ถึงร้อยละ 18 ตามประกาศ)
Co2 ในก๊าซต่ำ เครื่องยนต์จะได้ค่าวอบบี้สูงถึง 46 - 52.9 เมกะจูล/ ลูกบาศก์เมตร (MJ/m3)
แต่มาตรฐานกรมธุรกิจพลังงานของไทย กำหนดเพียง 37 – 42 MJ/m3 เท่านั้น
สหพันธ์การขนส่งฯ ชี้ประเด็นว่าประกาศฉบับนี้ค่าต่ำกว่ามาตรฐานถังบรรจุถึง 6 เท่า ฉะนั้นถังจะกัดกร่อนเร็วขึ้น แล้วอะไรจะตามมา!
ณ ตุลาคม พ.ศ.2553 มีรถยนต์เอ็นจีวีสะสมทั้งหมด 211,368 คัน ใช้เอ็นจีวี 5,391 ตันต่อวัน หรือ 1.96 ล้านตันต่อปี ดังนั้น รถยนต์กว่า 2 แสนคันจ่ายซื้อเอ็นจีวี 100 บาท จะได้มวลก๊าซเชื้อเพลิงแค่ 82 บาท อีก 18 บาทถูกยัดเยียดก๊าซขยะ จึงวิ่งได้สั้นลง ซ้ำปล่อย Co2 ออกสู่บรรยากาศถึง 7 แสนตันต่อปี
ขณะที่ “โครงการลดโลกร้อนฯ” ลด Co2 ได้เพียง 2 แสนตันต่อปีเท่านั้น
ผลการศึกษาข้อมูลราคาปลีกน้ำมันปี 2553 เฉลี่ยรายวัน มีอัตราดังต่อไปนี้
-น้ำมันเบนซิน 91 แพงกว่าราคาฐาน ณ สิ้นปี 2552 ร้อยละ 3.61
-ส่วนเบนซิน 95 แพงขึ้นร้อยละ 3.10 ดีเซล แพงถึงร้อยละ 5.58
ซึ่งราคาน้ำมันสำเร็จรูปควรจะเป็นมีสูตรคำนวณดังนี้
-ราคาฐานเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูปในรอบ 10 วันสุดท้ายปี 2552 - หาต้นทุนเฉลี่ยน้ำมันดิบในรูปค่าเงินบาทปี 2553 เทียบกับราคาฐานปี 2552 (บวกเพิ่มกรณีต้นทุนเพิ่มหรือหักออกกรณีต้นทุนลดลง)
พบว่า -เบนซิน 91 สูงกว่าควรเป็น 0.98 บาทต่อลิตร (หักต้นทุนเพิ่มจากกองทุนน้ำมันแล้ว 0.50 บาท) เพียง 11 เดือน (ม.ค.–พ.ย.2553) ใช้ไป 4,096.5 ล้านลิตร ประชาชนจ่ายสูงเกิน 4,014.57 ล้านบาท
-เบนซิน 95 สูงกว่าควรเป็น 1.34 บาทต่อลิตร ช่วง 11 เดือนใช้ไป 71.4 ล้านลิตร จ่ายเกินไป 102.10 ล้านบาท
-ดีเซล สูงกว่าควรเป็น 1.65 บาทต่อลิตร ช่วงเดียวกันใช้ไป 17,095.6 ล้านลิตร ต้องจ่ายสูงเกินควร 28,207.74 ล้านบาท ที่สำคัญดีเซลถูกงดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจาก 85 สตางค์ต่อลิตร และได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนฯ 35 สตางค์ต่อลิตร ดังนั้น ควรถูกลงถึง 1.20 บาทต่อลิตร
รวมน้ำมันสามชนิด 11 เดือนประชาชนจ่ายแพงสูงเกินควรถึง 32,324.40 ล้านบาท...เป็น อยู่ คือ มากี่ปีแล้ว ลองคำนวณดู!
