อัตราเงินเฟ้อสูงกำลังเป็นปัญหาสำหรับเศรษฐกิจทั่วโลก ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในประเทศอุตสาหกรรมเกือบร้อยละ 60 สูงเกินร้อยละ 5 ต่อปี ขณะที่กว่าครึ่งของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ อัตราเงินเฟ้อได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ7 ต่อปี
ชี้ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจโลกใหม่ที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าในอดีตมาก ไม่ใช่เศรษฐกิจโลกที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำเหมือนเดิม
เป็นประเด็นที่ผู้ทำนโยบายจะต้องตระหนักเพื่อให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสามารถทำได้อย่างทันเหตุการณ์ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
อัตราเงินเฟ้อที่สูง กำลังเป็นความท้าทายสำคัญต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายการเงินทั่วโลก ซึ่งประเทศเราก็เช่นกัน ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อประเทศไทยเดือนมีนาคม วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ที่ร้อยละ 5.7 ต่อปี สูงสุดในรอบ 13 ปี
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ไม่รวมราคาอาหารและราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 แสดงถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีในระบบเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อในบ้านเราคาดว่าจะเร่งตัวต่อเนื่อง ขับเคลื่อนโดยการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ราคาอาหาร และการอ่อนค่าของเงินบาท
ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ตระหนักเรื่องนี้ และได้ปรับประมาณการเงินเฟ้อปีนี้สูงขึ้นเป็นร้อยละ 4.9 มองว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นขณะนี้เป็นเรื่องชั่วคราว คืออัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงด้วยตนเองในอนาคต
เพราะปัจจัยที่ทำให้ราคาสูงขึ้นเป็นผลจากด้านอุปทาน ไม่ใช่ด้านอุปสงค์หรือการใช้จ่าย ทำให้นโยบายการเงินควรให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไปด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ
แนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่หลายธนาคารกลางในภูมิภาคใช้ เพราะมองว่าเศรษฐกิจอยู่ในโลกที่อัตราเงินเฟ้อต่ำ และจะต่ำต่อไปซึ่งเป็นโลกที่คุ้นเคย มองเงินเฟ้อขณะนี้ว่า เป็นผลจากช็อกชั่วคราวด้านอุปทานและเมื่อช็อกนี้ผ่านไปเงินเฟ้อจะกลับมาต่ำเหมือนเดิม
ประเด็นที่ต้องตระหนักคือ การมองว่าเศรษฐกิจโลกจะเป็นโลกที่อัตราเงินเฟ้อจะต่ำต่อไปนั้นต้องระมัดระวังมาก รวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับพลวัตเงินเฟ้อขณะนี้ว่าเป็นเรื่องชั่วคราว เพราะโลกเปลี่ยนเร็วและหลายอย่างได้เปลี่ยนไป ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินอาจไม่ทันกับสถานการณ์ กล่าวคือ
หนึ่ง แรงกดดันเงินเฟ้อที่มีในเศรษฐกิจโลกขณะนี้จะไม่ผ่อนคลายหรือลดลงง่ายๆ เพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากสามปัจจัยที่เกิดขึ้นหลังปลายปี 2019 ที่ได้เปลี่ยนเศรษฐกิจโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อน
นั้นคือการระบาดของโควิด 19 ที่ดิสรัปกระบวนการผลิต มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลกในขนาดที่ไม่เคยมีมาก่อน และสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่กระทบการผลิตพลังงานและอาหาร
สามปัจจัยนี้ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เริ่มจากราคาเฉพาะบางสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น น้ำมัน จากนั้นก็ส่งผลต่อราคาสินค้าอื่นๆ ต่อการคาดหวังของประชาชนเรื่องเงินเฟ้อ กระทบต่อถึงค่าเช่าและค่าจ้างแรงงาน
จนกลายเป็นปัญหาเงินเฟ้อที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นการทั่วไป นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศและกำลังจะเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ และเมื่อเงินเฟ้อเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเป็นการทั่วไป เงินเฟ้อก็จะแก้ยากและไม่จบง่ายๆ
