ดอกเบี้ยแพง…เขย่าเก้าอี้แบงก์ชาติละตินอเมริกา

“พวกผู้นำหรือนักการเมือง มักจะไม่ชอบอัตราดอกเบี้ยแพงอยู่แล้ว เพราะจะทำให้คะแนนนิยมของผู้นำประเทศและของพรรครัฐบาลย่ำแย่ เนื่องจากชาวละตินส่วนใหญ่จะเป็นผู้กู้เงินมากกว่าจะเป็นผู้ฝากเงิน เมื่อดอกเบี้ยสูง จึงเพิ่มภาระให้แก่ผู้คนเป็นวงกว้าง”

“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เป็นวลีที่แสลงใจนายธนาคารกลางของประเทศแถบทวีปอเมริกาใต้ขณะนี้ เพราะอุตส่าห์ฝ่ามรสุมเงินเฟ้อเกือบตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่พอสถานการณ์เริ่มทรงตัว ผู้นำประเทศย่านละตินหลายชาติ กลับหันมาแว้งเล่นงานผู้ว่าแบงก์ชาติของตนเสียดื้อๆ
ยกตัวอย่าง นาย Luiz Inacio Lula da Silva หรือ ชาวบ้านเรียกกันว่า Lula ได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นประธานาธิบดีบราซิลเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการต้นปี 2023 หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ นาย Lula ก็ออกโรงบ่นดังๆ ว่า อัตราดอกเบี้ยของบราซิลที่ระดับ 13.75% เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่าที่ชาวบราซิลจะทนรับไหว เป็นเรื่องที่น่าละอายของผู้บริหารแบงก์ชาติ และการที่ให้ธนาคารกลางเป็นหน่วยงานอิสระ คงจะไม่ไหวแล้ว ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี Lula ยังเกริ่นว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดเอาไว้ในระดับ 3.25% ในปีนี้ และ 3% ในปี 2024-2025 ควรจะปรับสูงขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ เพราะไม่งั้น พวกแบงก์ชาติก็จะจ้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่เลิกสักที เพื่อกดเงินเฟ้อให้ต่ำตามเป้าหมายนั่นเอง
ไม่ใช่แค่นาย Lula แห่งเมืองกาแฟที่อาละวาดแบงก์ชาติเท่านั้น เพื่อนบ้านอย่างโคลัมเบีย ประธานาธิบดี Gustavo Petro ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งผู้นำเช่นกัน ก็ระบายความรู้สึกผ่านโซเชียลสู่สาธารณชนว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อป้องกันเงินเฟ้อในประเทศ และธนาคารกลางควรหามาตรการอื่นเพื่อปราบปรามเงินเฟ้อมากกว่า อัตราดอกเบี้ยแพง ทำร้ายประชาชนโคลัมเบีย
สำหรับประธานาธิบดีเม็กซิโก Andres Manuel Lopez Obrador ไม่เห็นด้วยกับแบงก์ชาติที่มัววุ่นวายกับการควบคุมเงินเฟ้อด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งทางที่ดีควรเอาเวลาไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตดีกว่า ชาวบ้านจะได้อยู่ดีมีอาชีพ
เสียงสะท้อนบางส่วนของผู้นำชาติละติน เล่นเอากูรูเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มต้องสะดุ้งพอควร เพราะเกรงว่าบรรดาชาติอเมริกาใต้เหล่านั้น อาจโละมาตรการการเงินเข้มงวด ที่เคยสร้างความสำเร็จให้แก่เศรษฐกิจละตินอเมริกาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยปราศจากเงินเฟ้อรุนแรง แต่นักวิเคราะห์บางคน มองว่าอย่าไปซีเรียสเลย พวกผู้นำหรือนักการเมือง มักจะไม่ชอบอัตราดอกเบี้ยแพงอยู่แล้ว เพราะจะทำให้คะแนนนิยมของผู้นำประเทศและของพรรครัฐบาลย่ำแย่ เนื่องจากชาวละตินส่วนใหญ่จะเป็นผู้กู้เงินมากกว่าจะเป็นผู้ฝากเงิน เมื่อดอกเบี้ยสูง จึงเพิ่มภาระให้แก่ผู้คนเป็นวงกว้าง
ความจริง ธนาคารกลางของประเทศทวีปอเมริกาใต้ ในสายตาองค์กรระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น IMF หรือ World Bank ล้วนชื่นชมกับการรับมือปัญหาเงินเฟ้อในประเทศของตนได้เป็นอย่างดี
บราซิล ถือว่าเป็นชาติอันดับต้นๆ ที่ธนาคารกลางไม่นิ่งดูดาย รีบเข้าสกัดเงินเฟ้อได้รวดเร็ว ก่อน Fed ของสหรัฐฯจะลงมือป้องกันเงินเฟ้อในแดนโคบาลเสียอีก โดยแบงก์ชาติบราซิลเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 ซึ่งขณะนั้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2% ค่อยๆขยับขึ้นเป็นระยะๆ เพื่อกดเงินเฟ้อลงเรื่อยๆ จนอัตราดอกเบี้ยสูงในระดับ 13.75% ซึ่งนับเป็นการใช้มาตรการการเงินที่เข้มงวดมากสุดชาติหนึ่ง แต่ผลลัพธ์น่าพอใจ เพราะอัตราเงินเฟ้อลดลงจากระดับสูงกว่า 12% มาอยู่ที่ราว 5.8% ซึ่งถือว่าลดลงค่อนข้างมากในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