ดับเบิลแสบอีก ตรงที่โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยได้มาตรฐานยูโร 4 จะได้เงินอุดหนุนจากรัฐอีกเดือนละ 200 กว่าล้านบาท เพื่อขจัดกำมะถันในน้ำมัน(ค้นกระทรวงพลังงาน)
ถ้าใช้น้ำมันในอ่าวไทยก็ไม่ต้องจ่ายค่ากำจัดกำมะถัน
ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เร่งเครื่องสร้างสถานการณ์ทิศทางข่าวด้านพลังงาน ปล่อยคนท่าทางดี ดูเหมือนจะมีความรู้ ออกมาชี้นำสังคม โน้มนำให้คล้อยตามถึงพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล ควรจะออกมาในรูปพัฒนาร่วมกัน ชู เจดีเอ โมเดลไทย-มาเลเซีย ขณะเดียวกัน ก็ปั่นกระแสตามที่ชูนโยบายประชานิยมหาเสียง
นายพิชัย นริพทะพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พรรคเพื่อไทย พูดย้ำหลายหน
“ประเทศไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 1.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่ามีความมั่นคงสูงและใช้อย่างไรก็ไม่มีวันหมดดังนั้น ควรที่จะมีการนำไปลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งการเข้าไปซื้อแหล่งพลังงานในต่างประเทศและทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ให้เพียงพอที่จะเป็นปริมาณสำรองพลังงานในประเทศ ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ควรจะมีการพิจารณา”(24 กันยายน 2554)
แต่คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ไม่เห็นด้วย
เรื่องนี้น่าจะจบม้วน เพราะนอกจากไม่สมเหตุสมผลแล้ว ตัวบทกฎหมายก็ไม่อนุญาตด้วย
พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551)
ความจริงปตท. ในนามบริษัทลูก คือ ปตท.สผ.อ. ไปลงทุนเสี่ยงกับพลังงานในต่างแดนอยู่แล้ว เช่นปลายปี 2553 ไปลงทุนนอกประเทศก้อนใหญ่ที่สุด มูลค่า 68,400 ล้านบาท (ราว 2,280 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เกือบร้อยละ 70 ของการลงทุนในปี 2554 (ตั้งไว้ 94,475 ล้านบาท) ร่วมกับบริษัทต่างชาติ ในแหล่งทรายน้ำมัน (Oil Sands) เมือง Athabasca รัฐอัลเบอร์ท่า( Alberta) ฝั่งตะวันตกประเทศแคนาดา พื้นที่ 257,200 เอเคอร์
ปริมาณ Bitumen คาดว่าจะผลิตได้ประมาณ 4,300 ล้านบาร์เรล โดยบริษัท Statoil ใช้เทคโนโลยีไอน้ำแบบ Steam Assisted Gravity Drainage (SAGD) ในการขุดทรายน้ำมันใต้ดิน คาดว่าจะมีอายุโครงการไม่น้อยกว่า 40 ปี
บทที่ ๔ ทุนไร้พรมแดน - นอมินีบุก
พื้นที่ทางทะเล 26,000 ตารางกิโลเมตร กัมพูชากับไทยต่างอ้างสิทธิ์และให้สัมปทานสำรวจซ้อนกัน
พ.ศ.2550 เชฟรอน มีส่วนแบ่งขุดเจาะในอ่าวไทยร้อยละ 66 และมียอดผลิตร้อยละ 68 ของปริมาณผลิตในไทย นี่ยังไม่นับรวมก๊าซพม่า (ร้อยละ 27 ที่ไทยผลิตได้)
รายงานตั้งแต่ พ.ศ.2505 -2550 (45 ปี) เชฟรอนจ่ายค่าภาคหลวงรวม 157,153 ล้านบาท โดยลงทุนไป 515,235 ล้านบาท คำนวนค่าภาคหลวงร้อยละ 12.6 ของรายได้ ก็จะมีรายรับราว 1.247 ล้านล้านบาท หลังหักค่าภาคหลวง ค่าภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะมีกำไรราว 3.9 แสนล้านบาท(ร้อยละ 77 ของเงินลงทุน)
