ถ้าไทย ดอกเบี้ย 5% เท่าสหรัฐอเมริกา จะเกิดอะไรขึ้น ?

ถ้าไทย ดอกเบี้ย 5% เท่าสหรัฐอเมริกา จะเกิดอะไรขึ้น ? /โดย ลงทุนแมน อัตราดอกเบี้ย 5% ประเทศไทยเคยมีมาแล้ว ตัวเลขนี้ไม่ไกลเกินฝัน หัวข้อที่น่าสนใจคือ ถ้าสมมติให้วันนี้ ประเทศไทยมีอัตราดอกเบี้ยที่ 5% มันจะเกิดอะไรขึ้น ? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเราช่วงนี้ คือทุนต่างชาติไหลออกจากทั้งตลาดหุ้น และตราสารหนี้
เฉพาะตลาดหุ้นไทย ปีนี้ ต่างชาติขายไปแล้ว 150,000 ล้านบาท เงินบาทไทยอ่อนค่าจนล่าสุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว
หนึ่งในท่าประจำ ที่จะช่วยให้ทุนต่างชาติกลับมา ก็คือ การขึ้นดอกเบี้ย เพื่อเพิ่มแรงจูงใจจากผลตอบแทนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
บทความนี้ ลงทุนแมนจะลองยกตัวอย่างเล่น ๆ ว่าถ้าสมมติวันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ขึ้นดอกเบี้ย ไปเท่ากับสหรัฐอเมริกา ที่ 5.5%
ที่อัตราดอกเบี้ยสูงขนาดนี้ เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร
สิ่งที่เกิดขึ้นแบบตรงไปตรงมา ก็คือ ค่าเงินบาท จะชะลอการอ่อนค่าลง
จากข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ดอกเบี้ยบ้านเรา 2.5% ดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกา 5.5% ต่างกันถึง 3%
หากเราขึ้นดอกเบี้ย ไปเท่ากับสหรัฐอเมริกา ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยตรงนี้ จะกลายเป็นศูนย์
ถ้าเป็นแบบนี้ ทุนต่างชาติบางส่วน ก็อาจจะหยุดไหลออกจากสินทรัพย์ไทย ค่าเงินบาทจึงน่าจะชะลอการอ่อนค่าลง
เรื่องเป็นแบบนี้ก็ดูเหมือนจะดี
แต่สิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจไทย กำลังจะเกิดดังต่อไปนี้..
ตัวเลขดอกเบี้ยจาก 2.5% ไป 5.5% ดูเหมือนเป็นตัวเลขไม่มากในสายตาของบางคน แต่ในมุมของคนจ่ายดอกเบี้ย มันคือการเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เช่น จากจ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 25,000 บาท จะเป็น 55,000 บาท ซึ่งหลายคนอาจจะไม่สามารถจ่ายได้ เพราะรายได้ของเขาไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้นสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นก็คือ
1. ประชาชนต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น
คนกู้ซื้อบ้าน ซื้อคอนโดฯ ซื้อรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ จะต้องผ่อนค่างวดสูงขึ้น หากรายได้ของเราเพิ่มขึ้นไม่พอ ตัวเราก็จะได้รับผลกระทบเต็ม ๆ
หรือหากว่าเราเป็นคนที่กำลังตัดสินใจจะซื้อบ้าน ซื้อคอนโดฯ หลายคนน่าจะชะลอการซื้อออกไปก่อน ดังนั้นธุรกิจที่ขายของชิ้นใหญ่ ที่คนส่วนใหญ่ต้องใช้เงินกู้ในการซื้อ ก็จะชะลอการซื้อ และธุรกิจเหล่านั้นจะได้รับผลกระทบ..
2. ต้นทุนการเงินของภาครัฐ รวมถึงบริษัทเอกชน จะเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.5%
- ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทย 10 ปี อยู่ที่ 2.6%
- ดอกเบี้ยหุ้นกู้บริษัทเอกชน เรตติง AAA 5 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ราว 3.7%
หากดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นอีก 3% เป็น 5.5% ภาระดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทย และดอกเบี้ยหุ้นกู้เอกชน ที่ออกใหม่ ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย
ในขณะที่บริษัทเอกชน ที่ต้องกู้ยืมเงินอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาโครงการ เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ถ้าราคาบ้าน ราคาคอนโดฯ ไม่เพิ่มตาม กำไรของกลุ่มธุรกิจนี้ก็จะลดลง
นอกจากนั้น สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อให้รายย่อย เช่น สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต ที่ต้องระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้
ถ้ารายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจชนเพดานสูงสุดของกฎหมายแล้ว ก็จะทำให้กำไรของธุรกิจกลุ่มนี้ลดลงเช่นกัน
นอกจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยแล้ว ก็ยังมีเรื่องของความคุ้มค่าในการลงทุนด้วย เช่น การสร้างห้างสรรพสินค้า โรงไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ
ซึ่งโครงการเหล่านี้จะต้องพึ่งพาเงินกู้ยืมสูง เมื่อดอกเบี้ยต่ำ โครงการจะมีผลตอบแทนที่ดึงดูดให้ลงทุน
แต่พอดอกเบี้ยสูง โครงการที่กำไรบาง พอนำมาคำนวณต้นทุนการเงินใหม่ อาจจะขาดทุน จนต้องยุบโครงการไป หรือถูกเลื่อนออกไปก่อน
พอโครงการลงทุนลดลง สิ่งที่ตามมาก็คือ การจ้างงานจะไม่เกิด ค่าแรงจะไม่เพิ่ม รวม ๆ แล้วเศรษฐกิจทั้งประเทศ จะชะลอตัวลง
สำหรับบางบริษัท ที่ต้องการแสวงหาผลกำไร และการเติบโต ที่ต้องลงทุนอยู่ตลอดเวลา ก็จะมีแนวโน้มที่จะหันไปลงทุนในโครงการที่มีความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนชดเชยกับต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น
3. ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลง
ถ้าถามว่า ดอกเบี้ย เกี่ยวอะไรกับ ตลาดหุ้น ?
ยกตัวอย่างเช่น แต่เดิมหลายคนลงทุนในตลาดหุ้น เพราะหวังเงินปันผลปีละ 4% เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากที่ 1% ก็ดูเหมือนจะคุ้มค่าความเสี่ยงของหุ้น
แต่ถ้าเราฝากเงินในธนาคาร โดยมีความเสี่ยงต่ำ แล้วได้ดอกเบี้ย 5.5% ก็จะทำให้คนย้ายเงินจากหุ้น กลับมาฝากธนาคารแทน
ดังนั้นราคาหุ้นจะต้องปรับตัวลงมา ให้ผลตอบแทนต่อราคาหุ้น ดึงดูดมากขึ้น หรือพูดง่าย ๆ คือ P/E เฉลี่ยของตลาดจะลดลง
พูดถึงผลกระทบกันแล้ว คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วใครจะได้ประโยชน์กับการขึ้นดอกเบี้ยกันบ้าง ?
- คำตอบแรก ก็คือ ธนาคารพาณิชย์ อาจได้ประโยชน์บ้าง
โดยเฉพาะธนาคาร ที่มีสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัวเป็นสัดส่วนที่สูง
เพราะธนาคารจะได้ประโยชน์จากผลต่างดอกเบี้ยสุทธิ หรือ Net Interest Margin กว้างขึ้น และผลต่างที่เพิ่มขึ้นตรงนี้ จะไหลลงไปเป็นกำไรทันที
แต่การชะลอโครงการของภาครัฐและเอกชน ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ก็อาจทำให้ยอดปล่อยสินเชื่อลดลง หรือช่วงที่ดอกเบี้ยสูง ย่อมทำให้มีหนี้เสียจากธุรกิจที่ไปต่อไม่ไหวมากขึ้น ทำให้สุทธิออกมาแล้ว กำไรของธนาคารอาจไม่เพิ่มขึ้นก็เป็นได้
- อีกกลุ่มที่ได้ประโยชน์ ก็คือ บุคคลหรือบริษัท ที่มีเงินสดอยู่มาก และชอบสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ
บริษัทที่มีเงินสดมาก เช่น บริษัทประกัน ที่มีสินทรัพย์ลงทุนอยู่ในพันธบัตร พันธบัตรที่จะออกในชุดใหม่ ๆ ก็จะให้ผลตอบแทนที่มากขึ้นกว่าของเก่า แต่ต้องหมายเหตุว่าพันธบัตรระยะยาวที่ถืออยู่ ก็อาจมีราคาลดลงจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งบริษัทก็ต้องถือจนครบกำหนดอายุ โดยได้รับดอกเบี้ยของเดิม
ส่วนผู้สูงอายุที่ชอบฝากเงินในธนาคาร ก็จะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เช่น จากเดิมที่ได้ดอกเบี้ย 25,000 บาท พอดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นก็จะได้เป็น 55,000 บาท
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นเพียงการสมมติว่า หากดอกเบี้ยประเทศไทย ขึ้นมาเท่ากับสหรัฐอเมริกา ที่ 5.5% จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ถ้าถามว่าในอดีต ประเทศไทยเคยมีดอกเบี้ยในระดับนี้ไหม ?
ก็ต้องตอบว่า “มี” ประเทศไทยเคยมีดอกเบี้ยที่ระดับ 5% ในปี 2006 หรือเมื่อ 17 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤติซับไพรม์
ดังนั้นอัตราดอกเบี้ย 5.5% เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ไม่ได้ไกลเกินฝัน เพราะในอดีตก็เคยมีอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้มาแล้ว
การคิดเหตุการณ์เลวร้ายที่จะเกิดขึ้น แล้วมีแผนเตรียมรับมือกับเหตุการณ์นั้น เป็นสิ่งที่นักลงทุนผู้มีประสบการณ์มักจะทำกัน
เพราะเหตุการณ์เหล่านี้ มันอาจเกิดขึ้นในชีวิตของเราสักวันหนึ่ง ซึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นกับตัวเรา เร็วกว่าที่คิด ก็เป็นได้..
Source: ลงทุนแมน

Cr.Bank’s Scholarship Students

-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"