ส่วนธนาคารกลางชาติละตินอื่นๆ ก็ดำเนินมาตรการการเงินเข้มงวดในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน อาทิ ชิลี เพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง 11 รอบ มาอยู่ในอัตราราว 11.25% ขณะที่เม็กซิโก ก็ไม่น้อยหน้าปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยตลอดอยู่ที่ 11% และแบงก์ชาติย้ำว่าจะเพิ่มขึ้นต่อไปในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ หากเงินเฟ้อไม่สงบ สำหรับโคลัมเบีย ดูเหมือนจะเดินตามรอยบราซิล เพราะเริ่มปรับตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.75% โดนปรับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จนมาอยู่ที่ 12.75% ในขณะนี้
แม้แต่เปรู ซึ่งสถานการณ์การเมืองในประเทศเปราะบาง แต่ธนาคารกลางก็ยังใช้มาตรการดอกเบี้ยแพง ปราบเงินเฟ้อ โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาราธอน 18 ครั้งต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 7.75% ทั้งนี้ ผลงานของบรรดาธนาคารกลางชาติละตินอเมริกัน นับว่าน่าพอใจ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของกลุ่ม OECD (ยกเว้น กรณีอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลา ที่ยังหาทางออกไม่เจอ ทั้งเรื่องเงินเฟ้อรุนแรงและหนี้สินมหาศาล รออัศวินม้าขาวเข้าทำเนียบผู้นำรัฐบาลและธนาคารกลาง)
ปัจจัยความสำเร็จที่บรรดาธนาคารกลางละตินสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้อย่างรวดเร็ว ก็เพราะสถานะของแบงก์ชาติที่เป็นอิสระ จึงทำให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สู้กับเงินเฟ้อได้เต็มที่ ย้อนไปในอดีต ความเป็นอิสระของธนาคารกลางในประเทศละติน ได้สร้างบทเรียนที่น่าประทับใจมาแล้ว
ในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 กลุ่มประเทศอเมริกาใต้ล้วนมีผู้นำรัฐบาลที่ใช้จ่ายเงินเป็นว่าเล่น อัดฉีดเงินจนท่วมประเทศครั้งแล้วครั้งเล่า จนในที่สุดประเทศก็ต้องรับผลกรรมจากความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย โดยต่างประสบภัยเงินเฟ้อครั้งใหญ่ เช่น บราซิลเจอพิษเงินเฟ้อ 2,500%, เปรู มากกว่า 7,500%, โบลิเวีย 20,000% เป็นต้น ซึ่งต่อมาประเทศเหล่านี้ ยอมดำเนินมาตรการการเงินเข้มงวดตามกติกา IMF และ สนับสนุนการทำหน้าที่ของแบงก์ชาติให้เป็นตัวของตัวเอง จนสถานการณ์คลี่คลายดีขึ้นเป็นลำดับ ในช่วงปี 2015-2019 ภูมิภาคอเมริกาใต้มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยราว 4% เท่านั้น
ดังนั้น เมื่อเงินเฟ้อกลับมาปะทุหลังโควิด โดยเริ่มส่อเค้าในปี 2021 เป็นต้นมา บรรดาแบงก์ชาติละตินจึงไม่รอช้า รีบเข้าสกัดเสียแต่เนิ่นๆ และ ก็ทำได้ดี แต่น่าเสียดายที่ในช่วงปีที่แล้ว บางประเทศย่านละตินได้มีการเลือกตั้งเปลี่ยนผู้นำประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่พรรคนิยมซ้ายหรือพรรคประชานิยมเป็นฝ่ายชนะ ทำให้ผู้นำคนใหม่เหล่านั้น มองเห็นอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูประเทศ จึงไม่พอใจดอกเบี้ยแพง และ ต้องการปรับสถานะความเป็นอิสระของแบงก์ชาติด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องการควบคุมบทบาทธนาคารกลางให้อยู่ในทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นสำคัญ
กูรูเศรษฐศาสตร์ หวั่นวิตกว่าบางประเทศในละตินยังไม่พ้นภัยจากเงินเฟ้อเท่าใดนัก แม้ว่าวิกฤตราคาน้ำมันจะคลี่คลายลงบ้างก็ตาม แต่ก็มีการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานกันเป็นแถว ซึ่งจำเป็นต้องจับตาความเคลื่อนไหวของเงินเฟ้ออีกสักระยะหนึ่ง และ ควรรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยให้ทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปก่อน
แต่ดูเหมือนผู้นำบางประเทศ อาจรอไม่ไหว โดยเฉพาะประธานาธิบดี Lula แห่งบราซิล ที่ได้ประกาศกับชาวเมืองกาแฟตอนหาเสียงเลือกตั้งไว้ว่า หากได้เป็นรัฐบาลแล้วละก้อ งานแรกที่ต้องทำ ก็คือ Zero Hunger หรือ คนบราซิลต้องไม่อดอยากหิวโหยอีกต่อไป โดยคาดว่าเขาน่าจะใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างไม่อั้นในเร็วๆ นี้ ซึ่งล่อแหลมต่อการปะทุของเงินเฟ้อรอบใหม่ แถม เก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติอาจไม่เป็นอิสระเหมือนเมื่อก่อน ทำให้การดูแลเงินเฟ้อหย่อนยาน เพราะประธานาธิบดีไม่ชอบดอกเบี้ยแพง ดังนั้น ชาวบราซิลอาจได้เห็นดอกเบี้ยถูก แต่สินค้าแพง!!
Source: ThaiPublica


Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"