หวั่นสงคราม "ชิป" ป่วนโลก "เสี่ยวหมี่" เล็งปักหมุดอีอีซี

อุตสาหกรรมชิป 1 แสนล้านเหรียญป่วนโลก "สหรัฐ-ไต้หวัน" เปิดศึกTech War รอบใหม่ หอการค้าไทยในจีนหวั่นเจอปัญหาชิปขาดและแพง ลามถึงตลาดสินค้าไฮเทค เผยรถอีวีเลื่อนส่งมอบ จี้รัฐบาลไทยเร่งอัดนโยบายดูดลงทุน ชี้อีก 2-3 ปีโรงงานชิปโลกเตรียมย้ายฐาน

"เสี่ยวหมี่"เล็งตั้งโรงงานผลิตชิปใน EEC
วิกฤตความตึงเครียดระหว่าง "สหรัฐจีน-ไต้หวัน" หลังนางแนนซี่ เพโลซี่ เยือนแถบเอเชียเมื่อสัปดาห์ก่อน กำลังสร้างความสั่นสะเทือนต่ออุตสาหกรรมชิปทั่วโลก เพราะไต้หวันเป็นผู้ผลิตชิปคุณภาพสูงรายใหญ่ของโลก ที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์
เฉพาะ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) เพียงบริษัทเดียวก็ครองส่วนแบ่งตลาดเกินกว่า 50% ของตลาดโลก หรือมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 3.3 ล้านล้านบาทในปี 2564
แต่ไต้หวันต้องนำเข้าทรายบริสุทธิ์และกรวดจากจีนเป็นวัตถุดิบในการผลิตชิป ซึ่งปี 2563 มีการนำเข้า 5.67 ล้านตัน สัดส่วน 90% ของทั้งหมด เพื่อสกัดเอาซิลิกอนไปใช้ร่วมกับแร่แรร์เอิร์ทจากจีน เพื่อผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และเป็นรายได้หลักส่งออกของไต้หวัน ซึ่งราว 41% มาจากการผลิตและส่งออกเซมิคอนดักเตอร์และชิปอิเล็กทรอนิกส์
ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ของจีนสั่งงดส่งออกทรายธรรมชาติไปยังไต้หวัน เพื่อตัดต้นทางวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ จึงวิตกกันว่าไต้หวันจะต้องขาดแคลนวัตถุดิบและกระทบต่อตลาดส่งออกที่รุนแรง ทั้งมีผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั่วโลก
# หวั่นชิปขาดกระทบทั่วโลก
ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน (อดีตทูตพาณิชย์ปักกิ่ง) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรณีจีนไม่ขายทรายให้ไต้หวันในการผลิตชิป ย่อมส่งผลกระทบแน่ แต่หากไต้หวันหาแหล่งวัตถุดิบทรายทดแทนได้ปัญหาอาจคลี่คลาย ซึ่งแหล่งทรายมีที่สหรัฐและเวียดนาม แต่การนำเข้าจะมีค่าขนส่งสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนชิปของไต้หวันสูงขึ้นตาม อาจมีผลต่อราคาในอนาคต และอาจรอนานขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ชิปเป็นชิ้นส่วน โดยเฉพาะชิปคุณภาพสูงกว่า 7 นาโนที่ไต้หวันสามารถผลิตได้
"การแข่งขันในการผลิตชิปโลกจะรุนแรงมากขึ้น เทคโนโลยีจะเปลี่ยนเร็ว หรืออาจเกิด tech war รอบใหม่ ตอนนี้สหรัฐยังครองตลาดอันดับ 1 ด้วยมูลค่า 20-30 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็น 1 หรือ 2 เท่าของขนาดเศรษฐกิจ ขณะที่จีนพัฒนาเติบโตมาถึง 60% ของอุตสาหกรรมทั้งหมด"
# Tech War รอบใหม่
เดิมอุตสาหกรรมนี้แข่งขันรุนแรงอยู่แล้ว กล่าวคือ สหรัฐและจีนเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลกมาโดยตลอด โดยจีนครองส่วนแบ่งตลาดชิปคุณภาพกลางและล่างได้แล้ว พร้อมมุ่งพัฒนาชิปคุณภาพสูง แต่ถูกกีดกันโดยสหรัฐ ทำให้ไม่สามารถเข้าซื้อเทคโนโลยีจากเนเธอร์แลนด์ได้ เพราะสหรัฐใช้สนธิสัญญากับเนเธอร์แลนด์ป้องกันไว้ ส่งผลให้จีนหันมาพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ด้วยตัวเอง โดยวางให้เป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และด้านความมั่นคง ในฐานะเป็นยุทโธปกรณ์ ซึ่งข่าววงในระบุว่า จีนสามารถพัฒนาชิปคุณภาพสูงสำเร็จแล้ว โดยใช้วิธีการยิงโมเลกุล ทำให้ได้ชิปขนาดจิ๋ว แต่จีนไม่ได้ประกาศให้โลกรู้
"ทั้ง 2 ค่ายต่างเริ่มหาพันธมิตร หลังเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการแบ่งข้างชัดขึ้น โดยเกาหลีใต้มีซัมซุงตั้งโรงงานที่จีน ขณะที่ไต้หวัน TSMC ไปตั้งโรงงานในแอริโซนา ซึ่งสหรัฐเตรียมเร่งออกกฎหมายกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และเตรียมใช้วงเงิน 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐดึงดูดการลงทุนเข้าสหรัฐให้มากขึ้น หลังกรณีนางแนนซี่ เชื่อว่าจะทำให้ประธานาธิบดีไบเดนเร่งผ่านร่างกฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้ และ TSMC ได้ประโยชน์เต็ม ๆ"
"ขณะที่อินเดียก็เริ่มพัฒนากฎหมายคล้ายสหรัฐ เพื่อรองรับเทคโนโลยีนี้จากสหรัฐเช่นกัน แต่อินเดียมีความสัมพันธ์กับจีน ในฐานะกลุ่มประเทศ BRICs อินเดียอาจจะเลือกข้างนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศตัวเอง"
# ไทยกระทบ 4.0 ล่ม
ส่วนประเทศไทยและกลุ่มอาเซียนต้องเร่งเตรียมแนวทางให้พร้อม ซึ่งไทยมีอุตสาหกรรมผลิตชิป แต่เป็นชิประดับกลางและล่าง ยังไม่สามารถพัฒนาชิประดับที่เกาหลีใต้ผลิต