มหาเศรษฐีห้างแฮร์รอดส์ (Harrods) จากอังกฤษ สัญชาติอียิปต์ ลงทุนธุรกิจน้ำมันในไทยผ่าน ปตท.สผ. ก่อนที่บริษัทแม่ ปตท.จะเข้าตลาดหุ้น พ.ศ.2544
พ.ศ.2542 บ.แฮร์รอดส์ เอ็นเนอร์ยี่ ได้สิทธิสำรวจน้ำมัน 4 แปลงในอ่าวไทย ห่างฝั่งระยอง 150 กิโลเมตร ศักยภาพขุดเจาะวันละ 8,000 บาร์เรล ซึ่งแฮร์รอดส์ฯถือหุ้นร้อยละ 50
08 ธ.ค.2549 Pearl Oil ได้สัมปทานสำรวจขุดเจาะและผลิตเพิ่มอีก 1 แปลงบริเวณตอนใต้อ่าวไทย สมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ ซึ่งยังมีปัญหาเขตแดนนั่นเอง
ในกัมพูชา เชฟรอน ได้สำรวจขุดเจาะพบน้ำมันดิบและก๊าซ ตั้งแต่ พ.ศ.2547 ปัจจุบัน เชฟรอนได้รับสัมปทานขุดเจาะ แล้ว ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล(เครือปตท.) ร่วมทุนด้วย
ปตท.สผ. ได้สัมปทานกัมพูชาขุดเจาะน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งบริเวณอ่าวไทย แหล่งเดียวกันนี้กัมพูชาเรียก “บล็อก B” ส่วน ปตท.สผ. เรียก “G9 /43” จุดที่ต้องเจรจาเขตทางทะเลเสียก่อน
บทที่ ๕ ฮุน เซน คือ กัมพูชา
เรื่องนี้ไม่ต้องสงสัย นับแต่สงครามกลางเมือง พ.ศ.2518 เป็นต้นมา กัมพูชาสูญเสียบอบช้ำมาก กระทั่ง 16 ต.ค.2534 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็น ตั้งหน่วย UNAMIC ช่วยกัมพูชาดูแลการหยุดยิงโดยสมัครใจ ยูเอ็นประคบประหงมกัมพูชามาตลอด ต่อมา ตั้งองค์การ UNTAC เพื่อเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปกัมพูชา พ.ศ.2546
ทรัพยากรกัมพูชา ถูกผู้มีอำนาจบางกลุ่มจัดสรรแบ่งพื้นที่ทุกประเภท ป่าไม้ เหมืองแร่ และเช่าที่ดินยาวนานถึง 99 ปี
เฉพาะเรื่องแหล่งน้ำมัน ...มกราคม 2542 มีการแปรญัตติแก้ข้อบังคับการปิโตรเลียม ค.ศ.1991 เปลี่ยนหลักเกณฑ์วิธีประมูล ให้กระทรวงอุตสาหกรรม“สามารถเลือกวิธีอื่น ออกหนังสือเชิญบริษัทธุรกิจให้เข้าร่วมงานประมูลได้” ไม่ต้องจัดประกวดราคาอย่างเปิดเผย 6 เดือนก่อนจะญัตติแก้ไขจะผ่าน ฮุนเซน ทำรัฐประหารยึดอำนาจแต่ผู้เดียว ปลดนายกรัฐมนตรีร่วมคือ เจ้ารณฤทธิ์
นายสก อัน ฉายแววโดดเด่นคู่กับฮุน เซน และร่วมสร้างฐานอำนาจด้วยวิธีการอำมหิตในช่วงแบ่งทรัพยากรต่างๆ ให้สัมปทานแก่ต่างชาติ...สายสัมพันธ์ทั้งคู่กระชับแน่น ด้วยการแต่งลูกหลานเป็นดองกัน
การตรวจสอบบกพร่อง แม้ Chevron เป็นสมาชิก EITI (กลุ่มส่งเสริมการสร้างความโปร่งใสในการตรวจสอบรายได้ที่ได้จากอุตสาหกรรมทรัพยากรธรรมชาติ) วัตถุประสงค์คือส่งเสริมให้พิสูจน์ความจริง เผยแพร่ข้อมูลจ่ายเงินต่างๆ ของบริษัท รวมถึงพยายามให้นำเสนอรายรับของรัฐที่ได้จากพลังงานและแร่ธาตุ แต่เชฟรอน ก็กระทำสิ่งขัดแย้ง
ดูฐานข้อมูลแผนที่แหล่งพลังงานประเทศไทยในทะเล และบนบก (กลางเล่ม)
บทที่ ๖ เขมรเกเร กับไทยทรยศ
กรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะแหล่งพลังงานในเกาะ สแปรตลีย์ หมู่เกาะพาราเซล ทั้งจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ต่างแย่งกันอยากได้ แล้วสหรัฐฯก็ยื่นมือมาสอด(เสือก) ยุและยันจีน
แต่รัฐบาลไทย นักกินเมือง ไม่รู้สึกรู้สา อ้างแต่กลัวกระเทือนการค้าการลงทุน ทั้งๆที่เพื่อนบ้านกระทำขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่ลงนามเป็นภาคี
อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทะเล 4 ฉบับ ได้แก่ 1.อนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง 2.อนุสัญญาว่าด้วยทะเลหลวง 3.อนุสัญญาว่าด้วยการประมงและการอนุรักษ์สิ่งที่มีชีวิตในทะเลหลวง และ 4.อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป
ทั้งหมดรวมเรียกว่า อนุสัญญาเจนีวา 1958 (Geneva Conventions 1958)
ไทยลงนามเป็นภาคีอนุสัญญาทั้ง 4 ฉบับ เมื่อ 29 เมษายน ค.ศ.1958 (พ.ศ.2501) และให้สัตยาบันเมื่อ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1968 (พ.ศ.2511)
ทำความเข้าใจเรื่อง อำนาจอธิปไตย (sovereignty) เหนือน่านน้ำภายใน เช่นเดียวกับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน (territory) ทั้งเหนือท้องน้ำ ท้องน้ำ ใต้ดิน และน่านฟ้า
ไหล่ทวีป มีลักษณะพิเศษ คือ เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียว เป็นสิทธิที่รัฐชายฝั่งมีอยู่แต่ดั้งเดิม (inherent right) โดยไม่ต้องประกาศเข้ายึดถือ รัฐชายฝั่งได้สิทธิอธิปไตยโดยอัตโนมัติ
ไทยประกาศทะเลอาณาเขตก่อนกัมพูชาและเวียดนาม แล้วกัมพูชาก็ประกาศตามหลังทับซ้อน ตีตั๋วต่อ สวมตอ ฮุบพลังงานในทะเล
พิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาเดือดระอุช่วง พ.ศ.2550 ถึง 3 กรกฎาคม 2554 จากการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และรอคณะกรรมการมรดกโลกเห็นชอบแผนพัฒนาบริหารพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นมรดกโลกด้วย
หากพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งประเด็น ข้อมูล น้ำหนักที่ตัวแทนฝ่ายไทยนำไปเจรจา รวมถึงท่าทีทางการทูต และการทหารของประเทศไทยในหลายรัฐบาล ห่วยโคตร! บานปลายสู่การจับ 7 คนไทยในดินแดนไทย(29 ธันวาคม 2553) นำไปคุมขังตัดสินมีความผิด ส่วนรัฐบาลไทยไร้น้ำยา พฤติการณ์ส่อซ้ำวีระ สมความคิด กับราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ โดนข้อหาหนักเป็นจารชน
บานปลายถึงขั้นสู้รบตามแนวชายแดน รอบแรกต้นกุมภาพันธ์ 2554 ระลอกที่สองตั้งแต่ 22 เมษายน กินเวลาหลายสัปดาห์จนกระทั่งซาก่อนไทยจะเลือกตั้งทั่วไป ผู้บังคับบัญชากองทัพไทยทำหน้าที่อย่างน่าผิดหวัง ทหาร และคนไทยชายแดนต้องเสียชีวิต บาดเจ็บจำนวนมาก บ้านเรือนเสียหายอีกไม่น้อย ต้องอพยพครัวเรือนนับแสนคน
