แจกเงิน? ดีจริงเหรอ

จากการที่ได้คลุกคลีทำข่าวในแวดวงเศรษฐกิจมาอย่างยาวนานพอสมควร ก็เห็นว่าเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทางภาครัฐใช้นั้น หลักๆ ก็มีอยู่ 2 ด้านด้วยกัน ก็คือ นโยบายการคลัง และนโยบายการเงิน
แน่นอน หากถามความเข้าใจของประชาชนแล้ว

เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจเรื่องนโยบายการเงินมากกว่า เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว นั่นก็คือ เรื่องการปรับขึ้นและลดดอกเบี้ย โดยหากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แบงก์ชาติก็แค่มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งเมื่อดอกเบี้ยถูกลง ต้นทุนทางเศรษฐกิจก็ถูกลง คนก็กล้าลงทุน จับจ่ายใช้สอย แต่หากเห็นว่าเศรษฐกิจร้อนแรง หรือมีเงินเฟ้อที่สูงเกินไป ก็ใช้การขึ้นดอกเบี้ยเป็นกลไกชะลอความร้อนแรง ดังที่เห็นและเกิดขึ้นในช่วงเวลาปัจจุบัน
ขณะที่ นโยบายการคลัง จะเป็นนโยบายเกี่ยวกับการใช้จ่ายและรายได้ของรัฐ ซึ่งรัฐบาลสามารถใช้กลไกเกี่ยวกับการใช้จ่ายนี้มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ อาทิ การใช้งบประมาณอัดลงไปในระบบ การทำงบประมาณแบบขาดดุลการคลัง การลดหย่อนภาษี หรืองดจัดเก็บภาษี ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อกระตุ้นให้เงินไหลคืนกลับไปยังประชาชน ให้มีการใช้จ่าย
แน่นอน การกระตุ้นเศรษฐกิจของเครื่องมือทั้งสองมีความแตกต่างกันพอสมควร และมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสม
และในบรรยากาศการหาเสียงในช่วงนี้ หลายคนก็ได้เกาะติดนโยบายหาเสียงของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งหลักๆ ก็มาพร้อมกับการทำประชานิยม แจก-เพิ่มสวัสดิการนู่นนี่ให้ บางพรรคถึงขนาดบอกว่าจะแจกเงินดิจิทัลถึง 10,000 บาทให้คนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป
จริงๆ ในเชิงการช่วงชิงกระแสก็เรียกได้ว่าสร้างเสียงฮือฮาและแรงกระเพื่อมต่อประชาชนจำนวนมาก ตอนนี้ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าการแจกในลักษณะนี้เป็นการซื้อเสียงล่วงหน้าหรือไม่ ซึ่งผู้เขียนไม่ใช่นักกฎหมายก็เลยไม่สามารถไปฟันธงตรงนี้ได้
แต่หากมองในแง่เศรษฐกิจแล้ว นโยบายนี้มันส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อจริงๆ หรือไม่ และทำได้จริงหรือไม่
อันดับแรก วัตถุประสงค์ที่ทางพรรคการเมืองระบุว่าการแจกเงินดังกล่าวต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบฉุกเฉิน และกระตุ้นกำลังซื้อ
ซึ่งเมื่อมาดูในความเป็นจริง เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะฝืดเคืองจริงหรือไม่ ซึ่งมองด้วยใจเป็นธรรมจริงๆ ต้องบอกว่าเศรษฐกิจไทยเองไม่ได้อยู่ในช่วงขาลง แต่เป็นช่วงขาขึ้นด้วยซ้ำ เห็นได้จากช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาการใช้จ่ายก็คึกคัก อย่างที่หอการค้าระบุว่า เมื่อรวมทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะมีเงินสะพัดกว่าแสนล้านบาท
ขณะที่ การท่องเที่ยวก็มีการฟื้นตัวแบบค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป และปีนี้ก็คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะทะลุ 25-26 ล้านคนด้วยซ้ำ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็จับจ่ายใช้สอยเอาเงินเข้าประเทศอยู่แล้ว
จะมีติดขัดบ้างก็เรื่องของการผลิตเพื่อส่งออก เพราะในประเทศตะวันตกหลายแห่งเจอภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจฝืดเคือง ดังนั้นการส่งออกก็จะกระทบบ้าง แต่เรื่องส่งออกก็จะไปเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่าชาวบ้าน ร้านค้า ตลาดทั่วไป
ดังนั้น แค่ข้อแรกก็ยังไม่เห็นความจำเป็นในการต้องทุ่มเงินจำนวนมหาศาลถึง 550,000 ล้านบาท (นับ 55 ล้านคน) มาใช้กับโครงการที่เรียกว่าแจกให้ใช้กันฟรี ที่ดูแล้วน่าจะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แน่นอน มันอาจจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ระยะยาวไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
ประการสำคัญ อันดับแรก จะหาเงินจากไหนกว่า 550,000 ล้านบาทมาใช้ดำเนินโครงการ ซึ่งทุกวันนี้รัฐบาลก็แบกหนี้สาธารณะจากการขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาลอยู่แล้ว จากการกู้มาแจกช่วงโควิดที่ผ่านมา และเข้าใจว่างบ 67 มีวงเงินให้ปรับใช้เพียง 200,000 ล้านบาท ถ้ามีการกู้เพิ่มจริงก็จะดันหนี้สาธารณะทะลุไปถึง 64.16% ของจีดีพี ซึ่งก็เสียวินัยการเงิน การคลัง กระทบไปยังเรตติ้งต่างๆ ที่จะตามมาจากมุมมองต่างชาติ ซึ่งจะกระทบไปยังเสถียรภาพระยะยาวอีก และการปั๊มเงินลงไปในระบบ จะก่อให้เกิดเงินเฟ้อซ้ำอีกหรือไม่ ก็ยังเป็นคำถาม
และที่สำคัญเลย เมื่อแจกและใช้งบหมดแล้วใน 6 เดือน งบที่ละเลงไป 500,000 ล้านบาท ซึ่งนำมาพัฒนาโครงการ โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจมากมาย ก็อาจจะทำพื้นฐานของประเทศชะงักงันได้ อันนี้ก็ต้องมาชั่งน้ำหนักกันดู
ที่สำคัญ การเพิ่มกำลังซื้อมีได้หลายแบบ ไม่จำเป็นต้องแจกเงิน แต่เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ใช้เงิน ผ่านกระบวนการทางภาษี หรือการเพิ่มแรงจูงใจบางอย่างก็สามารถทำได้ นโยบายอย่าง ช้อปดีมีคืน หรือแม้กระทั่งหวย ใบเสร็จร้านค้าของบางพรรค ซึ่งก็กระตุ้นการจับจ่ายได้เช่นกัน นี่ก็ลองฝากไปคิดดูว่า แจกเงิน มันดีจริงๆ หรือไม่.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
Source :Thaipost

Cr.Bank’s Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"