หากไทยถูกบีบให้เลือกข้าง "ดร.ไพจิตร" มองว่า ท่าทีกระทรวงการต่างประเทศจะวางตัวเป็นกลาง แต่ท่าทีนี้อาจมีผลต่อการพิจารณาตัดสินใจเลือกพันธมิตร เพื่อขยายการลงทุนทั้งสหรัฐ-จีน เพราะการเป็นพันธมิตรหมายถึงการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรม และถ่ายทอดเทคโนโลยี หากไทยไม่ชัดเจนในด้านนโยบาย เราอาจถูกมองข้ามไปที่เวียดนามได้
"แม้ไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ และการไปสู่อินดัสทรี 4.0 แต่แนวทางปฏิบัติของเราไม่ได้ชัดเจน ไม่ได้พัฒนาวิศวกร หรือนักวิทยาศาสตร์รองรับอุตสาหกรรมนี้ เมื่อทียบกับจีนได้พัฒนาปีละเป็นพัน ๆ คน โดยไทยเน้นเรื่องบริการ เรื่อง soft power หากไทยเน้นทางนี้คงต้องไปให้สุด เพื่อดึงให้ทุกคนมาใช้บริการเรา การไม่ได้เน้นอุตสาหกรรมชิปก็ไม่ผิด เพราะตลาดมีผู้เล่นเยอะ แข่งขันรุนแรง เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว แต่เราต้องแข็งแกร่งในทางที่เราเลือก ทั้งบริการหรืออาหาร"
# ชิปขาดรถ EV สะเทือน
แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การขาดแคลนหรือผลิตชิปล่าช้าย่อมมีผลต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายอุตสาหกรรมในปีนี้ และอาจต่ำกว่าเป้าเดิมที่วางไว้คือ 1 ล้านคัน เพราะขณะนี้การจองรถหลายค่ายใช้เวลาส่งมอบนานขึ้น ทั้งค่ายเอ็มจีและเกรท วอลล์ฯ (รถฮาวาล)
"ในอนาคตเมื่อจีนควบคุมแร่แรร์เอิร์ท 90% ของโลก ซึ่งเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์และแบตเตอรี่ไฟฟ้ารถยนต์ แม้ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส สหรัฐ จะมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย แต่หากขาดวัตถุดิบแร่แรร์เอิร์ทก็จบ ทั้งกระทบถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ รถไฟฟ้า เรือ เครื่องบิน คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจโลก"
# เผยยอดส่งออกชิป
รายงานข่าวระบุว่า ข้อมูล Trade Map ปี 2021 การค้าเซมิคอนดักเตอร์ของโลก มีมูลค่า 296,027 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นส่งออก 145,803 แสนล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 150,224 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศส่งออกอันดับ 1 คือ จีน มูลค่า 48,793 ล้านเหรียญสหรัฐ ครองส่วนแบ่ง 33% ขณะที่สหรัฐส่งออก 7,491 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับ 7
ส่วนไต้หวันส่งออก 6,356 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับ 8 ส่วนไทยส่งออก 2,661 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% จากปี 2563 ครองสัดส่วน 2% ของตลาดโลก ส่วนประเทศผู้นำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ อันดับ 1 คือ จีน มูลค่า 33,356 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 22% สหรัฐเป็นผู้นำเข้าอันดับ 3 มูลค่า 13,436 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 13%
# เสี่ยวหมี่จ่อปักหมุด EEC
รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตัวแทนบริษัท เสี่ยวหมี่ ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากจีน ได้เข้าพบรองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยแสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตชิปสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในไทย และต้องการทราบเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับ หากเข้ามาลงทุนในอีอีซี
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

 

คลิก

Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านารเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b 
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you

"การแจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยง: การเทรด Forex หรือ CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นผันผวนสูงและมีความเสี่ยงสูง คุณควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวัตถุประสงค์การซื้อขาย ระดับประสบการณ์ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ความสูญเสียจะสูงเกินกว่าเงินลงทุนของคุณ คุณควรลงทุนในระดับที่สามารถรับความสูญเสียได้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความเสี่ยงทั้งหมดและใช้ความระมัดระวังในการจัดการความเสี่ยงของคุณ"