อินโดนีเซียมาเป็นคนกลางเจรจา ไม่ชัดเจน และยุติไม่ได้ กระทั่ง กัมพูชาอ้างเหตุฟ้องศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ต้องถือว่าค่อนไปทางกัมพูชาได้ประโยชน์ เมื่อ 18 กรกฎาคม 2554 ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ถอนทหารทั้งสองฝ่ายออกจากบริเวณศาลกำหนดเป็นเขตปลอดทหาร เนื้อที่ประมาณ 17 ตารางกิโลเมตร
จากนี้ไปต้องรอศาลโลกจะพิจารณารับ “ตีความ” คำพิพากษาปราสาทพระวิหาร พ.ศ.2505 หรือไม่ ซึ่งดูรูปการสู้ในศาลโลกของคณะผู้แทนฝ่ายไทยในยกแรกแล้ว ไร้น้ำหนักและความแหลมคม ประเทศไทยลาออกจากภาคีศาลโลกตั้งแต่ พ.ศ.2506 มีสิทธิ์ไม่ยอมรับการเข้าสู่การพิจารณาต่อการรื้อฟื้นคดีเก่าซึ่งขัดต่อธรรมนูญศาลโลก
ฤๅ! กระแสข่าวปรองดอง เกี๋ยเซี๋ยะ กันได้ผล
เพราะทั้งหมดนั้นเดินไปตาม ทำไปตาม หรือ MOU 2543 และ MOU 44 กับ JC44
เริ่มแต่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รมช.ต่างประเทศ กับ นายวา คิม ฮง ลงนามร่วมในบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและทำหลักเขตแดนทางบก 2543
มายุคพรรคไทยรักไทย ในนามรัฐบาลไทยไปเยือนกัมพูชา 18 มิ.ย.2544 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.ต่างประเทศ กับนายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ลงนามว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน หรือ MOU 2544
วันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีทักษิณ กับนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ลงนามคำแถลงการณ์ร่วมสองฝ่าย (Joint Communique) หรือ JC 2544
ฝ่ายไทยเคารพ MOU 2543 ไว้เหนือเกล้า เหนือรัฐธรรมนูญ ก่อความยุ่งยากให้ประเทศไทยจนบัดนี้
คราวนี้ พรรคเพื่อไทย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มาเร่งเครื่อง MOU 2544 ขุมทรัพยากรปิโตรเลียม เกิดข้อครหาผลประโยชน์ทับซ้อนอีกแล้ว
ปูมเจรจาทางทะเล
ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นำเสนอการเจรจาท่าทีอย่างละเอียดต่อพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา อันเนื่องจาก MOU 2544
ทั้งไทย-กัมพูชา ถ้อยที่ถ้อยอาศัย และชูพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia-Thailand Joint Development Area) เป็นโมเดลเจรจา ซึ่งพื้นที่อ้างกับมาเลเซียนี้ ข้อมูลด้านธรณีวิทยาธรณีฟิสิกส์ และการประเมินผลจะพบก๊าซธรรมชาติถึง 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
ซึ่งสรุปว่า โมเดลนี้ไม่เป็นคำตอบสำหรับประชาชนไทย
บทที่ ๗ คำตอบอยู่ที่พลเมือง
ตอกย้ำว่า ทำไมประชาชนจึงปล่อยให้บ้านเมืองไทยมาถึงขั้นนี้ โกงกินมหาศาล และขัดแย้งล้มล้างฆ่านองเลือดหลายต่อหลายครั้ง ทำไมอำนาจอยู่ในมือพวกนี้มากเกินไป และคนไทยจะต้องทำอย่างไร?
----------------------
สนใจหนังสือ ติดต่อ คุณก้อย 0839998310
https://www.facebook.com/pcprasit/posts/2439795325348:0
Cr.ประสิทธิ์ ไชยชมพู
บทความสนับสนุนโดย FXPro
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี!!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman