ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2 และงวดครึ่งแรกของปี 2566 ออกมา โดยในภาพรวมพบว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี กลุ่มธนาคารพาณิชย์สามารถทำกำไรสุทธิรวมกันไปถึง 1.21
แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่หากนับเฉพาะไตรมาส 2 กลุ่มธนาคารพาณิชย์ก็สามารถสร้างผลกำไรสุทธิได้ 6.15 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.4% จากไตรมาส 2 ของปีก่อนเช่นกัน
ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยหรือ NIM ของธนาคารหลายแห่งปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ธนาคารหลายแห่งยังคงมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในระดับที่ค่อนข้างสูง เพื่อรองรับความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจในอนาคตที่ยังมีความไม่แน่นอน ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ โดยในภาพรวมทั้ง 10 ธนาคารมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น 5.65 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับธนาคารที่ทำกำไรได้สูงสุดในรอบครึ่งปีแรกที่ผ่านมาคือ SCB โดยมีกำไรสุทธิ 22,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเติบโตขึ้นถึง 18.1%
ตามมาเป็นอันดับ 2 คือ KBANK ที่มีกำไรสุทธิ 21,735 ล้านบาท แต่กำไรปรับลดลงจากช่วงเดียวของปีก่อน 270 ล้านบาท หรือ 1.22% ส่วนธนาคารกรุงเทพหรือ BBL มีกำไรสุทธิ 21,423 ล้านบาท เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 52.2% จาก 14,079 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยที่เติบโตตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมที่ปรับตัวดีขึ้น
ขณะที่ธนาคารกรุงไทยหรือ KTB มีกำไรสุทธิ 20,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตในกลุ่มสินเชื่อที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนโดยรวมปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการขยายตัวของรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ
ด้านกรุงศรีฯ หรือ BAY มีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกที่ 17,102 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.1% จากปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ 9.1% และสินเชื่อเพื่อรายย่อยที่ 4.5% ซึ่งครอบคลุมบริษัทในเครือแห่งใหม่ในประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนาม ส่วนอีกหนึ่งธนาคารขนาดใหญ่อย่างทีเอ็มบีธนชาตหรือ ttb มีกำไรสุทธิในรอบ 6 เดือนแรก 8,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 33.6% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากกลยุทธ์การบริหารพอร์ตทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน (Asset-Liability Management) เพื่อรับมือกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
อย่างไรก็ดี ในกลุ่มธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กดูเหมือนจะมีอัตราการเติบโตของผลกำไรที่ไม่สวยหรูเท่ากับกลุ่มแบงก์ใหญ่ โดยมีเพียงแอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป หรือ LHFG ที่มีกำไรเติบโตขึ้น 119% จาก 430 ล้านบาท เป็น 943 ล้านบาท ขณะที่ TISCO, KKP, CIMBT มีอัตราการเติบโตของผลกำไรอยู่ที่ 0.1%, -14.6% และ -35.3% ตามลำดับ ซึ่งคาดว่าเป็นผลจาก Credit Cost ที่สูงขึ้นตามแรงกดดันด้านหนี้เสียในพอร์ตเช่าซื้อที่มีทิศทางปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
โดย ดำรงเกียรติ มาลา
Source: Standard Wealth
Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you