สอง เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในภาวะแวดล้อมด้านเงินเฟ้อ คือจากเศรษฐกิจโลกที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ เปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจโลกที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น
สาเหตุหลักก็เพราะปัจจัยที่เคยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อในโลกต่ำมาตลอด เช่น การแข่งขัน ระบบโลกาภิวัตน์ การรักษาวินัยการเงินการคลังของภาครัฐ โครงสร้างประชากร บทบาทที่ลดลงของสหภาพแรงงาน และการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพการผลิต (Productivity)
สิ่งเหล่านี้หลายปัจจัยกำลังเปลี่ยนในทิศทางที่จะไม่ช่วยลดเงินเฟ้อเหมือนในอดีต แต่จะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกยิ่งมีมากขึ้น
ชัดเจนสุดคือโลกาภิวัตน์ที่ความเป็นหนึ่งเดียวของเศรษฐกิจโลกกำลังจะหมดไป เพราะความแตกแยกทางการเมืองระหว่างประเทศจะทำให้ประเทศในโลกแบ่งเป็นกลุ่มและค้าขายกันระหว่างประเทศในกลุ่มเป็นหลัก
ความไม่แน่นอนจะมีมาก ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น เปลี่ยนเศรษฐกิจโลกจากเศรษฐกิจโลกที่อัตราเงินเฟ้อต่ำไปสู่เศรษฐกิจโลกที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น
สาม ในเศรษฐกิจโลกที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น แนวคิดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจก็ต้องเปลี่ยน จากในอดีตที่นโยบายการเงินสามารถมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะอัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ต่ำตลอด ไม่มีที่ความเสี่ยงที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ
อัตราดอกเบี้ยต่ำจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้น มีแต่ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน แต่ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไป เรากำลังเข้าสู่โลกที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นและการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนโยบายการเงินจะสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพด้านราคา
ซึ่งเข้าใจกันดีว่า ถ้าไม่มีเสถียรภาพราคา หมายถึงอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจก็จะไม่เติบโต เพราะอัตราเงินเฟ้อที่สูงอีกนัยหนึ่งก็คือตันทุนการผลิตที่สูงทำให้ประเทศแข่งขันไม่ได้
ดังนั้น ในเศรษฐกิจโลกที่อัตราเงินเฟ้อสูง เป้าหมายของนโยบายการเงินต้องกลับไปที่เดิมคือให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพราคา ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของนโยบายการเงินและเป็นหน้าที่และพันธะกิจหลักของธนาคารกลาง
ที่สำคัญการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เป็นหน้าที่ของธนาคารกลาง เพราะในระยะยาวทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังก็ไม่สามารถขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจได้ การเติบโตของเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องต้องมาจากการเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการผลิตของประเทศแต่เพียงอย่างเดียว
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับสูงขึ้นในหลายประเทศขณะนี้เพื่อดูแลเงินเฟ้อ แต่หลายประเทศก็ช้า เพราะยังอยู่ในโลกเดิม ไม่ตระหนักถึงภาวะแวดล้อมเงินเฟ้อที่ได้เปลี่ยนไป
และยิ่งช้าการแก้ปัญหาเงินเฟ้อก็จะยิ่งยาก ทำให้ประชาชนในประเทศจะต้องเดือดร้อนมากและนานจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
Cr.Bank of Thailand Scholarship Students
-------------------------------------------------------------------------------------
เพิ่มเพื่อนรับข่าวสารตลาดหุ้น Forex และบทความดีๆ ด้านการเงิน การลงทุน ฟรี !!
http://line.me/ti/p/%40zhq5011b
Line ID:@fxhanuman
Web : https://www.fxhanuman.com
Web : https://www.eluforex.com/
FB:https://www.facebook.com/review.forex.broker/
เยี่ยมชม partner ของเราที่ Eluforex รีวิวโบรกเกอร์ Forex
#forex #ลงทุน #peppers #xm #fbs #exness #icmarkets #avatrade #fxtm #tickmill #fxpro #fxopen #fxcl #forex4you